ภาพฝันงานสมัชชาปฎิรูปประเทศ

 

 

1.วัตถุประสงค์

          ปฏิรูปเพื่อ “สร้างความเป็นธรรม-ลดความเหลื่อมล้ำ”

 

2.วิธีการ

          สร้างการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปโดยทุกภาคส่วนของสังคมการ “สร้างความเป็นธรรม-ลดความเหลื่อมล้ำ” เป็นเรื่องทำได้ยาก ถ้าปราศจากการขับเคลื่อนของสังคมทั้งหมด คณะกรรมการจะส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนของสังคม ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อ “สร้างความเป็นธรรม-ลดความเหลื่อมล้ำ” โดยอิสระอย่างหลากหลาย ภายใต้วัตถุประสงค์เดียวกัน

 

ภาพฝันงานสมัชชาปฎิรูปประเทศ

3.จินตนาการใหม่ประเทศไทย-จิตสำนึกใหม่

          ประเทศไทยผ่านความทุกข์ยากและความขัดแย้งมามากจนความคิดจิตใจแตกออกเป็นเสี่ยงๆ จมอยู่กับอดีตจนไม่มีกำลังที่จะเคลื่อนไปในอนาคต ในสภาวะเช่นนี้ลำพังความรู้ไม่มีกำลังพอที่จะดึงสังคมออกจากการจมปลัก ต้องใช้พลังจินตนาการ จินตนาการเป็นการเอาอนาคตมาเป็นพลังดึงสังคมออกจากสภาวะวิกฤติ สังคมไทยต้องสร้างจินตนาการใหม่ประเทศไทยร่วมกัน และสร้างจิตสำนึกใหม่ จินตนาการยิ่งใหญ่ยิ่งมีพลังมาก จึงต้องมีกระบวนการสร้างจินตนาการใหม่ประเทศไทย มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถนำมาใช้ได้ ศิลปินและศิลปะทุกแขนงมีพลังในการสร้างจินตนาการใหม่และจิตสำนึกใหม่

 

4.พลังของการสื่อสาร

          เทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถเชื่อมต่อสังคมทั้งหมดให้รู้ทั่วถึงและรู้ถึงกัน ทำให้เกิดพลังร่วมและปัญญาร่วม ฉะนั้นนอกเหนือไปจากการจัดการประชุมในพื้นที่และในเรื่องต่างๆ แล้ว คณะกรรมการจะส่งเสริมการใช้การสื่อสารทุกรูปแบบ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สังคมทั้งหมดรู้ถึงกัน และสามารถสื่อถึงกัน เพื่อเป็นพลังทางสังคม และพลังทางปัญญา ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปร่วมกัน

 

          ขอให้หนังสือพิมพ์ สถานีวิทยุ โทรทัศน์ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก รับธุระในการรับข้อเสนอแนะจากประชาชนทั้งประเทศ ส่งต่อและกระจายข้อเสนอแนะไปใช้สังเคราะห์เป็นนโยบายที่จะสร้างความเป็นธรรม-ลดความเหลื่อมล้ำ และขับเคลื่อนการปฏิบัติตามนโยบายต่อไป

 

5.ชุมชนท้องถิ่นคือฐานของประเทศ

          ถ้าฐานของประเทศแข็งแรงก็จะรองรับประเทศให้มั่นคง เรามีหมู่บ้านทั้งหมดประมาณ 76,000 หมู่บ้าน ตำบลประมาณ 7,600 ตำบล มีองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ทั้งหมดประมาณ 8,000 องค์กร อปท. ทุกองค์กรสามารถส่งเสริมให้คนในแต่ละชุมชนในท้องถิ่นของตนรวมตัวร่วมคิด ร่วมทำ เกิดสภาผู้นำชุมชน ซึ่งเป็นการรวมของผู้นำตามธรรมชาติในชุมชน มีการทำแผนชุมชน และคนทั้งชุมชนร่วมทำและขับเคลื่อนแผนชุมชน ไปสู่การพัฒนาอย่างบูรณาการ เกิดสังคมสันติสุข ผู้นำชุมชนดีๆ และเก่งๆ มีจำนวนมาก หลายล้านคน ผู้นำเหล่านี้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นไปสู่สังคมสันติสุขได้แน่นอน ต้องปฏิรูปการปกครองให้ชุมชนท้องถิ่นปกครองตนเองให้ได้มากที่สุด องค์กรอื่นๆ ปรับจากการเป็นผู้ใช้อำนาจไปเป็นผู้สนับสนุน

 

          ชุมชนท้องถิ่นที่เข้มแข็งจะสามารถแก้ความยากจนได้อย่างเด็ดขาดและถาวร เต็มพื้นที่ประเทศ สร้างความเป็นธรรม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

