ภาคสังคม เสนอเก็บภาษีอาหาร เครื่องดื่ม แก้วิกฤติอ้วน

เผยผลวิจัยสหรัฐเก็บภาษีสรรพสามิตร้อยละ 10 ผู้บริโภคลดน้ำหนักได้ 1.4 กก. ชี้วิกฤติเด็กไทยดื่มน้ำอัดลม เพิ่มเกือบสองเท่า ขณะที่อนามัยโลกระบุเป็นมาตรการสุดคุ้ม คุมอ้วน-น้ำหนักเกิน

ภาคสังคม เสนอเก็บภาษีอาหาร เครื่องดื่ม แก้วิกฤติอ้วน

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมจัดเวทีรับฟังความเห็นสาธารณะต่อแนวทาง การใช้มาตรการทางภาษี ของอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทย

ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ผู้จัดการแผนงานรณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวว่า ปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนของประเทศไทย นับวันจะทวีความรุนแรง โดยเฉพาะจากข้อมูล การเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการกินของเด็ก จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2552 ที่พบว่า อายุ 6-14 ปี มีความถี่ของการบริโภคขนมกรุบกรอบสูงกว่าวัยอื่น และมีแนวโน้มการบริโภคที่นำไปสู่ภาวะอ้วนมากยิ่งขึ้น โดยพบว่าเด็กกลุ่มนี้บริโภคเครื่องดื่มรสหวานเพิ่มขึ้น 1.8 เท่า และขนมกรุบกรอบที่มีไขมันสูง เพิ่ม 1.5 เท่า ในเวลาเพียง 3 ปี จาก พ.ศ. 2547 ถึง 2550

ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูงแต่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ เป็นมาตรการที่องค์การอนามัยโลกยกย่องว่ามีความคุ้มค่าสูง ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน ซึ่งปัจจุบัน ในหลายประเทศได้เริ่มจัดเก็บและขยายภาษีในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มกลุ่มนี้แล้ว เพื่อมุ่งสู่การลดภาวะน้ำหนักเกินของประชาชน สำหรับประเทศไทยมีกฎหมายหลักฉบับเดียวที่เกี่ยวข้องกับระบบภาษีอาหาร คือ พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 ซึ่งปัจจุบันมีการเก็บภาษีเฉพาะเครื่องดื่มบางรายการ และอัตราภาษีก็ยังไม่สูงเพียงพอ ต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอีกทั้งยังมีข้อยกเว้นไม่ครอบคลุมเครื่องดื่มหลายประเภทที่ส่งผลเสียต่อ สุขภาพเช่นกัน ดังนั้นแนวทางที่เป็นไปได้คือการเริ่มจากกฎหมายที่มีอยู่โดยการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิต ในเครื่องดื่มรสหวาน ก่อนขยายไปยังอาหารประเภทอื่นๆ

น.ส.สิรินทร์ยา พูลเกิด นักวิจัยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มาตรการทางภาษีและราคาของอาหาร เป็นหนึ่งในมาตรการเร่งด่วนภายใต้มติการจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกิน และโรคอ้วนของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2552 และได้มีการรับรองจาก ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้นำไปสู่การปฏิบัติ ทั้งนี้ การศึกษาในต่างประเทศพบว่าแรงจูงใจด้านราคาเป็นปัจจัยสำคัญ ต่อพฤติกรรม การบริโภคอาหาร หลายประเทศจึงใช้มาตรการทางภาษีในอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อปกป้องสุขภาพประชาชน โดยอาหารและเครื่องดื่มที่ถูกเก็บภาษี ได้แก่ กลุ่มขนมขบเคี้ยว ขนมหวาน น้ำอัดลม และเครื่องดื่มรสหวานอื่นๆ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีผลต่อการเพิ่มน้ำหนักตัวสูง

มีผลการวิจัยของสหรัฐอเมริกา คาดการณ์ว่าเครื่องดื่มเหล่านี้หากเก็บ ภาษีสรรพสามิตที่ 10% อาจทำให้การดื่มลดลงได้ถึง 23 ลิตร/คน/ปี หรือส่งผลให้น้ำหนักตัวผู้บริโภคลดลง 1.4 กก. นอกจากนี้ ในอังกฤษมีข้อมูลทางวิชาการระบุว่า หากมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ร้อยละ 17.5 ในอาหาร กลุ่มที่มีไขมันอิ่มตัวสูง จะช่วยลดการตายจากโรคหัวใจขาดเลือดได้ถึง 1,800-2,500 คน/ปี

ภาคสังคม เสนอเก็บภาษีอาหาร เครื่องดื่ม แก้วิกฤติอ้วน

“หากเปรียบเทียบราคาที่แท้จริงของน้ำอัดลมและอาหารจานด่วนในประเทศไทย เมื่อปรับตามอัตราเงินเฟ้อแล้ว จะพบว่าราคาของน้ำอัดลมและฟาสต์ฟู้ดเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าการเพิ่มรายได้ของคนไทย หรือกล่าว ได้ว่ามี ราคาถูกลงโดยเปรียบเทียบ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ประชาชนไทย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนมีการบริโภคเครื่อง ดื่มรสหวาน และอาหารพลังงานสูงกันมากขึ้น ดังนั้นเพื่อรับมือกับวิกฤติปัญหาโรคอ้วน รัฐบาลควรหันมาใช้มาตรการ ภาษีในอาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้ ที่สามารถปกป้องสุขภาพประชาชนได้อย่างเห็นผล โดยรัฐบาลเกือบไม่ต้อง ลงทุนอะไรเลย” น.ส.สิรินทร์ยา กล่าว

ที่มา: สำนักข่าวไทย

Shares:
QR Code :
QR Code