‘มหันตภัยน้ำเมา’ บทเรียนสีเทาจากเมืองผู้ดี
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
ปัญหาอันเนื่องจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นับวันยิ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ทั้งความสูญเสียทางเศรษฐกิจ สังคมและสุขภาพ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ควรจะเติบโตท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ดีงาม
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และคณะกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดทำโครงการและกิจกรรมเรียนรู้ผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผ่านการชมภาพยนตร์เรื่อง "A Royal Hangover" พร้อมวงเสวนาในหัวข้อ "เมาเกลื่อนเมือง เรียนรู้จาก UK"
"หลายประเทศทั้งในระดับอาเซียนหรือระดับโลก ได้พยายามที่จะชี้ให้เห็นถึงพิษภัยของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้จะมีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่เรายังคงเห็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีการโฆษณาอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ ที่เจาะกลุ่มเยาวชน คนรุ่นใหม่" เป็นมุมมองจาก นายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
นายตวง ให้ข้อมูลว่า โครงการสร้างกระบวนการเรียนรู้ผล กระทบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผ่านการชมภาพยนตร์ เป็นการริเริ่ม สร้างกระบวนการเรียนรู้แก่สังคมในวงกว้าง โดยนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศอังกฤษ มาตีแผ่แนวคิดหรือผลกระทบในหลากหลายแง่มุม ซึ่งกระตุ้นให้ผู้ชมได้คิดและมองปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างรอบด้าน นำไปสู่การหาทางออกร่วมกัน เพื่อป้องกันไม่ให้สังคมไทยตกไปสู่ความหายนะแบบที่ภาพยนตร์ได้นำเสนอไว้
"ถ้าคิดจะเปลี่ยนแปลงแบบที่เรียกว่าพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน เราจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนวิธีการในการทำงานให้ใหญ่กว่าปัญหา ทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมตลอดถึงการบังคับใช้กฎหมาย มีพื้นที่สร้าง สรรค์ให้เยาวชนและสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี" ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติกล่าว
ด้าน สสส. องค์กรที่มุ่งมั่นจะทำให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี โดยสนับสนุนโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ คณะกรรมการบริหารกองทุน สสส. เล่าให้ฟังว่า คนที่ดื่มเหล้ามักคิดว่าเขารับผลกระทบแค่ตัวเอง ซึ่งความจริงแล้วไปไกลกว่านั้น เหมือนเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว เพราะเมาเหล้ากันเยอะอุบัติเหตุก็เยอะตาม รัฐบาลต้องสูญเสีย งบประมาณรักษาพยาบาล ขณะที่งบประมาณต้องจัดให้เหมาะสมกับปัญหาที่จะแก้ไข หลังจากนี้ สสส. เครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และภาคีเครือข่าย จะนำภาพยนตร์เรื่องนี้ ไปฉายตามโรงภาพยนตร์และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ต่อไป เพื่อให้ความรู้และกระตุ้นเตือนเยาวชนต่อไป
ด้านนางธิดา ผลิตผลการพิมพ์ บรรณาธิการนิตยสาร Bioscope และผู้ก่อตั้ง Documentary Club ให้เหตุผลในการนำภาพยนตร์เรื่องนี้เข้ามาฉายว่า ก่อนหน้านี้เราเคยนำเรื่อง "เอมี่ ไวน์เฮาส์" เข้ามาฉาย ซึ่งสามารถสะท้อนมุมมองและสร้างความตระหนักถึงพิษภัยสุราได้เป็นอย่างดี โดยในปีนี้ภาพยนตร์ A Royal Hangover สามารถสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่หมักหมมของสังคมอังกฤษ มีระดับความรุนแรงและความตึงเครียด จนนำพาผู้คนเข้าไปสู่วงจรที่พัวพันกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในที่สุด ซึ่งสังคมอังกฤษก็มีวัฒนธรรมที่คล้าย คลึงกับสังคมไทย เช่น สังคมแบบศักดินาชนชั้น การถูกจำกัดกรอบทางความคิด รวมไปถึงการถูกสังคมพิพากษา ในเรื่องต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา
"หนังเรื่องนี้จะช่วยเปิดโลกทัศน์คนดูในแง่ที่ว่า เราสามารถที่จะมองคนในสังคมที่กำลังประสบปัญหาติดเหล้าด้วยมุมมอง ที่กว้างขึ้น ไม่กล่าวโทษหรือพิพากษาคนดื่มเหล้าว่าเป็นคนไม่ดี เพราะแท้ จริงอาจมีเหตุผลที่ซับซ้อนมากกว่านั้น โดยเฉพาะปัญหาทางสังคมวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และค่านิยมของคนในสังคม ที่แฝงไปด้วยความกดดันมากมาย" นางธิดา สรุป
ปิดท้ายกันที่ นายกนกพงษ์ อนุรักษ์จรรยง หรือ แม็กก้า อดีตศิลปินตลกคณะชวนชื่น เล่าย้อนถึงการเริ่มกลายเป็นคนติดเหล้าว่า ลงทุนเปิดร้านขายเหล้ากับเพื่อน จากไม่ดื่มกลายเป็นดื่มไปขายไป บางครั้งเมาไม่ได้สติ จนกระทั่งถูกถอดจากละคร ธุรกิจทางร้านก็ขาดทุน จึงหันไปพึ่งยาเสพติดและถูกจับกุมในที่สุด "อดีตตลกดาวรุ่ง" ย้ำเตือนว่า การดื่มเหล้าเป็นประตูสู่ความหายนะทำให้ชีวิตพลิกผัน ซึ่งทุกวันนี้มีสติมากขึ้นเพราะสังคมให้โอกาส เหมือนได้กลับคืนสู่ชีวิตใหม่อีกครั้ง
เชื่อว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญ ที่จะช่วยเตือนเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้ตระหนักถึงโทษ และไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขทุกชนิด โดยเฉพาะการดื่มเหล้า