ภาคีเครือข่าย 32 องค์กรผนึกกำลังปกป้องเด็กจากภัยออนไลน์

ที่มาและภาพประกอบ : บ้านเมืองออนไลน์


ภาคีเครือข่าย 32 องค์กรผนึกกำลังปกป้องเด็กจากภัยออนไลน์ thaihealth


ภาคีเครือข่าย 32 องค์กร ร่วมผนึกกำลังปกป้องเด็กจากภัยออนไลน์


มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ร่วมกับ สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) และเครือข่าย อาทิ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กรมกิจการเด็กและเยาวชน สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดเวทีนโยบายสาธารณะ ชวน32องค์กรภาคี ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และเครือข่ายเด็กและเยาวชน ร่วม“ประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือเพื่อการปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์”พร้อมวางแนวทางความร่วมมือในการปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์ ที่นำไปสู่การขยายผลในการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยออนไลน์อย่างเป็นระบบ ณ อาคารหอประชุม ชั้น2กสทช.


นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ปัจจุบันภัยออนไลน์คุกคามเด็กและเยาวชนอย่างรุนแรงและกว้างขวาง กระทรวงดีอีเอสได้ออกแบบและสร้างกลไกการป้องกันภัยคุกคามทางออนไลน์ในทุกพื้นที่ รวมถึงเฝ้าระวังและระงับข้อมูลคอมพิวเตอร์และเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม มีการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ทั้งยังมีโครงการรณรงค์การหยุดกลั่นแกล้งออนไลน์ ฯลฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กและเยาวชนในโลกดิจิทัล แต่ไม่สามารถทำสำเร็จได้ด้วยเพียงหน่วยงานเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม ฉะนั้น การจัดเวทีนโยบายสาธารณะประกาศเจตนารมณ์ในครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ที่จะช่วยกันผสานแนวคิดแนวทางและการทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นเครือข่ายความร่วมมือที่มีพันธกิจในการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์


นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า จากการทำงานร่วมมือขององศ์กรภาคีเครือข่ายพบว่า เด็กและเยาวชนยังขาดความรู้เท่าทันและมีความเสี่ยงสูงจากภัยสื่อออนไลน์ และประเด็นปัญหาสำคัญที่พบ เช่น การถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์การถูกคุกคามทางออนไลน์ การติดต่อสื่อสารเรื่องเพศที่ไม่เหมาะสม การถูกแบล็คเมล์ทางเพศ และการถูกล่อลวงทางเพศ เป็นต้น ซึ่งทุกปัญหาล้วนส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนในระยะยาว และภัยโลกออนไลน์ยังหล่อหลอมทัศนคติของเด็กและเยาวชนไปในทางที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องก็ได้ ถ้าเรามีจัดการให้เด็กและเยาวชนเดินสู่เส้นทางการใช้โลกออนไลน์ที่เหมาะสม เราก็จะได้อนาคตของชาติที่ดี และเป็นกำลังลังสำคัญของประเทศ


“ช่วง1ปี ที่ผ่านมา หลายภาคส่วนได้ดำเนินการปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์ ทั้งในการขับเคลื่อนงานผ่านยุทธศาสตร์ส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ พ.ศ.2560 – 2564ผ่านการจัดทำแผนปฏิบัติการ การติดตามและประเมินผลตามตัวชี้วัด สิ่งสำคัญคือการมีพื้นที่ปฏิบัติงานจริง ทำให้เห็นภาพการทำงานที่เชื่อมโยงจากระดับนโยบายสู่พื้นที่การปฏิบัติงาน รวมทั้งมีการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน สำหรับสิ่งที่ท้าทายการทำงานในอนาคต เห็นว่าจะต้องให้ความสำคัญต่อการสร้างความรู้ ความเท่าทันต่อสื่อออนไลน์ และพัฒนากลไกให้มีประสิทธิภาพ พร้อมกับเชื่อมโยงเครือข่ายให้เป็นระบบปกป้องและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากสื่อออนไลน์ได้อย่างแท้จริง รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพเด็ก เยาวชน และบุคคลแวดล้อม ให้ตระหนักถึงการใช้สื่อยุคใหม่อย่างสร้างสรรค์ เท่าทัน และชาญฉลาด” กรรมการ กสทช. กล่าว


ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า ระบบนิเวศสื่อนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของคนในสังคม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนไทยที่ปัจจุบันพบว่าใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในโลกออนไลน์ นับเป็นความท้าทายของ สสส. และภาคีเครือข่าย ที่จะมาร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นนี้อย่างเข้มแข็ง ผลักดันให้เกิดการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เด็กและเยาวชนตระหนักและรู้เท่าทันสื่อ กลายเป็นพลเมืองที่มีศักยภาพในการนำสื่อและเทคโนโลยีมาใช้อย่างสร้างสรรค์ อันนำไปสู่การสร้างสังคมสุขภาวะที่ดีและยั่งยืน


นอกจากนี้ ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนา ได้เผยผลสำรวจสถานการณ์เด็กกับภัยออนไลน์ ประจำปี2563ซึ่งร่วมกับ ศูนย์ประสานงานส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ (ศปอ.) หรือ โคแพท (COPAT)โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เก็บข้อมูลระหว่าง พ.ค.-ก.ค.2563พบว่า กลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นเด็กมัธยมศึกษา อายุ12-18ปี จำนวน14,945คน มีอิสระในการใช้สื่อออนไลน์ค่อนข้างมาก และเด็กร้อยละ89เชื่อว่าในโลกออนไลน์มีภัยอันตรายหรือความเสี่ยงต่างๆ ส่วนอีกร้อยละ61เชื่อว่าหากเผชิญภัยอันตรายดังกล่าวจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง ในประเด็นนี้ถือว่าน่าเป็นห่วง นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบด้วยว่า เว็บไซต์หรือเนื้อหาที่ผิดกฎหมายเป็นอันตรายที่เด็กเข้าถึงมากที่สุด4อันดับแรกคือ ความรุนแรง ร้อยละ49การพนัน ร้อยละ22สื่อลามกอนาจาร ร้อยละ20และ สารเสพติด ร้อยละ16


ส่วนพฤติกรรมเสี่ยงภัยออนไลน์6อันดับแรกของเยาวชน คือ1.ซื้อสินค้าจากร้านค้าออนไลน์ที่ไม่รู้จัก ร้อยละ44 2.รับคนแปลกหน้าเป็นเพื่อน ร้อยละ39 3.ใส่ข้อมูลตัวตนบนสื่อโซเชียลมีเดีย ร้อยละ26 4.แชร์ข้อมูลโดยไม่ได้ตรวจสอบ และ5.นำข้อมูลมาใช้โดยไม่รับอนุญาตหรืออ้างอิงแหล่งที่มา ร้อยละ24เท่ากัน และ6.เข้าถึงสื่อลามก ร้อยละ14โดยในส่วนของสื่อลามก มีเด็กถึง641คนบันทึกและดาวน์โหลดสื่อลามกอนาจารเด็ก (ต่ำกว่า18ปี) มาไว้ในอุปกรณ์ไอทีหรือพื้นที่ส่วนตัวบนอินเทอร์เน็ต ขณะที่อีกร้อยละ45มีการส่งต่อหรือแบ่งปันสื่อลามกอนาจารเด็กที่ได้มากับเพื่อนและสังคมออนไลน์


ส่วนผลการสำรวจการเล่นเกมออนไลน์ของเยาวชน พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ทำการสำรวจ มีเด็กมากถึง11,384คน ที่เล่นเกมออนไลน์1-2ชั่วโมงต่อวัน ร้อยละ26เล่น3-10ชั่วโมงต่อวัน ร้อยละ30เล่นมากกว่า10ชั่วโมงต่อวัน มีร้อยละ5และแจ้งว่ามีการพนันในเกมที่เล่น ร้อยละ10ส่วนเติมเงินซื้อของในเกม มีร้อยละ34โดยในจำนวนนี้ราวร้อยละ7มีการเติมเงินเดือนละ201-500บาท ขณะที่ผลของการเล่นเกมออนไลน์ทำให้เยาวชนไทย สนใจทำกิจกรรมมอย่างอื่นน้อยลงมาก ร้อยละ43การเรียนแย่ลงมาก ร้อยละ20และ คววามสัมพันธ์กับคนในครอบครัวแย่ลงมาก ร้อยละ13


“ปัจจุบันเยาวชนไทย ร้อยละ26ใช้อินเทอร์เน็ตวันละ3-5ชั่วโมง มีจำนวนพอๆ กับกลุ่มที่ใช้วันละ6-8ชั่วโมงต่อวัน และมีเยาวชน ร้อยละ15ใช้อินเทอร์เน็ตวันละ8-10ชั่วโมงต่อวัน ส่วนอีกร้อยละ22ใช้อินเทอร์เน็ตต่อวันมากกว่า10ชั่วโมงซึ่ง ร้อยละ81ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟน และวัตถุประสงค์ที่เยาวชนใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดคือเพื่อพักผ่อนหรือความบันเทิง ร้อยละ61” ดร.ศรีดา ให้ข้อมูลเพิ่มและกล่าวว่า ผลการสำรวจทำให้เห็นว่า เด็กมีความเชื่อและพฤติกรรมออนไลน์ที่สุ่มเสี่ยง อาจนำภัยมาถึงตัวได้ ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรนำข้อมูลเหล่านี้ไปประกอบการกำหนดนโยบาย และวางแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้เกิดมาตรการ เครื่องมือ กลไก ที่จะช่วยเหลือเด็กจากภัยออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

Shares:
QR Code :
QR Code