‘ภาวะติดจอ’เปลี่ยนได้ สุขทั้งกาย-ใจ
ภาพที่เห็นจนชินตาและดูคล้ายเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย เมื่อต่างคนต่างสนใจแต่หน้าจอโทรศัพท์มือถือ ตั้งหน้าตั้งตาเล่นโทรศัพท์ ไม่ยอมเงยขึ้นมาจนกลายเป็นสังคมก้มหน้า รู้กันหรือไม่ว่าพฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อวิถีทางการดำเนินชีวิต ทั้งสุขภาพ อารมณ์ และสังคมรอบข้างอยู่ไม่น้อย
ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงจัดกิจกรรมเสวนา ‘รู้ทันภาวะติดจอ’ ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยมี ดร.ธริศร์ ทิมทอง อาจารย์ประจำวิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์และการออกแบบระบบสารสนเทศ ร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะติดจอ
“ข้อดีของสมาร์ทโฟนมีเยอะมาก ที่เห็นได้ชัดเจนคือ สามารถตอบสนองการทำงานได้ทุกที่และทุกเวลา แต่ถ้าเล่นจนไม่สามารถควบคุมตนเองได้ก็จะเกิดผลเสียเหมือนกัน” ดร.ธริศร์ ทิมทอง อาจารย์ประจำวิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวในเวทีเสวนา
เมื่อคนคนหนึ่งเล่นโทรศัพท์มากจนเกินไป ดร.ธริศร์บอกว่า คนที่ไม่สามารถควบคุมเวลาและตัวเองได้ หรือแม้กระทั่งการโพสต์ข้อความ รูปภาพลงเฟซบุ๊กหรือสังคมออนไลน์อื่นๆ แล้วเฝ้าติดตามสังเกตอยู่ตลอดว่าจะมีใครมากดไลค์ คอมเมนต์บ้างหรือไม่ ถือเป็นอาการอย่างหนึ่งของภาวะติดจอ แต่ถ้ามีอาการกระวนกระวายเมื่อไม่ได้เล่น รู้สึกหงุดหงิด กระวนกระวายเมื่ออยู่ในที่ที่ไม่มีสัญ ญาณโทรศัพท์ หรือไม่สามารถเล่นอินเทอร์เน็ตได้ จะเรียกว่า “โนโมโฟเบีย” หรือโรคติดโทรศัพท์มือถือนั่นเอง
“ส่วนอาการที่เรียกว่า “ฟับบิ้ง” (Phubbing) คือ อาการเมินเฉยต่อคนรอบข้างและสนใจเพียงโทรศัพท์มือถืออย่างเดียว ปัจจุบันจะพบเห็นภาพเหล่านี้ค่อนข้างมาก ทั้งเพื่อน พ่อแม่ เวลาไปทำกิจกรรมร่วมกันนอกบ้าน อย่างเช่น เวลากินข้าวต่างคนก็ต่างเล่นโทรศัพท์ เล่นเกมและไม่พูดคุยกัน ซึ่งปัจจุบันอาการฟับบิ้งมีมากขึ้น 70-80% และผู้ที่โดนกระทำก็มีมากเท่าๆ กัน คือ ประมาณ 80% ซึ่งผู้ที่ถูกฟับบิ้งจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากไม่ได้รับการสนใจ และไม่สามารถเดินหนีออกไปได้ เพราะมาด้วยกัน” ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์อธิบายเพิ่มเติม
หลังจากเสวนาเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับภาวะติดจอไปแล้ว ดร.ธริศร์ได้แนะนำวิธีการแก้อาการเหล่านี้อย่างง่ายๆ วิธีแรกคือ การเลือกใช้โซเชียลมีเดียอย่างพอประมาณ ไม่มากจนเกินไป อาจใช้เพียง 1-2 โปรแกรมเท่านั้น วิธีต่อมาคือ ไม่นำโทรศัพท์มาไว้ใกล้ตัวตลอดเวลา โดยเฉพาะเวลากลางคืน เล่นก่อนนอน แสงไม่เพียงพอก็ทำร้ายสายตาได้
อีกวิธีคือ การตั้งระบบปิดเสียงหรือสั่นแจ้งเตือนที่หน้าจอ เพื่อจะได้ไม่ต้องเปิดดูมือถือตลอดเวลา เพราะปัจจุบันคนมักเล่นโทรศัพท์และเดินไปด้วย ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย รวมถึงยังเสี่ยงต่อการเกิดโจรกรรม เพราะเวลาคนเล่นโทรศัพท์มักไม่ได้ระมัดระวังตัว และวิธีการสุดท้ายคือ ให้คนรอบข้างช่วยเตือนหรือควบคุมพฤติกรรม เช่น ให้เพื่อนตั้งพาสเวิร์ดเข้าโทรศัพท์ให้แทน
ด้านพรรณนิกา เปี่ยมวงศ์ศิริกุล อาชีพแม่บ้าน ร่วมฟังการเสวนาปัญหาภาวะติดจอครั้งนี้ด้วย กล่าวว่า เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เกิดขึ้นในสังคม ฟังแล้วยังสามารถนำความรู้ที่ได้ไปแนะนำแก่คนรอบข้างเพื่อให้เขาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อย่างครอบครัวตัวเองมีหลานค่อนข้างติดโทรศัพท์มือถือมาก ชอบเล่นเกม จนทำให้การดำเนินชีวิตเขาเปลี่ยนไป คือ นอนดึก กินข้าวไม่ตรงเวลา ยิ่งช่วงนี้ปิดเทอมจะเล่นเกมตลอดทั้งวัน
“ตัวเองก็เคยมีอาการนี้เหมือนกัน บางครั้งเล่นเพลินจะมีอาการปวดคอและรู้สึกล้าบริเวณตา จึงพยายามเล่นโทรศัพท์ให้น้อยลงและหันไปทำกิจกรรมอย่างอื่นแทน อย่างปั่นจักรยาน ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ เลี้ยงสุนัขและแมว กิจกรรมเหล่านี้ช่วยพัฒนาร่างกายและอารมณ์ของเราให้ดีขึ้นด้วย” พรรณนิกา ยืนยันมีกิจกรรมสร้างสรรค์มากมายที่สนุกสนานและเพลิดเพลินกว่าโลกโซเชียลมีเดีย
กิจกรรมที่น่าสนใจและได้ประโยชน์ กระตุ้นให้ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ เกิดความเข้าใจในการดำเนินชีวิตให้เกิดสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจนั้น ทางศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.จัดขึ้นเป็นประจำทุกสัปดาห์ หากใครสนใจเข้าร่วมกิจกรรมสามารถติดตามข้อมูลได้ที่ www.thaihealthcenter.org หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2343-1500 และ 08-1731-8270
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์