มนต์เสน่ห์ฮูปแต้มศิลป์ถิ่นอีสาน
มรดกใน “สิม” แห่งบ้านดงบัง
ฮูปแต้ม” ผลงานสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนาประเพณีวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอีสานวาดบนผนังโบสถ์หรือสิม มีรูปแบบ สีสันที่งดงามเฉพาะจนทำให้ “สิม” กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่สำคัญของถิ่นอีสานมายาวนานกว่า 100 ปี
ในงานมหกรรม “ตุ้มโฮม โรมแนม ฮูปแต้มศิลป์ถิ่นอีสาน” ณ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ได้นำสื่อพื้นบ้านอย่าง “ฮูปแต้ม” มาเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักผ่านทั้งการแสดงละครหุ่นเงาร่วมสมัยแรงบันดาลใจจากฮูปแต้ม และมีกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเยาวชนด้วยการนำชมศิลปะฮูปแต้มอันงดงามที่วัดป่าเรไรณ หมู่บ้านดงบัง ซึ่งมีฮูปแต้มพื้นบ้านอีสานหนึ่งในจิตรกรรมชั้นครูที่เก่าแก่หาชมได้ยาก โดยวัดแห่งนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2460เป็นการเขียนภาพด้วยสีโทนเย็น คือสีเขียว สีครามและสีน้ำเงิน โดยเริ่มจากการลงพื้นด้วยสีน้ำตาล แล้วร่างเขียนลายเส้นและลงสีบนรูปภาพ ซึ่งลวดลายที่วาดจะเป็นเรื่องราวพระพุทธประวัติ พระมาลัย และอดีตพระพุทธเจ้า ด้านนอกจะนำเสนอเรื่องราวของพระลัก-พระลาม และมหาชาติพระเวสสันดรชาดกเพื่อสอนให้ชาวบ้านเข้าใจหลักธรรมผ่านพุทธประวัติและบอกเล่าเรื่องราวพิธีกรรมต่างๆ ในวัดแห่งนี้ นับเป็นภูมิปัญญาที่แฝงไว้กับงานศิลปะได้อย่างกลมกลืน
นอกจากนี้ในงานยังมีการแสดงผลงานที่แตกยอดความคิดเป็นศิลปะร่วมสมัยในรูปแบบของลายผ้าบาติก และผลิตภัณฑ์ดีไซน์จากฮูปแต้มผลงานการออกแบบโดยนักศึกษา มรภ. มหาสารคาม ซึ่งอาจารย์สรัญญา ภักดีสุวรรณ อาจารย์ประจำวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ บอกว่าคุณค่าความงามของฮูปแต้มเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จำเป็นต้องมีการสืบสานไปตราบนานเท่านานเยาวชนเป็นวัยที่ง่ายต่อการฝึกฝนและเรียนรู้ หากได้รับการพัฒนาศักยภาพในทางที่สร้างสรรค์เปิดโอกาสให้เยาวชนเป็นผู้สื่อสารและส่งมอบเชื่อว่า “สื่อพื้นบ้าน”จะอยู่และสืบทอดต่อไปหากแต่ทุกพื้นที่ได้ลงมืออนุรักษ์สื่อพื้นบ้านของตนเองเอาไว้อย่างเข้มแข็ง เชื่อแน่ว่าสิ่งที่บรรพบุรุษได้สรรค์สร้างไว้จะคงอยู่สืบไปอย่างยั่งยืนได้ในที่สุด
ที่มา : จุลสาร ร หัน แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกฯ สสส.
update: 29-10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่