ภูมิคุ้มกันเด็กไทยรุ่นใหม่สู่อนาคตที่ดีกว่า

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ today.line.me


ภูมิคุ้มกันเด็กไทยรุ่นใหม่สู่อนาคตที่ดีกว่า thaihealth


'9 เส้นทาง ตามรอยพระราชา' ภูมิคุ้มกันเด็กไทยรุ่นใหม่ สู่อนาคตที่ดีกว่า


ในขณะที่กระแสโลกาภิวัตน์กำลังขับเคลื่อนโลกให้หมุนไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง พร้อมมีผลผลิตแห่งยุคสมัย ที่ออกมาล่อตา ล่อใจ บรรดาประชากรโลกทั้งหลาย โดยเฉพาะอุปกรณ์เทคโนโลยีที่แสดงถึงความเจริญก้าวหน้า ล้ำยุค ซึ่งเป็น "เทรนด์" ของบรรดาประเทศน้อยใหญ่ทั่วโลก แน่นอนว่าประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศส่วนใหญ่ที่กำลังเดินหน้าตามเทรนด์ของโลกในหลายๆ ด้าน จนกลับกลายเป็นว่า ปัจจุบันประชาชนต่างเรียกร้องการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในลักษณะเดียวกับเกาหลี ญี่ปุ่น หรือไต้หวัน อันเป็นโมเดลของประเทศอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และมักจะถูกยกตัวอย่างขึ้นมาเทียบเคียงกับประเทศไทยบ่อยๆ ในแง่ของความเจริญก้าวหน้า จากอดีตสู่ปัจจุบัน จนบางครั้งเรากลับหลงลืมไปว่า สุดท้ายแล้ว แผ่นดินด้ามขวานทองแห่งนี้ มีอะไรที่เป็นอัตลักษณ์ที่แท้จริง สิ่งที่เราสามารถนำมาต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่า สร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ชุมชนซึ่งเป็นฐานรากของระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ควบคู่ไปกับแนวทางการดำเนินชีวิตที่มีความเหมาะสมกับตนเองและสังคมโดยรวม


อีกส่วนสำคัญในการกำหนดแนวทางพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนคือ การเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ ที่กำลังจะกลายเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในอนาคต บรรดาลูกหลานของ เราๆ ท่านๆ ที่จะกลายเป็นผู้ขับเคลื่อนประเทศไทยในภายภาคหน้า โดยการกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนประเทศให้สอดคล้องกับ "สภาพสังคมโลก" และ "สภาพสังคมเรา" อย่างเหมาะสมได้อย่างไร การศึกษาศาสตร์พระราชาจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งสำหรับคนรุ่นใหม่ต่อยอดสู่อนาคต


โดยเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา ณ ห้างสรรพสินค้า สยามพารากอน สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กระทรวงศึกษาธิการ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) จัดกิจกรรมเปิดตัวหนังสือเดินทางตามรอยพระราชา 9 เล่ม 9 เส้นทาง 81 แหล่งเรียนรู้มีชีวิต ตามรอยศาสตร์พระราชา โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ประธานที่ปรึกษาโครงการหนังสือเดินทางตามรอยพระราชา ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ในหลวงในใจคน เราจะสร้างเด็กไทยให้เก่ง ดี มีคุณธรรมอย่างไร"


เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวตอนหนึ่งว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ทรงงานถึง 70 ปี ซึ่งตนได้มีโอกาสถวายงานเพียง 35 ปี และได้เห็นพระองค์ท่านพร่ำสอนประชาชนไทยให้รู้จักชีวิตตัวเอง แม้ว่าจะผ่านการเรียนหนังสือในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการเรียนตามศาสตร์ตะวันตก เป็นการเดินตามฝรั่ง สนใจเพียงว่า จะทำอย่างไรให้ร่ำรวย จะหาเงินอย่างไร แต่ผลสุดท้ายเราไม่รู้จักบริหารชีวิตของตนเอง สิ่งที่พระองค์ท่านสอนคือความก้าวหน้า อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นคำที่นิยมพูดกัน แต่ไม่ค่อยเข้าใจกันเท่าไร ท่านทรงสอนให้เรามีชีวิตโดยบริหารสภาพสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เป็นประโยชน์แก่พวกเรามากที่สุด โดยต้องคำนึงถึงการรักษาทรัพยากรธรรมชาติสำหรับคนรุ่นต่อไปด้วยเช่นกัน และแนวทางที่พระองค์ท่านสอนนั้น ไม่ใช่เพียงแค่การพูดเท่านั้น แต่ยังทรงทำให้ประชาชนเห็น จนเกิดเป็นบทเรียน


"เวลานี้เราพูดแต่โครงการจำนวน 4,700 โครงการที่พระองค์ท่านทำ แต่ความจริงคือ เป็น 4,700 บทเรียน เกี่ยวกับเรื่อง ดิน น้ำ เรื่องการฟื้นฟูทรัพยากรที่พวกเราทำลายไป ซึ่งหากเราไม่รู้จักการรักษาทรัพยากร สุดท้ายเราจะไม่เหลืออะไรเลย เพราะฉะนั้น เราต้องมีการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ให้เกิดความเหมาะสม อย่างภาคใต้ตอนนี้ที่เกิดปัญหาน้ำท่วม แสดงว่ามีน้ำมากเกินไป มันก็ไม่ดี แต่ถ้ามีน้อยก็แห้งแล้ง ซึ่งก็ไม่ดีอีก เพราะฉะนั้นเราต้องหาทางบริหารสิ่งเหล่านี้ให้มีอย่างพอดี ซึ่งเป็นศิลปะแห่งชีวิตที่พระองค์ท่านทรงสอนมาตลอด"


สำหรับ 9 เส้นทางที่เป็นแหล่งเรียนรู้ตามรอยพระราชานั้น ประกอบด้วย 1.ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จ.เชียงราย 2.โครงการกาสรกสิวิทย์ จ.สระแก้ว 3.โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี 4.โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่า สงวนแห่งชาติป่ากุยบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ประจวบคีรีขันธ์ 5.พิพิธ ภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนบ้านห้วยปลาหลด จ.ตาก 6.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน จ.สกลนคร 7.มหาชีวาลัยอีสาน จ.บุรีรัมย์ 8.โครงการหมู่บ้านชัยพัฒนา-กาชาดไทย จ.พังงา และ 9.โครงการคุ้งบางกระเจ้า เฉลิมพระเกียรติ จ.สมุทรปราการ


โดยแต่ละเส้นทางนั้นจะมีแนว ทางการเรียนรู้ การพัฒนาแตกต่างกันออกไป ทั้งเรื่องการผลิตเมล็ดพันธุ์พืช การฝึกควายไทย การบำบัดน้ำเสีย การฟื้นฟูป่า การพัฒนาดิน การทำประมงพื้นบ้าน เป็นต้น ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสอันดีสำหรับการสร้างการรับรู้ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ผ่านศาสตร์พระราชา และทำให้ผู้ที่จะกลายเป็นกำลังหลักในการเดินหน้าประเทศในอนาคต รู้จักตัวเอง และเข้าใจคำว่า "พอดี" ซึ่งหากเข้าใจคำนี้ได้ คำว่า "ความสุข" และ "ความยั่งยืน" ก็คงจะปรากฏตามมาในไม่ช้าอย่างแน่นอน

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