มสบ. จับมือ กทม. ชวนสังคมป้องเด็กเล็ก ห่วงบุหรี่ไฟฟ้าคุกคาม Gen Alpha แรกเกิด-7 ปี

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

ภาพประกอบจาก สสส

                    ห่วง Gen Alpha แรกเกิด-7 ปี ถูกควันบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าคุกคาม  กุมารแพทย์ ย้ำอันตรายร้ายแรง ทำลายร่างกายทุกระบบ ก่อโรคหืด ระบบภูมิคุ้มกัน ภูมิแพ้ ปอดอักเสบ สูดควันระยะยาว ทำสมรรถภาพปอดเสื่อมถอย เสี่ยงมะเร็งปอด มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ วอนสังคม พ่อแม่ ผู้ปกครอง ร่วมปกป้องลูกหลานจากควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ผนึก กทม. ผลักดันมาตรการกวดขัน ป้องกันบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าเข้มงวด

                    วันที่ 18 มี.ค. 2568 ที่โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น จตุจักร มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา  “ร่วมปกป้องเด็กเล็กจากควันบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า” เพื่อเสริมสร้างความตระหนักและเรียกร้องให้สังคมและผู้ปกครองร่วมกันปกป้องเด็ก ๆ จากภัยของควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า และอย่ายอมให้ลูกหลานกลายเป็นเหยื่อเสพติดนิโคติดจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทั้งในระยะสั้นและระยะยาว  โดยมีบุคลากรจากศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วยผู้ปกครอง และเด็กเล็ก เข้าร่วม  เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการลดการสัมผัสกับควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กเล็ก

                    ศ.นพ.ประกิต  วาทีสาธกกิจ  ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  กล่าวว่า  มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ (มสบ.) ได้ดำเนินโครงการสร้างค่านิยมที่ไม่สูบบุหรี่ในบ้านเพื่อปกป้องเด็กเล็ก (Gen Alpha) คือกลุ่มเด็กแรกเกิด-7 ปี จากการได้รับควันบุหรี่ในบ้าน จึงได้จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ผ่านสื่อรณรงค์กล่องออมสินสำหรับเด็ก ในหัวข้อ “ค่าบุหรี่ของพ่อ หนูขอเป็นค่าขนม” ร่วมกับภาคีเครือข่ายครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน สังกัด กทม. เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมปกป้องเด็กเล็กจากควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า จากข้อมูลการสำรวจการสูบบุหรี่ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบว่า ค่าใช้จ่ายที่เสียไปกับบุหรี่ไฟฟ้า เฉลี่ยต่อเดือนสูงถึง 718 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ของคนที่จนที่สุดที่มีรายได้ต่อเดือนแค่ 1,043 บาทเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องเร่งให้ความรู้แก่ผู้ปกครองและครูให้รู้เท่าทันโทษ พิษภัยของควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าที่มีต่อเด็กเล็ก และตระหนักถึงความสำคัญของการทำให้บ้านปลอดจากควันบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ตลอดจนปลูกฝังให้เด็กเล็กเกิดเจตคติที่ไม่ดีต่อการสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า

                    ด้าน พญ.พิมพ์ชนก จันทร์สวัสดิ์ กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต)  กล่าวว่า อันตรายและผลกระทบของควันบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้ามือสองต่อเด็ก น่าตกใจมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเด็กทารกและเด็กเล็กมีปอดและระบบภูมิคุ้มกันยังไม่พัฒนาเต็มที ไม่สามารถต่อสู้กับสารพิษได้ดีเท่าผู้ใหญ่ เด็กมีอัตราการหายใจเร็วกว่า ทำให้สูดดมสารพิษเข้าไปในปริมาณมากกว่า หากเด็กได้รับควันมือสองจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมาก ในระยะสั้นจะทำให้โรคหืด ภูมิแพ้กำเริบ เกิดโรคปอดอักเสบที่สัมพันธ์กับบุหรี่ไฟฟ้า ในระยะยาวจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรม มีสมรรถภาพปอดเสื่อมถอย ปริมาตรปอดลดลงและก่อให้เกิดมะเร็งปอด ในขณะที่ผลของบุหรี่ไฟฟ้ามีผลต่อระบบประสาทต่อเด็กและเยาวชนในทุกช่วงอายุ ส่งผลเสียต่อสมาธิ ความจำ การคิดวิเคราะห์ การควบคุมอารมณ์ การพัฒนาระบบประสาทและสมอง  รวมถึงทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าด้วย ผู้ที่เริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าตั่งแต่อายุยังน้อยมีแนวโน้มที่จะใช้สารเสพติดชนิดอื่นด้วย

                    “ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าว่าเสพแล้วไม่ติด แต่ความจริงคือ บุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคติน ดังนั้นการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจึงทำให้ผู้สูบติดได้ไม่ต่างจากบุหรี่ธรรมดา รูปแบบและขั้นตอนในการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามี ความใกล้เคียงกับการสูบบุหรี่มวน ทำให้ผู้สูบยังคงติดในพฤติกรรมการสูบเหมือนบุหรี่มวน โฆษณาของบุหรี่ไฟฟ้ามีการเน้นถึงข้อดีบางอย่างที่เหนือกว่าบุหรี่ เช่น การมีรสชาติที่หลากหลายกว่า  ดีต่อสุขภาพมากกว่า มีรูปลักษณ์ที่ดูทันสมัยและหลากหลายกว่า ไม่มีกลิ่นเหม็น ดึงดูดและทำให้ผู้สูบมีแนวโน้มที่จะติดกับการสูบได้มากขึ้น  ซึ่งสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นการโกหกหลอกลวงผู้บริโภคทั้งสิ้น” พญ.พิมพ์ชนก กล่าว

                    ขณะที่ นางสาวอลิสษา ยูนุช นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ สำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด  สำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า กทม. มีแนวทางการขยายผลและหนุนเสริมการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กเล็กในการปกป้องจากอันตรายของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า โดยแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ดำเนินการ 1.กำหนดมาตรการแนวทางปฏิบัติ เฝ้าระวังควบคุมป้องกันสร้างทัศนคติการไม่ยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้า 2.รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าที่ถูกต้องให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชน  3.ส่งเสริมและสนับสนุนการบำบัดรักษาผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า 4.สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า  5.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติติงานตามที่มอบหมาย  รวมถึงปฏิบัติติการอื่นใดตามที่ผู้ว่าฯ กทม. มอบหมาย  และในปี 2568 นี้ จะเร่งสร้างและขยายความรู้เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเด็ก เยาวชนและประชาชน ให้เข้าใจถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อกระชากหน้ากากที่หลอกลวงให้เด็กและผู้ปกครองเข้าใจถึงข้อเท็จจริงที่อันตรายต่อไป

 

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ นางสาวอังคณา มานุจัม มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  02-278-1828

 

Shares:
QR Code :
QR Code