มข.สร้างบ่อแก๊สชีวภาพ เสริมสุขภาวะดีช่วยชาวบ้าน
สถาบันวิจัยและพัฒนา ม.ขอนแก่น ลงพื้นที่สร้างบ่อแก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์ แก่ชุมชนบ้านเป้า อ.บ้านไผ่ โดยได้รับการสนับสนุนจาก สสส. เพื่อแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการส่งเสริมสุขภาวะที่ดีให้กับชุมชน จากปัญหาสิ่งปฏิกูลจากมูลสัตว์ที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ นำมาแปลงเป็นไบโอแก๊ส “พลังงานประหยัด” กลับคืนสู่ชุมชน
รศ.พิษณุ อุตมะเวทิน รองอธิการบดีฝ่ายขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันวิจัยและพัฒนา มข. นำโดย รศ.ดร.รวี หาญเผชิญ ผู้อำนวยการ สถาบันฯ และคณะ ได้ลงพื้นที่ดำเนินโครงการศึกษาและพัฒนาพลังงานแก๊สชีวภาพชุมชนบ้านเป้า ตำบลบ้านไผ่ อำเภอบ้านไผ่ เพื่อทำการศึกษาปัญหาและหาแนวทางแก้ไขในด้านสิ่งแวดล้อมและการส่งเสริมสุขภาวะที่ดีให้กับชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และได้มีพิธีเปิดใช้งานบ่อแก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์ชุมชนบ้านเป้าอย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
นางสินี ช่วงฉ่ำ หัวหน้าโครงการเปิดเผยว่า จากปัญหาสิ่งปฏิกูลจากมูลโค และกระบือ ที่ชาวบ้านเลี้ยง นับรวมทั้งหมู่บ้าน ประมาณ 600 ตัว ส่งผลให้ถนนและบริเวณบ้านเรือนมีสภาพสกปรกด้วยมูลสัตว์ โดยเฉพาะหน้าฝนจะส่งกลิ่นเหม็น มีแมลงวันรบกวน และถูกชะล้างลงสู่แก่งละว้าแหล่งน้ำสาธารณะ ทำให้ปลาตายในช่วงฝนตกใหม่จากสภาพน้ำเน่าเสีย ทำให้ผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้าน หาทางแก้ไขปัญหามลภาวะในชุมชน โดยให้ชาวบ้านนำโคและกระบือที่เลี้ยงมาขังไว้ที่คอกรวมในที่สาธารณะของหมู่บ้าน ทำให้เกิดการสั่งสมของมูลโค และกระบือ ในปริมาณที่มากพอ สามารถนำมาผลิตเป็นไบโอแก๊สหรือแก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์ได้
ด้าน รศ.ดร.รวี หาญเผชิญ ผู้อำนวยการสถาบันฯ กล่าวว่า จากต้นทุนของชุมชนบ้านเป้า ที่มีวัตถุดิบในการผลิตไบโอแก๊สอย่างดีอยู่แล้ว นั่นคือ มูลโคและกระบือ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะสถาบันทางวิชาการในท้องถิ่น จึงได้มีส่วนร่วมในการศึกษาและพัฒนาแก๊สชีวภาพของชุมชนบ้านเป้า เพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานหุงต้มในครัวเรือน และส่งเสริมการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนแบบองค์รวม
“นอกจากจะเป็นการลดปัญหาเรื่องการชะล้างสิ่งปฏิกูลจากมูลสัตว์ลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยเฉพาะแก่งละว้าแล้ว ยังช่วยลดปัญหาเรื่องกลิ่น และแมลงวันในช่วงฤดูฝน ซึ่งจะทำให้สุขภาพอนามัยของชุมชนดีขึ้น ช่วยลดรายจ่ายด้านพลังงานหุงต้มของครัวเรือน รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการลดการใช้ปุ๋ยเคมีทางการเกษตร และเพิ่มรายได้จากกระบวนการผลิตแก๊สชีวภาพ ที่ชุมชนสามารถนำมาใช้ในงานพัฒนาด้าน อื่นๆ ได้ด้วย” รศ.ดร.รวี กล่าว
ส่วน นายดิรก สาระวดี นักวิจัยประจำโครงการ กล่าวถึงด้านเทคนิคในการก่อสร้าง ว่า รูปแบบที่ก่อสร้างเป็นบ่อแก๊สชีวภาพแบบโดมคงที่ (fix dome) ปริมาตร 80 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 1 บ่อ พร้อมกับระบบท่อส่งแก๊สสู่ครัวเรือนของสมาชิก โดยบ่อหมักที่ใช้จะเป็นแบบยูเอเอสบี (uasb หรือ upflow anaerobic sludge blanker) ใช้ตะกอนของสารอินทรีย์ (sludge) ที่เคลื่อนไหวภายในบ่อหมักเป็นตัวกลางให้จุลินทรีย์เกาะ ลักษณะการทำงานของบ่อหมักเกิดขึ้น โดยการควบคุมความเร็วของน้ำเสียให้ไหลเข้าบ่อหมักจากด้านล่างขึ้นสู่ด้านบน ตะกอนส่วนที่เบาจะลอยตัวไปพร้อมกับน้ำเสียที่ไหลล้นออกนอกบ่อ ตะกอนส่วนที่หนักจะจมลงก้นบ่อ ซึ่งน้ำที่ไหลออกสามารถนำไปเป็นน้ำปุ๋ยหมักชีวภาพ รวมถึงมูลสัตว์ที่ตกตะกอน สามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพอัดเม็ด ขายสร้างรายได้อีกทางหนึ่งด้วย
นายอนุวัฒน์ อนุชน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านไผ่ ผู้นำกลุ่ม กล่าวถึงการบริหารจัดการการใช้แก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์ของชุมชนบ้านเป้า ว่า มีการจัดตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านขึ้นในการดูแลรักษา เบื้องต้นชาวบ้านได้ตกลงกันว่าจะเก็บเงินจากครัวเรือนที่เป็นสมาชิก ครัวเรือนละ 100 บาท แบ่งเป็นเงินออม 50 บาท อีก 50 บาทนำมาบริหารจัดการ โดยจัดสรรเป็นต้นทุนในการซื้อมูลสัตว์เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตแก๊สชีวภาพ เป็นค่าซ่อมบำรุงระบบท่อส่งแก๊ส และค่าแรงของคนดูแล
นอกจากนั้น สมาชิกของกลุ่มก็ยังมีรายได้เพิ่มจากการขายปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด และน้ำหมักปุ๋ยชีวภาพผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตแก๊สชีวภาพอีกทางหนึ่งด้วย เมื่อสิ้นปีสมาชิกก็จะมีการแบ่งปันผลกำไร ตามสัดส่วนของการดำเนินกิจการมาตลอดทั้งปี
การสร้างบ่อแก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์ ที่ชุมชนบ้านเป้า จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการบริการวิชาการให้แก่ชุมชน ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา ในด้านการสร้างพลังงานทางเลือก เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเอง เกิดรายได้เสริม สร้างความเข้มแข็ง รักษาสภาพแวดล้อม และในที่สุดก็จะส่งผลถึงคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในชุมชนนั่นเอง
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง