“ภูมิคุ้มกันสุขภาพใจ” รับมือวิกฤติการเมือง

โพลล์เผย! ความสุขคนกรุงลดลง

“ภูมิคุ้มกันสุขภาพใจ” รับมือวิกฤติการเมือง

จากสภาวะเหตุบ้านการเมืองที่ร้อนระอุเดือดปรอทแตกแซงหน้าสภาพอากาศไปแล้ว และแถมว่า โพลล์ยังสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนว่า ความสุขมวลรวมของคนไทยที่สำรวจในช่วงเดือนส.ค.ที่ผ่านมา มีแนวโน้มโดยรวมลดลงอีก!!!

จากเต็ม 10 คะแนน เหลือเพียง 5.82 คะแนนเท่านั้น จากเดิมที่ในช่วงเดือนเมษายน เอแบคโพลล์ได้เคยสำรวจความสุขมวลรวมมาแล้วครั้งหนึ่งได้ 6.3 คะแนน

โดยกลุ่มคนไทยที่มีค่าความสุขมวลรวมต่ำกว่าภาคอื่นๆ คือ คนเมืองกรุงนั่นเอง เหตุเพราะคนเมืองฟ้าอมร เมืองหลวงของไทยแห่งนี้มีความรู้สึกต่อบรรยากาศความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองระหว่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธ.) กับรัฐบาล โดยมีค่าความสุขต่อบรรยากาศทางการเมืองเพียง 2.93 เท่านั้น

ไม่เพียงแต่บรรยากาศขัดแย้งรุนแรงระหว่างกลุ่มพธม.กับรัฐบาล จะส่งผลกระทบต่อความสุขมวลรวมของคนกรุงจะย่ำแย่กว่าเดิมแล้ว ยังมีผลกระทบต่อความสุขในด้านความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและความสัมพันธ์ของประชาชนภายในชุมชนทุกหัวระแหงอย่างเห็นได้ชัดเจน

เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรให้ความสนใจและแก้ไขเป็นการด่วน ก่อนที่ความสัมพันธ์ของคนร่วมชาติจะแตกแยกไปมากกว่านี้

ดังนั้นหากในช่วงนี้เกิดอาการเครียดจากการเสพข่าวสารการเมืองตั้งแต่เครียดสะสม จนถึงระแวง วิตกกับสถานการณ์บ้านเมืองว่าจะเกิดอะไรขึ้นหรือไม่ บางรายถึงขั้นหงุดหงิด กินไม่ได้นอนไม่หลับ คุยกับใครก็ไม่รู้เรื่อง ขวางหูขวางตาไปหมด เพราะพูดไม่เข้าหูสักคน

ขั้นแรกที่อยากแนะนำให้คือ เมื่อต้นเหตุของปัญหา คือการเสพข่าวจนเครียด ควรลดการติดตามข่าวสารลง เพื่อให้สมองได้รับการพักผ่อนและลดความเครียดที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นค่อยกลับมาติดตามสถานการณ์การเมืองอีกครั้งอย่างมีสติ คิดและวิเคราะห์ด้วย เพราะจะทำให้เกิดการพัฒนาความคิดและจิตใจ ที่ทำให้รู้ทันข้อมูลข่าวสารและสถานการณ์บ้านเมือง และยิ่งถ้าไม่ใช่การกลั่นกรองจะทำให้ข่าวนั้นเป็นข่าวลือ ในที่สุดข่าวที่เข้ามากระทบหู เหล่านั้นก็จะกลายเป็นความเครียดจนได้

แม้ว่าเรื่อง การเมืองและศาสนา เป็นเรื่องต้องห้ามที่ใครหลายคนทราบดีว่าไม่ควรหยิบยกมาเป็นประเด็นคุยกัน แม้แต่ในครอบครัว” แต่อย่างไรก็ตามควรแยกให้ออกระหว่างการติดตามสถานการณ์ทางการเมืองกับบทบาทและหน้าที่ของตนเองในครอบครัว

การเมืองอาจเป็นเรื่องของความเชื่อส่วนตัว แต่หากในช่วงนี้เห็นว่ามันหนักเกินไปก็ควรหยุดพักบ้าง ถอยมาสักก้าว และมองในภาพรวมด้วย ใจเป็นกลาง เปิดรับข้อมูลด้วย ใจเป็นกลาง เปิดรับข้อมูลจากหลายด้าน ย่อมเป็นผลดีกับตัวเองอย่างน้อยก็รับฟังความคิดเห็นจากคนอื่น

ขณะเดียวกันเมื่ออยู่บ้านก็ควรถอดเรื่องความเชื่อเหล่านี้ออกไปเพราะหากยึดมั่นถือมั่น ความคิดฉันถูกต้องคนอื่นผิด ก็มีแต่จะทำให้คนในครอบครัวบาดหมางถึงขั้นทะเลาะเบาะแว้งกันได้

จากนั้นก็พยายามที่หันมาใช้เวลาในการทำกิจกรรมอื่นๆ กับครอบครัวแทน ต่อมาก็ทำใจให้สงบและยอมรับว่าคิดต่างได้ แต่ไม่แตกแยก และความคิดเห็นที่หลากหลายเป็นเรื่องปกติของประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพมาก

หรือจะใช้วิธีการออกกำลังกายวันละอย่างน้อย 30 นาที เพื่อทำให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุขที่เรียกว่า เอ็นโดรฟิน มีผลให้หลับสบายตลอดคืน ตื่นเช้ามาสดชื่น มีพลังในการทำงาน อีกทั้งยังสามารถอ่านหนังสือที่ช่วยผ่อนคลาย เช่น ตกแต่งบ้าน บันเทิง นิยาย การ์ตูน ท่องเที่ยว หรืออาจทำงานอดิเรก เช่น ปลูกต้นไม้ จัดบ้าน แต่งสวน เล่นกับสัตว์เลี้ยง ทำอาหาร เพื่อให้เกิดความเพลิดเพลิน เว้นจากความเครียดเรื่องเหตุการณ์บ้านเมืองได้

ที่สำคัญเมื่อยามเครียด ไม่จำเป็นต้องพึ่งพายาเสพติด จน เครียด ไม่จำเป็นต้องกินเหล้าเสมอไปเหมือนกับที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) พยายามรณรงค์เพื่อให้เกิดความตื่นตัวอย่างมากเพราะยิ่งเครียด ยิ่งดื่ม เท่ากับว่ายิ่งทำร้ายตัวเอง อีกทั้งสบายตอนดื่มเครียดหนักกว่าเดิมตอนตื่นด้วยซ้ำไป

สุดท้ายไม่ว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ขอให้ปล่อยใจตามสบายไม่ใช่นิ่งดูดาย แต่ไม่เครียดจนเกิดผลกระทบกับร่างกายหรือความสัมพันธ์ของครอบครัวและคนรอบข้าง เพราะสุดท้ายแล้ว ชีวิตเราต้องอยู่ให้ได้ และต้องมีความสุขบนโลกใบนี้ให้ได้ เหมือนเช่นกับคนอื่นๆ ที่อยู่ร่วมโลกเรา

เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต

Update : 2-08-51

Shares:
QR Code :
QR Code