          อนึ่งผู้ปฏิบัติงานจริงในชุมชนท้องถิ่นจะรู้ประเด็นนโยบายดีว่ามีอะไรที่เป็นอุปสรรค และมีอะไรที่ขาดไป ที่จะทำให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งอย่างแท้จริง ประเด็นนโยบายที่เกิดจากการปฏิบัติ ควรจะได้รับการส่งต่อไปสังเคราะห์เป็นนโยบาย และขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ

 

6.ผู้ใช้แรงงานและผู้ด้อยโอกาส

          มีผู้ใช้แรงงานกว่า 20 ล้านคน เพื่อนคนไทยเหล่านี้ยังไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ยังขาดสวัสดิการและสวัสดิภาพที่สมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สมควรได้รับการเสริมพลัง (Empowered) ให้มีองค์กรที่เข้มแข็ง มีการจัดการที่ดี มีเครื่องมือที่ทรงพลัง เช่น องค์กรทางการเงินขนาดใหญ่ของตนเอง มีพลังในการต่อรองนโยบายเพื่อศักดิ์ศรี และคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน คนพิการและผู้ด้อยโอกาสอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน

 

          การขาดคุณภาพชีวิตของกสิกร ผู้ใช้แรงงาน และผู้ด้อยโอกาสประเภทต่างๆ คือผลของโครงสร้างที่ขาดความเป็นธรรม ต้องปฏิรูปโครงสร้างให้เกิดความเป็นธรรม เพื่อศักดิ์ศรี คุณภาพ และความมั่นคงในชีวิตของคนเล็กคนน้อยคนยากคนจน และลดความเหลี่อมล้ำ

 

7.สภาองค์กรชุมชน

          สภาองค์กรชุมชนเกิดขึ้นโดยพระราชบัญญัติ มีทั้งสภาองค์กรชุมชนระดับตำบล ระดับจังหวัด และระดับชาติ เพื่อเป็นกลไกในการเชื่อมโยงประเด็นนโยบายที่เสนอโดยองค์กรชุมชนไปสู่การปฏิบัติทั้ง 3 ระดับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นผู้ประสานงานและสนับสนุนความเข้มแข็งของสภาองค์กรชุมชน ควรเร่งสนับสนุนความเข้มแข็งของสภาองค์กรชุมชนในการปฏิรูป เพื่อ”สร้างความเป็นธรรม-ลดความเหลื่อมล้ำ”8.เครือข่ายนักพัฒนาเอกชน เครือข่ายสตรี เครือข่ายเยาวชน ประชา คม และเครือข่ายทางสังคมอื่นๆ

 

          นักพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) โดยมากทำงานเพื่อคนยากจน คนด้อยโอกาส และเสียเปรียบในสังคม ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เครือข่ายทางสังคมอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ในความพยายามพัฒนาที่ผ่านมาได้เกิดประชาคมจังหวัดและประชาคมอื่นๆ รวมเป็นจำนวนหลายหมื่นคน เครือข่ายทางสังคมต่างๆ เหล่านี้ ควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้เข้มแข็งและขยายตัวมากขึ้น จนเกิดเป็นสังคมทางราบ หรือประชาสังคม (Civil Society) ความเป็นประชาสังคมจะทำให้เศรษฐกิจดี การเมืองดี และศีลธรรมดี การปฏิรูปโครงสร้างสังคม จากโครงสร้างทางดิ่งเป็นโครงสร้างทางราบหรือประชาสังคมที่ผู้คนรวมตัวร่วมคิดร่วมทำด้วยความเสมอภาค ในทุกพื้นที่ในทุกองค์กรและในทุกประเด็น เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการ “สร้างความเป็นธรรม- ลดความเหลื่อมล้ำ”

ภาพฝันงานสมัชชาปฎิรูปประเทศ

 

