“ภาพสะท้อนในใจฉัน…สีสันร่วมสร้างสันติสุข”
บ่งบอกถึงความรู้สึก ความจริงของสถานการณ์ใน 3 จังหวัดผ่านงานศิลปะของเยาวชน
ยาวนานและต่อเนื่องกว่า 5 ปี ที่เสียงระเบิดและควันปืนดังขึ้นไม่เคยเว้นวันในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้บรรยากาศของการ “ไม่พูดคุยกัน” เราไม่มีทางรู้เลยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นได้ฝากร่องรอยอะไรไว้ในจิตใจ ดวงน้อยๆ ของเด็กๆ ที่นั่นบ้าง
แต่วันนี้ สิ่งนั้นได้ถูกสะท้อนผ่านผลงานศิลปะ ซึ่งเป็นภาพวาดกว่า 1,000 ภาพจากนักเรียน-นักศึกษากว่า 400 คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และอีก 4 จังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ สตูล สงขลา สุราษฎรธานี และกระบี่ ที่จะถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการภาพวาด “ภาพสะท้อนในใจฉัน…สีสันร่วมสร้างสันติสุข” ระหว่างวันที่ 1-11 เมษายนนี้ ณ ลานสร้างสุข ชั้น 35 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อาคาร เอส.เอ็ม.ทาวเวอร์ ถ.พหลโยธิน (สนามเป้า) โดยความร่วมมือของ สสส. มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
การสะท้อนอารมณ์ ความรู้สึก และข้อเท็จจริงของสถานการณ์ใน 3 จังหวัดผ่านงานศิลปะของเยาวชนครั้งนี้เกิดขึ้นจากการชักชวนของ “สตีเฟ่น รูฮอล” (Steffen Ruhol) นักศึกษามานุษยวิทยา ระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ผู้ซึ่งเข้ามาคลุกคลีอยู่ใน “พื้นที่สีแดง” นานถึง 6 ปี ในฐานะอาจารย์พิเศษด้านภาษาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เขาได้พบเห็นและรับรู้ถึงความรุนแรงในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จึงคิดทำอะไรสักอย่าง เพื่อบอกกล่าวให้สังคมได้รับรู้ว่าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร
สตีเฟ่นได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลด้วยการให้เด็กๆ วาดรูปภายใต้หัวข้อ ‘ชีวิตใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้‘ โดยแบ่งเป็นระดับชั้นตั้งแต่ประถมศึกษาไปจนถึงมหาวิทยาลัย ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2549 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2551 ตลอด 1 ปี เขาได้ผลงานจำนวน 1,000 ชิ้นที่อัดแน่นไปด้วยความรู้สึกของเด็กๆ อ่านได้ถึงความชอกช้ำทางจิตใจในสภาวะสงคราม ท่ามกลางสังคมที่ห้ามพูด เพราะความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน
เช่น ขณะที่เด็กในสุราษฎรธานีวาดภาพสวนยางพาราสวยงามด้วยสีเขียว สีฟ้าน้ำทะเล เด็กที่ปัตตานีกลับวาดภาพถนนในเมืองที่มีการยิงกัน โทนสีของภาพส่วนใหญ่เป็นโทนแรง เช่น ดำ แดง น้ำตาล
นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้แสดงความรู้สึกว่าหลังได้ดูภาพสะท้อนประสบการณ์ความรุนแรงของเด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า “เห็นแล้วรู้สึกรันทดและเศร้าเสียใจที่เกิดความรุนแรงกับเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นเหตุมาจากผู้ใหญ่ มาจากสถานการณ์ในสังคม และประเทศที่สั่งสมมา จนทำให้เกิดสภาพเลวร้ายดังภาพสะท้อนของเด็ก ดังนั้นผู้ใหญ่ที่มีตำแหน่งหน้าที่รับผิดชอบ ตลอดจนประชาชนทั้งหมด ต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เพื่อให้ผลกระทบทางจิตใจของเด็กและเยาวชนได้บรรเทาเบาลง ซึ่งสิ่งที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ภาคใต้คือ การให้ประชาชนในพื้นที่รู้สึกเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา”
นายวีรเดช พนมวัน ณ อยุธยา รักษาการเลขานุการหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ผลงานศิลปกรรมและศิลปะเด็กจากศิลปินและนักเรียนในท้องถิ่นของจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสื่อที่พูดแทนความรู้สึกจากภายในจิตของเขา ด้วยการสะท้องเหตุการณ์สถานการณ์ สัสงคม ชีวิตและมากมายหลายอย่างที่บางครั้งภาษาที่ใช้พูดเพื่อให้เข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่สามารถจะสื่อให้เข้าใจกันได้ ความละเอียดอ่อนด้วยภูมิปัญญาจากภาษาหรืออักษรภาพเหล่านี้มีทั้งมุมมองในด้านบวกที่เรียกร้องความอยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคี มีสันติสุข และในด้านลบที่มองเห็นความรุ่นแรงที่สะท้อนตอบด้วยความรุนแรง สูญเสีย อยุติธรรมและเหมือนไม่มีการสิ้นสุด
ผลงานทั้งหมดจะถูกนำเสนอตลอด 11 วัน ณ ชั้น 35 อาคารเอส เอ็ม ทาวเวอร์ ตั้งแต่บริเวฯหน้าลิฟท์ไปจนถึงลานสร้างสุข ด้วยการสร้างบรรยากาศให้ได้กลิ่นอายทางใต้ รวมทั้งจะถูกนำมาแสดงทางจอแอลซีดีในรูปของไฟล์ดิจิตัล นำเสนอให้ประชาชนที่ผ่านไปมาในห้องโถงชั้น G ของอาคารได้พบเห็น ผู้มาเยี่ยมชมงานสามารถบันทึกหรือถ่ายทอดความรู้สึกจากการชมภาพศิลปะ เพื่อสะท้อนเสียงของตัวเองกลับไปยังเจ้าของผลงานที่เป็นเยาวชนเหล่านี้ได้
นิทรรศการ “ภาพสะท้อนในใจฉัน…สีสันร่วมสร้างสันติสุข” จะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 เมษายน เวลา 14.00 น. โดยมีตัวแทนเยาวชนผู้สร้างสรรค์ภาพเขียน อาจารย์ผู้ดำเนินโครงการ ศิลปิน และนักวิจารณ์ศิลปะมาร่วมเสวนา ไม่เพียงเท่านั้น ในงานนี้ยังได้รับเกียรติจาก พระนาย สุวรรณรัฐ ผู้อำนวยการ ศอ.บต. มากล่าวสะท้อน ความรู้สึกจากภาพนิทรรศการที่ได้พบเห็น
หลังจากนั้นจะเป็นการเสวนา “แบ่งปันประสบการณ์จากจิตนาการสู้ข้อเท็จจริง : 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยประสบการณ์ตรงของผู้ที่อยู่ในพื้นที่ และนักวิเคราะห์ที่คุ้นชินกับปัญหา นักจิตวิทยาที่จะมาสะท้อนถึงวิกฤติสภาจิตใจของเยาวชนผ่านผลงาน ศิลปะที่ถูกถ่ายทอดออกมาไม่แตกต่างจากเด็กๆ ที่อยู่ในประเทศสงครามอย่าง ซูดาน หรืออิรักเลย
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต
Update:29-07-51