ภาพยนตร์ฝีมือเยาวชน ให้ฉุกคิดถึงภัยบุหรี่

ในช่วงวันเด็กที่ผ่านมา เครือข่ายยุวทัศน์ กรุงเทพ มหานคร จัดกิจกรรมฉายภาพยนตร์ให้เด็กดูฟรี ที่โรงภาพยนตร์ใจกลางเมือง SF Cinema สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ เรื่อง "The ASSSASSIN : ฆาตกร"ความยาว 40 นาที ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่เด็กคิด เด็กทำด้วยตัวเอง


ภาพยนตร์ฝีมือเยาวชน ให้ฉุกคิดถึงภัยบุหรี่ thaihealth


แฟ้มภาพ


เนื้อเรื่องย่อของภาพยนตร์ "The ASSSASSIN : ฆาตกร" เล่าถึงสองพี่น้อง โต้งและเติ้ล โต้งเริ่มลองสูบบุหรี่ แม้เติ้ลและเพื่อนจะพยายามเตือนด้วยความเป็นห่วง สุดท้ายเรื่องก็จบด้วยความเศร้าเมื่อเติ้ลที่ร่างกายไม่แข็งแรงนักเพราะมีโรคภูมิแพ้เป็นโรคประจำตัว ต้องเสียชีวิตเพราะบุหรี่ทั้งที่ตนเองไม่ได้สูบ ปล่อยให้โต้งอยู่กับความเสียใจ


การสนับสนุนในครั้งนี้ นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อธิบายว่า สสส.มีเป้าหมายสนับสนุนให้เกิดการลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาวะ โดยเครือข่าย ยุวทัศน์ ถือเป็นภาคีที่ทำงานเกี่ยวกับสื่อสร้างสรรค์ อยู่แล้ว ซึ่งในครั้งนี้เป็นการทำสื่อสร้างสรรค์ในเชิงประเด็นเพื่อก่อให้เกิดการลดปัจจัยเสี่ยงคือบุหรี่ ที่เยาวชนที่เป็นเป้าหมายต้องป้องกันไม่ให้กลายเป็นนักสูบหน้าใหม่


นพ.บัณฑิตกล่าวว่า การสร้างงานเพื่อช่วยกันลดปัจจัยเสี่ยง โดยให้อิสระเด็กและเยาวชนในการคิด และลงมือทำ การใช้ภาพยนตร์มาสื่อสารให้กลุ่มเด็กและเยาวชน รวมไปถึงผู้ใหญ่ได้เข้าใจและตระหนักในความเสี่ยงนี้ ซึ่งเด็กย่อมเข้าใจวิธีที่จะสื่อสารให้กลุ่มเดียวกันได้เข้าใจ และการให้เด็กคิดและค้นคว้าด้วยตัวเองจะทำให้เกิดความรู้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะเป็นผู้นำในการรณรงค์ต่อไปในอนาคต


"เด็กเหมือนกระบอกน้ำ ซึ่งมีแรงดันอยู่ภายใน จำเป็นต้องมีทางออก คือ พื้นที่ให้เด็กได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งงานสร้างภาพยนตร์ในครั้งนี้ ถือเป็นวันเด็กแนวใหม่ ที่ไม่ต้องมีการแจกของ แต่ให้สาระ ให้เด็กได้ร่วมกันแสดงออกอย่างสร้างสรรค์และเป็นกระบอกเสียงไปถึงคนอื่นๆ ให้ฉุกใจคิดได้" นพ.บัณฑิตกล่าว


ภาพยนตร์ฝีมือเยาวชน ให้ฉุกคิดถึงภัยบุหรี่ thaihealthภาพยนตร์ฝีมือเยาวชน ให้ฉุกคิดถึงภัยบุหรี่ thaihealth


สำหรับ "เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด ความเสี่ยงทางเพศ" เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกหลานไปข้องแวะ จากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่า กลุ่มคนที่ข้องแวะกับการค้ายาเสพติดมากที่สุด อยู่ในช่วงอายุ 20-25 ปี ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากสิ่งแวดล้อม โดยพบว่าเยาวชนไทยเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ภายใน 7 นาที เข้าถึงร้านเกมได้ใน 15 นาที เข้าถึงสถานบันเทิงได้ใน 30 นาที ถ้าวัดกันก็พบว่าในสังคมมีพื้นที่ไม่ดีมากกว่าพื้นที่ดี 2-3 เท่า


นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ ประธานเครือข่ายยุวทัศน์ กรุงเทพมหานคร อธิบายแนวคิดการจัดสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า ปัจจุบันสื่อน้ำดีหรือสื่อสีขาวมีน้อยมาก เนื่องจากผู้ผลิตภาพยนตร์ส่วนใหญ่ก็ทำเป็นธุรกิจกันหมด เลยจำเป็นต้องใส่เนื้อหาที่ล่อแหลมเข้าไปเพื่อต้องการให้คนสนใจและสร้างรายได้มากที่สุด อีกแนวคิดหนึ่ง คือปัจจุบันมีแต่ภาพยนตร์ที่กระแทกใจคนในสังคม น้อยนักเป็นภาพยนตร์สะท้อนสังคมที่สะท้อนปัญหาจากเด็กและเยาวชนจริงๆ ยิ่งปัญหาสังคมเป็น "ปัจจัยเสี่ยง" ยิ่งไม่มีเลย "เราต้องจัดทำภาพยนตร์ เรื่องนี้ออกมาฉายซึ่งจัดทำเป็น ภาพยนตร์จริงๆ ที่ไม่ใช่สารคดีตามสไตล์หน่วยงานราชการทำ โดยภาพยนตร์เรื่องนี้มีความยาวถึง 40 นาที ซึ่งนำประเด็นมาจากเด็กและเยาวชน ชั้นมัธยมศึกษา จากโรงเรียนประชา ราษฎร์บำเพ็ญที่ชนะการประกวดหนังสั้น โดย นำมาต่อยอดเขียนบทใหม่ คัดเลือกตัวแสดงจากโรงเรียนต่างๆ และถ่ายทำโดยทีมเด็กและเยาวชนทั้งหมด ซึ่งการได้ฉายในโรงภาพยนตร์ถือเป็นความภูมิใจอย่างมาก" นายพชรพรรษ์กล่าว


นายรวิศุทธ์ คณิตกุลเศรษฐ์ รองประธานเครือข่ายยุวทัศน์ กรุงเทพมหานคร อธิบายถึงการเลือกนำเสนอประเด็นบุหรี่ว่า บุหรี่เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาอื่นๆ โดยเฉพาะการติดสารเสพติด ซึ่งในภาพยนตร์พยายามนำเสนอประเด็นต่างๆ เช่น การขายบุหรี่ให้กับเยาวชนอายุไม่ถึงที่กฎหมายกำหนด ด้วยการสอดแทรกเป็นมุขตลก หรือการเกิดอุบัติเหตุ จากการสูบบุหรี่ แล้วดีดก้นบุหรี่ใส่รถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นประเด็นเล็กๆ แต่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น


"ที่ผ่านมาเครือข่ายยุวทัศน์ เข้ามาช่วยให้ความรู้ในโรงเรียนต่างๆ ด้วยการทำทอล์กโชว์ หรือ บรรยายถึงพิษภัยของบุหรี่ แต่คำพูดเหล่านั้น ไม่เห็นภาพได้ชัดเท่าสื่ออย่างภาพยนตร์ ซึ่งช่วยสร้างอารมณ์ร่วมให้กับคนดู ผ่านตัวละคร และถือเป็นสื่อที่เด็กและเยาวชนให้ความสนใจ ซึ่งการพูดถึงพิษภัยบุหรี่โดยที่คนไม่ได้เห็นว่า ผลกระทบ ของบุหรี่ร้ายแรงขนาดไหน อาจทำให้ไม่สนใจ หรือคนที่สูบอยู่ก็มองว่าน่าเบื่อ และไม่ได้ต้องการอยากเลิกจริงๆ จึงต้องหาวิธีการนำเสนอที่โดนใจมากกว่า" รองประธานเครือข่ายยุวทัศน์ กล่าว


ด้าน น.ส.จิรัชญา เลิศพิทยภูมิ อายุ 15 ปี โรงเรียนนวมินทรา ชินูทิศ พุทธมณฑล กล่าวภายหลังการฉายหนังในวันเด็กว่า รู้สึกว่าพี่ๆ ที่ได้ผลิตภาพยนตร์ในครั้งนี้เก่งที่ได้สื่อสารในเรื่องของพิษภัยบุหรี่ออกมาได้กระตุ้นและเตือนใจไม่ให้เราอยากสูบ และทำให้รู้สึกได้ว่าอันตรายจากบุหรี่นั้น อยู่รอบๆ ตัวเอง แม้ว่าจะไม่เป็นคนสูบแต่ผลกระทบที่เกิดขึ้น ก็ทำให้เราเดือดร้อนได้เช่นเดียวกัน


ภาพยนตร์สะท้อนปัญหาสังคมนั้น อาจจะมีอยู่จำนวนมาก แต่ "The ASSSASSIN : ฆาตกร" เป็นอีกเรื่องที่น่าภูมิใจว่าเด็กไทยได้เห็นถึงปัญหา และอยากเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขให้สังคมนี้ปลอดจากบุหรี่อีกทาง


 


         


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด 

Shares:
QR Code :
QR Code