“ภาคประชาสังคม” ใครๆ ก็เป็นได้

บ่อยครั้งที่เรามักจะเห็นกลุ่มต่างๆ ออกมาทำกิจกรรมเพื่อสังคมในรูปแบบอาสาสมัคร หรือกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาสาสมัคร, NGO, นักศึกษา, ภาคธุรกิจ หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปที่ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน กลุ่มต่างๆ เหล่านี้คือ 'ภาคประชาสังคม (Civil Society Organization – CSO)' ที่หมายถึง บุคคล กลุ่ม หรือองค์กรที่ไม่ใช่ของรัฐ ได้พัฒนาด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอาจจะมีภารกิจแตกต่างหรือร่วมกันก็ได้



แฟ้มภาพ


กิจกรรมสื่อสารรณรงค์ "WE ARE CSO ใครๆ ก็เป็นได้" ภายใต้โครงการส่งเสริมความเข้มแข็งภาคประชาสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาวะในสังคมไทย ก็นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จะทำให้รู้จักการทำงานภาคประชาสังคมมากขึ้น


"เรากำลังเชิญชวนให้ประชาชนทุกคนร่วมกันเป็นภาคประชาสังคม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสุขภาวะสังคมที่ดีร่วมกันโดยที่ไม่ต้องรอองค์กรใดองค์กรหนึ่ง เพราะทุกคนสามารถจัดบริการและช่วยเหลือกันเองได้ในฐานะประชาชน ซึ่งเป็นการปลุกพลังประชาชนให้มาร่วมเป็นภาคประชาสังคม และการลงพื้นที่เยี่ยม 'ศูนย์พักคนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู' ในครั้งนี้ ก็เป็นการนำเสนอตัวอย่างกลุ่มทำงานภาคประชาสังคมที่สะท้อนให้เห็นว่าใครๆ ก็ทำได้" นายวันชัย บุญประชา ผู้จัดการโครงการส่งเสริมความเข้มแข็งภาคประชาสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาวะในสังคมไทย กล่าวถึงภาพรวมของโครงการฯ


ผู้จัดการโครงการฯ อธิบายถึงการดำเนินงานที่ผ่านมาให้ฟังว่า ได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็นสองส่วน ส่วนแรก คือขับเคลื่อนให้เกิดนโยบายในการส่งเสริมความเป็นภาคประชาสังคม ขณะนี้ได้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาภาคประชาสังคม ซึ่งอยู่ระหว่างการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ และการผลักดันให้เกิดร่างพระราชบัญญัติ(พรบ.) ส่งเสริมและพัฒนาความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม ได้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว และอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนในขั้นตอนต่อไป


ผู้จัดการโครงการฯ อธิบายต่อว่า การผลักดันกฎหมายขึ้นมาก็เพื่อเป็นหลักประกันว่า รัฐบาลไทยจะมุ่งส่งเสริมให้ประชาชนมีการรวมกลุ่มเป็นภาคประชาสังคมและส่งเสริมให้คนกลุ่มนี้มีความเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ และส่วนที่สองคือ รวมเครือข่ายที่อยู่ในภาคประชาสังคมทั่วประเทศไทยเป็นเครือข่ายในการทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดพลังและการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับภาคประชาสังคม อย่างเช่น กลุ่มคนไร้บ้านที่รวมกลุ่มกันทำเกษตรอินทรีย์คัดแยกขยะรีไซเคิล นอกจากนั้นยังมีกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มสวนผักคนเมือง รวมถึงกลุ่มพ่อแม่ที่มีลูกพิการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายดูแลตัวเองและไปให้ความรู้ครอบครัวอื่นอีกด้วย


"สิ่งที่หวังคือ ต้องการให้เกิดกลไกเชิงนโยบาย เพราจะทำให้มีการขับเคลื่อนต่อไปเรื่อยๆ ถ้าหากมีกฎหมาย มีนโยบาย มีการสนับสนุนเรื่องความเข้มแข็ง ทั้งการพัฒนาศักยภาพ งบประมาณ เหล่านี้จะทำให้กลไกของประชาชนทุกกลุ่มสามารถลุกมาเป็นภาคประชาสังคมได้อย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง" ผู้จัดการโครงการฯ ย้ำถึงเป้าหมายหลัก


ด้าน นายประกาศ เรืองดิษฐ์ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวถึงความร่วมมือในการขับเคลื่อนกิจกรรมในรูปแบบภาคประชาสังคมว่า การจัดกิจกรรม "WE ARE CSO ใครๆ ก็เป็นได้" เป็นการนำเสนอส่วนหนึ่งของกลุ่มตัวอย่าง เช่น กลุ่มคนไร้บ้าน ที่สังคมมักจะไม่ยอมรับ แต่คนกลุ่มนี้ก็มีศักยภาพในการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้เช่นกัน เพียงแต่ปัจจัยของสังคมส่วนตัวอาจจะไม่เอื้ออำนวย ซึ่งทุกคนสามารถช่วยให้สังคมน่าอยู่ได้หากได้รับการสนับสนุนที่ดีรวมถึงภาคเอกชนที่ทำได้อย่างเต็มที่ เพราะการคืนกำไรสู่สังคมก็เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม CSO ได้ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาบุคลากรขององค์กรในเรื่องจิตอาสา คือการบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ด้วย


ขณะที่ นางสาวนพพรรณ พรหมศรีเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) เล่าถึงการทำงานช่วยเหลือกลุ่มคนไร้บ้านให้ฟังว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้มีคนไร้บ้านคือ การถูกผลักดันออกมาจากครอบครัว และปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงการแก้ปัญหาได้ ต้องมีกระบวนการเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต นำไปสู่การผลักดันให้เกิดศูนย์พักคนไร้บ้าน หลังจากนั้นก็เกิดกระบวนการพัฒนา ทำกิจกรรม และการศึกษาช่องทางแก้ปัญหา ซึ่งปัญหาใหญ่คือ การไม่มีบัตรประชาชนที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ ได้ นอกจากนั้นคนที่อาศัยอยู่ในศูนย์พักคนไร้บ้าน  ยังรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมเดินกาแฟ คือการลงพื้นที่นำอาหาร กาแฟ และลงไปพูดคุยกับคนไร้บ้านตามสถานที่ต่างๆ นับว่าเป็นกิจกรรมดีๆ ที่สามารถช่วยเหลือกันได้ในเบื้องต้น


"การทำกิจกรรมด้านสังคมสิ่งแรกที่เราได้รับคือ การพัฒนาตนเอง โดยทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม อย่างเช่น ประเด็นคนไร้บ้านที่เราอาจคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวแต่ก็เป็นปัญหาที่อยู่รอบตัว ซึ่งเราไม่เคยตระหนักหรือสนใจกับมัน แต่วันหนึ่งมันอาจจะเกิดขึ้นกับเราโดยตรงก็ได้และหากได้เรียนรู้ก่อนว่าปัญหาเหล่านี้เกิดจากอะไร ก็จะสามารถป้องกันปัญหาที่จะมาสู่ตัวเราได้ด้วย" นายณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน สะท้อนความคิดเห็น ทิ้งท้ายไว้


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ

Shares:
QR Code :
QR Code