9.มหาวิทยาลัยกับการปฏิรูปประเทศ

          มหาวิทยาลัยเป็นขุมพลังทางปัญญาใหญ่ของประเทศ จึงต้องมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูป มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งและโดยรวมกันทั้งประเทศ ต้องตั้งคำถามว่ามหาวิทยาลัยจะร่วม “สร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำ” ได้อย่างไร เรามีมหาวิทยาลัยกว่า 100 แห่ง แต่มีจังหวัด 76 แห่ง จึงเป็นไปได้ว่ามีอย่างน้อยหนึ่งมหาวิทยาลัยทำงานส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นในหนึ่งจังหวัด หากมหาวิทยาลัยส่งนิสิตนักศึกษาไปอยู่กับชาวบ้าน ร่วมทำแผนชุมชน ร่วมขับเคลื่อนแผนชุมชน จะเป็นการผสานใจ ผสานสังคม ผสานวิชาการที่ยิ่งใหญ่ ระบบการศึกษาที่แยกตัวออกจากชุมชนท้องถิ่น ทำให้เกิดช่องว่าง และการถ่างช่องว่างทำให้มหาวิทยาลัยและคนข้างบนไม่เข้าใจประเด็นนโยบายเพื่อคนข้างล่าง การที่คนข้างบนไม่เข้าใจคนข้างล่าง ทำให้การพัฒนาสร้างความไม่เป็นธรรม-เพิ่มความเหลื่อมล้ำ จนนำไปสู่วิกฤติชาติ การที่มหาวิทยาลัยลงไปทำงานกับคนข้างล่าง จะทำให้มหาวิทยาลัยเข้าใจประเด็น นโยบายสาธารณะ สามารถขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะต่อไปได้

 

10.ภาคธุรกิจกับการปฏิรูปประเทศ

          ภาคธุรกิจมีกำลังมหาศาลจึงต้องเข้ามามีบทบาท “สร้างความเป็นธรรม-ลดความเหลื่อมล้ำ” ทั้งการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น การส่งเสริมสัมมาชีพเต็มพื้นที่ และการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อความเป็นธรรม โครงสร้างภาคธุรกิจทั้งในส่วนกลางและที่เชื่อมโยงไปสู่จังหวัดทุกจังหวัด เป็นโครงสร้างใหญ่ที่มีพลังขับเคลื่อนการปฏิรูปได้มาก ประธานสภาหอการค้าไทย ประธานสภาอุตสาหกรรม และประธานสมาคมธนาคารไทย ซึ่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป จะเป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างการปฏิรูปกับโครงสร้างภาคธุรกิจได้อย่างสำคัญ

 

          ธกส. ซึ่งสัมพันธ์อยู่กับกลุ่มเกษตรกรกว่า 280,000 กลุ่ม กลุ่มละตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป สามารถร่วมกับชุมชนท้องถิ่น สภาองค์กรชุมชนเครือข่ายนักพัฒนาเอกชน ประชาคมจังหวัด มหาวิทยาลัย ภาคธุรกิจในจังหวัด ส่งเสริมความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรอย่างครบวงจร ให้หลุดพ้นจากความยากจนอย่างเด็ดขาดและถาวร และสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

 

11.การสังเคราะห์นโยบาย เพื่อ “สร้างความเป็นธรรม-ลดความเหลื่อมล้ำ”

          คณะกรรมการจะรวบรวมข้อเสนอแนะที่ได้รับจากทุกภาคส่วนของสังคม ตามกระบวนการทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น มาสังเคราะห์เป็น กลุ่มข้อเสนอมาตรการใหญ่ๆ สำคัญๆ แล้วส่งต่อทั้งข้อมูลดิบและข้อสังเคราะห์ไปให้ คณะกรรมการปฏิรูปที่มีคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน เพื่อพิจารณาวิเคราะห์ สังเคราะห์เป็นข้อเสนอทางนโยบายที่ชัดเจนและมีพลัง โดยคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ก็จะมีคณะทำงานวิชาการทำงานดังกล่าวด้วยเพื่อเสริมกัน คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปกับคณะกรรมการปฏิรูป จะประสานกันไปมากับภาคสังคม เพื่อให้ได้ข้อเสนอเชิงนโยบาย “สร้างความเป็นธรรม-ลดความเหลื่อมล้ำ” ที่ชัดเจนและมีพลัง และร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ ในการนี้จะเชื่อมกับองค์กรนโยบายอื่นๆ ด้วย โดยในขั้นต้น ระยะสั้นจะเสนอมาตรการเฉพาะหน้าที่ปฏิบัติได้เร็วมีผลเร็วก่อน และทำงานปฏิรูปในประเด็นอื่นๆ ที่อาจยากและใช้เวลา เป็นลำดับๆ ไป

 

12.การจัดประชุมสมัชชาปฏิรูป

          จะมีการจัดประชุมสมัชชาปฏิรูปทั้งในระดับจังหวัดทุกจังหวัด สมัชชาปฏิรูปตามประเด็น และสมัชชาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อเป็นกลไกที่นำงานของทุกภาคส่วน ทั้งที่กล่าวถึงทั้งหมดข้างต้น และมิได้กล่าวถึง มานำเสนอ ขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ และติดตามผลการปฏิบัติทั้งหมดให้เป็นกระบวนการต่อเนื่อง เพื่อ “สร้างความเป็นธรรม-ลดความเหลื่อมล้ำ” อย่างเป็นรูปธรรม ที่วัดผลสำเร็จได้

