`มนุษย์เงินเดือน` ปรับก่อนเปลี่ยน (จบ)

          สำหรับคนทำงานในทุกวันนี้ การปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงคือสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ยิ่งปรับก่อนก็ยิ่งทำให้เราคงความได้เปรียบมากกว่าผู้อื่น คนส่วนใหญ่ที่อาจลังเลใจไม่กล้าเปลี่ยนแปลงก็มักจะต้องถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องปรับตัวเองอยู่ดีในท้ายที่สุด

/data/content/23841/cms/bfhpqrtvyz89.jpg

          ข้อคิดสำหรับรับมือกับการเปลี่ยนแปลง 6 ข้อในฉบับที่แล้วคือ ต้องรู้จักตัวเอง รู้จักคิดบวก และรู้จักอาสารับผิดชอบหน้าที่การงานใหม่ๆ ต้องกล้านำเสนอความคิดของตัวเอง ต้องรู้จักมองระยะยาว และรู้จักรับฟังผู้อื่น วันนี้มาต่อกันอีก 2 ข้อที่เหลือ

          ข้อ 7 ต้องตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน และมองเห็นว่าสิ่งที่จะทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นมีอะไร และจะเกิดผลอะไรบ้าง ยิ่งกำหนดเป้าหมายย่อยๆ ได้มากก็จะทำให้ผู้ที่ตามเรามาได้เห็นว่าสามารถทำไปทีละขั้นทีละตอนได้ไม่ยากนัก

          การกำหนดเป้าหมายไม่ใช่เพียงการตั้งเป้าขึ้นมาลอยๆ โดยไม่มีกรอบความคิด ไม่มีแนวทาง ซึ่งผู้ตามจะไม่มีทางมองเห็นปลายทางที่ต้องการได้ แต่หากระดมความคิดและกำหนดเป็นเป้าหมายร่วมกัน ผู้ตามก็ย่อมแปรเป้าหมายในระยะต่างๆ ให้ออกมาเป็นแผนงานและมองเห็นความสำเร็จร่วมกันในอนาคตได้

          ข้อสุดท้าย ต้องเป็นกำลังใจให้กันและกัน โดยเฉพาะในภาวะเช่นนี้ที่เราต้องพบกับความไม่แน่นอนทุกเมื่อเชื่อวัน บวกกับสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ทำให้วางแผนรับมือได้ยากมาก หลายคนจึงมักหดหู่และไม่มีความมั่นใจในอนาคต

          สำหรับคนทำงานจึงต้องคอยเหลียวแลเพื่อนรอบข้างที่อาจมีคนซึมเศร้าเพราะอึดอัดกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หากเป็นผู้บังคับบัญชาก็ต้องคอยดูแลบุคลากรในความดูแลรับผิดชอบของตัวเอง ถ้าเป็นพนักงานอาวุโสก็ต้องเห็นใจพนักงานใหม่ที่อาจสับสนกับทุกสิ่งรอบข้าง

          สิ่งเหล่านี้ไม่ต่างอะไรกับในอดีตที่เราเคยมีพ่อแม่เป็นที่พึ่ง หรือภายในบ้านหากเดือดร้อนเรื่องใดๆ ก็ยังมีเพื่อนบ้านคอยให้การพึ่งพาอาศัย ซึ่งเป็นการอุปถัมภ์ค้ำจุนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้สังคมและองค์กรคอยดูแลซึ่งกันและกันได้

          สำหรับคนทำงานในยุคนี้จึงต้องเป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ คือนอกจากต้องคอยดูและช่วยเหลือคนอื่นแล้ว แต่ในยามที่เราต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ก็ต้องรู้จักถาม รู้จักวิธีหาคำตอบจากคนที่มีประสบการณ์โดยตรง

          อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องพร้อมที่จะเป็นผู้ให้โดยไม่หวงวิชาความรู้ที่มี เพราะในยุคนี้ไม่มีใครที่จะรอบรู้และเชี่ยวชาญไปทุกเรื่อง เราอาจเป็นผู้ให้ความรู้เขาในวันนี้ แต่ในอนาคตเขาคนนั้นก็อาจกลับมาเป็นผู้ให้ความรู้ใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเรียนรู้มาก่อน

          แต่หากเป็นองค์กรที่ไม่มีความเห็นใจซึ่งกันและกัน รวมถึงไม่เคยถ่ายทอดความรู้ให้แก่กัน โอกาสที่แต่ละคนแต่ละแผนกจะทำผิดซ้ำซ้อนก็มีมากขึ้น และความผิดเล็กน้อยที่เกิดขึ้นในแต่ละแผนกนั้นก็อาจบานปลายกลายเป็นความเสียหายร้ายแรงได้

          ความผันผวนที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ก็เหมือนพายุฝนที่ไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน และต้องมีวันที่ผ่านพ้นไป ซึ่งแน่นอนว่าฟ้าหลังฝนย่อมโปร่งใส สบายตา แต่เราจะรอให้พระอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้ามาแล้วค่อยคิดว่าจะทำอย่างไรต่อไปก็คงไม่ทันกาล

 

 

          ที่มา : เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ โดยแจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ

          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code