มหกรรมหลักสูตรท้องถิ่นต้นแบบ
พัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นต้นแบบ จ.ลพบุรี ด้วยกระบวนการจัดการศึกษาบนฐานชุมชน เพื่อนำไปเป็นหลักสูตรจริงในโรงเรียน
“มหกรรมหลักสูตรท้องถิ่น” จัดขึ้นที่ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ที่เป็นการร่วมกันพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นต้นแบบด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม สร้างการเปลี่ยนแปลงชุมชน สังคม อย่างยั่งยืน ด้วยกระบวนการจัดการศึกษาบนฐานชุมชน โดยการนำเสนอผลงาน กระบวนการเรียนรู้หลักสูตรท้องถิ่นในรูปแบบนิทรรศการ การสาธิต การแสดง และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์
นายประทีป อ่อนสลุง ผู้รับผิดชอบโครงการการจัดการศึกษาบนฐานชุมชน ตำบนโคกสลุง บอกว่า ในเนื้อหาของหลักสูตรท้องถิ่นนั้นจะประกอบด้วย หลักสูตรท้องถิ่นของเล่นพื้นบ้าน, งานตัดกระดาษ, เพลงพื้นบ้าน, อาหารพื้นบ้าน, พจนานุกรมภาษาไทยเบิ้ง(ฉบับชาวบ้าน), วิทยานิพนธ์/งานวิจัย/สื่อต่างๆ รายการโทรทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับตำบลโคกสลุง และหนังสือถอดบทเรียนกระบวนการทำงาน “วิถีไทยเบิ้งสายใยวัฒนธรรม สายสัมพันธ์ชุมชน”
โดยในงานมหกรรมที่จัดขึ้นนั้น ได้มีการสาธิตความรู้ที่บรรจุอยู่ในหลักสูตร ให้กับผู้ที่เข้าร่วมงานได้เรียนรู้ด้วย อาทิ ฐานของเล่นพื้นบ้าน มีการสิธิตการทำงูจากใบลาน / สานหมวกจากใบมะพร้าว / สานกั้งจากใบมะพร้าว / ทำตุ๊กโต่ง นก ปู จากใบตาล / ทำกังหันลูกยางจากไม้ใผ่ / ทำจิ๊งโป๊ะ / รถไขลานจากล้อด้าย ส่วนในฐานตัดกระดาษ / ตอกกระดาษ เรียนรู้การตัดดอกไม้ / ตัดพวงมะโหด / ทำลูกยอด และการตอกกระดาษงานบวช ฐานขนมพื้นบ้าน มีการสาธิตการทำขนมห่อใบตองทอง / ขนมกรวย / ขนมเบื้อง / ข้ามต้มลูกโยน / ขนมข้าวโปง นอกจากนี้ยังมีฐานการทำสีผึ้งทาปาก ที่บอกถึงวิธีการเทคนิค และความเชื่อว่าทำไมต้องทำและทาสีผึ้งทาปาก ฐานความเชื่อ จะมีการสาธิตพิธีบูนกรรไกร และการส่งกระแตะ ปิดท้ายที่ฐานการทอผ้ากี่โบราณที่จะสอนทอผ้าด้วยกี่โบราณอย่างละเอียด..
ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การนำไปเป็นหลักสูตรจริงในโรงเรียนใกล้เคียงก่อน เพื่อให้เด็ก และเยาวชนได้เรียนรู้วิถีชีวิตดั้งเดิมได้อย่างถูกต้องต่อไป…
ที่มา: ศิลป์สร้างสุข ฉบับที่14 เดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2557