 

13.ทั้งหมด คือ การประกอบเครื่องประเทศไทยให้สามารถขับเคลื่อนไปได้

          ที่แล้วมาประเทศไทยตกอยู่ในสภาพ “เครื่องหลุด” คือฟันเฟืองที่จะขับเคลื่อนประเทศอยู่แยกจากกันเป็นส่วนๆ ในสภาพ “เครื่องหลุด” ถึงใครจะเร่งเครื่องเท่าใด ประเทศก็วิ่งไปไม่ได้ ข้อสำคัญคือ “การประกอบเครื่อง” ให้ฟันเฟืองแห่งการพัฒนาเข้ามาเชื่อมโยงกัน เมื่อฟันเฟืองแห่งการพัฒนาเข้ามาทำงานอย่างประสานสอดคล้อง (Synchronization) ประเทศไทยก็จะขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ประดุจรถยนต์ที่ประกอบเครื่องสมบูรณ์ สามารถวิ่งไปได้อย่างราบรื่นโดยไม่ยาก เมื่อฟันเฟืองแห่งการพัฒนาเข้ามาประกอบกันอย่างเป็นระบบ ฟันเฟืองแต่ละตัวก็จะกำกับซึ่งกันและกันให้ทำงานอย่างถูกต้อง ไม่มีตัวไหนจะแตกแถวไปได้ โดยนัยนี้เมื่อประกอบเครื่องประเทศไทยได้ ฟันเฟืองการเมืองซึ่งเคยแยกส่วนเป็นเอกเทศ ก็เข้ามาสัมพันธ์กับฟันเฟืองทั้งหมด พากันเคลื่อนไปได้อย่างถูกต้องสร้างสรรค์นี้จะช่วยอธิบายว่า ทำไมการปฏิรูปทีละเรื่องที่ผ่านมาจึงไม่ได้ผล เพราะการพัฒนาฟันเฟืองตัวใดตัวหนึ่ง โดยไม่ประกอบเครื่องฟันเฟืองทั้งหมดเข้ามาด้วยกัน ย่อมไม่มีผลขับเคลื่อนไปได้ จึงมาถึงข้อสรุปที่หลายฝ่ายนำเสนอว่าต้องปฏิรูปใหญ่ประเทศไทย คือปฏิรูปทุกเรื่องอย่างเชื่อมโยงกัน

 

14.วิกฤติเป็นโอกาสในการปฏิรูปประเทศ

          ประเทศใดประเทศหนึ่งเมื่อดำเนินไป อาจประสบความติดขัดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์จนเกิดวิกฤตการณ์ เช่น เกิดสงครามกลางเมือง หรือแพ้สงคราม เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ขึ้นก็เปิดโอกาสให้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งตามปกติแก้ไม่ได้ ฉะนั้น หลังวิกฤตการณ์จึงเจริญอย่างรวดเร็ว ประเทศญี่ปุ่นและเยอรมนีเป็นตัวเอย่าง ที่ภายหลังแพ้สงครามในสงครามโลกครั้งที่ 2 กลับเจริญอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างมาช้านาน แต่แก้ไขไม่ได้ ทำให้สะสมปัญหามากขึ้นๆ จนวิกฤติ ที่เรียกว่าวิกฤติสุดๆ การที่มีเพื่อนคนไทยต้องเสียชีวิตไป ได้ก่อให้เกิดความสลดสังเวช และเกิดจิตสำนึกขึ้นในสังคมไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน ว่าจะต้อง “สร้างความเป็นธรรม-ลดความเหลื่อมล้ำ” จิตสำนึกนี้ก่อให้เกิดกระแสเรียกร้องการปฏิรูปใหญ่ประเทศไทย

 

          จิตสำนึกเรื่องความเป็นธรรม เปิดโอกาสให้การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นไปได้ หน้าต่างแห่งโอกาสที่จะทำเรื่องดีๆ แต่ยาก ตามปกติจะปิด นานๆ จะเปิดสักครั้ง และเปิดชั่วคราว สังคมไทยจึงควรใช้โอกาสนี้รวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมขับเคลื่อน การปฏิรูปเพื่อสร้างโครงสร้างที่เป็นธรรม ในสังคมที่มีความเป็นธรรมผู้คนจะรักกันมากและรักชาติ เป็นพลังที่จะขับเคลื่อนให้ประเทศมีความเจริญยิ่งๆ ขึ้นในทุกทาง สร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดของเราทุกคนร่วมกัน

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

 

Update:20-07-53

            อัพเดตเนื้อหาโดย:คีตฌาณ์ ลอยเลิศ

Shares:
QR Code :
QR Code