ภัยเงียบอันตรายหลับใน พลาดพลั้งอุบัติเหตุถึงชีวิต
ที่มา : เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
เกือบตลอดทั้งปี 2563 ประเทศไทยได้เจอวิกฤติหนัก ๆ มาแล้วมากมายหลายเรื่อง โดยเฉพาะเจ้าวิกฤติโควิด-19 ยังส่งผลต่อเนื่องกันข้ามปี 2564 เลยทีเดียว ทีมข่าว 1/4 Special Report ต้องขอให้กำลังใจทุกท่านสามารถฟันฝ่าวิกฤติและอุปสรรคทั้งหลายไปด้วยดี มีความสุขกับครอบครัวในรูปแบบ "ชีวิตวิถีใหม่" ที่ยังต้องปรับตัวให้ได้อีกสักระยะใหญ่
ในส่วนปัญหาอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ หรือช่วงวันหยุดยาวติดต่อกันหลาย ๆ วัน ถือเป็นอีกปัญหาใหญ่ ทุกปีหน่วยงานภาครัฐก็พยายามระดมสรรพกำลังทุกรูปแบบเพื่อ "ปิดช่องโหว่" หวังลดการเกิดอุบัติเหตุ ลดการสูญเสียไม่ว่าจะตาย-เจ็บ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้มีโอกาสเดินทางไปเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่กับครอบครัวแบบมีความสุขทั้งไปและกลับ สิ่งหนึ่งที่เริ่มถูกนำมาหยิบยกอยู่ร่วมในการรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุอีกเรื่อง "อาการหลับใน" บางครั้งแม้ผู้ขับขี่ จะอยู่ในอาการหลับใน ช่วงเวลาสั้น ๆ แต่สามารถก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงอย่างไม่คาดคิด
โดยจากข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนจะพบว่า การหลับในมีส่วนเกิดอุบัติเหตุในขณะขับรถมาเป็น "อันดับที่ 4" รองลงมาจาก 1. เมาแล้วขับ 2. ขับเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด และ 3. ขับรถตัดหน้ากระชั้นชิด ภาวะง่วงนอนขณะขับรถ หรือที่เรารู้จักกันดีคือ การหลับใน จึงนับเป็นอีกเรื่องอันตรายแบบไม่คาดคิด เพราะการอดนอนอาจส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุเช่นเดียวกันกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีผลต่อการทำงานของสมอง โดยเฉพาะส่วนประมวลผล ทำให้การตัดสินใจและการตอบสนองช้าลง จากข้อมูล พบว่าในประเทศไทยผู้ขับขี่มากกว่า 50% เคยประสบปัญหาง่วงนอนขณะขับขี่ยานพาหนะ
การหลับในสามารถคร่าชีวิต ได้ในเวลาเพียง 4 วินาที ถ้าหากรถวิ่งด้วยความเร็ว 90 กม./ชม. รถจะวิ่งต่อไปอีก 100 เมตรโดย ที่ไม่มีการควบคุม ลักษณะการชนจึงรุนแรงมากเพราะคนขับไม่ได้หักหลบหรือเหยียบเบรก ทำให้บาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตได้ทันที
อย่ามองข้ามสัญญาณเตือน "หลับใน"
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า การหลับใน คือ การหลับในระยะเวลาสั้น ๆ หรือวูบเพียงชั่วครู่ เป็นภาวะที่ร่างกายมีการทำงานลดลง หรือช้าลง อาการพวกนี้จะน่าห่วงในขณะช่วงวิกฤติ อาทิ ขับรถ ทำงานโรงงานหรืออยู่ระหว่างกำลังใช้เครื่องไม้เครื่องมือ สาเหตุของการหลับในนั้น คือ ส่วนใหญ่มาจากพักผ่อนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะคนที่ต้องทำงานเป็นกะหรืออาจจะต้องมีการควงเวร คนที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งจะน่าห่วง ในพวกคนทำงานกลางคืนและสถานบันเทิงต่าง ๆ คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคนอนหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ก็อาจจะเป็นสาเหตุของการหลับในได้ และคนที่รับประทานยาที่ทำให้ง่วง เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้ภูมิแพ้ เป็นต้น
สัญญาณเตือนการหลับใน ได้แก่ สัญญาณทางร่างกาย เมื่อ ร่างกายกำลังจะเข้าสู่ภาวะหลับใน ร่างกายอาจเกิดอาการ หาวบ่อย กะพริบตาช้า ๆ หรือกะพริบตาถี่ ๆ เพื่อให้ตื่น เห็นสิ่งต่าง ๆ ไม่ชัดเจน ร่างกายกระตุก หรือลืมตาไม่ขึ้น ต่อมาคือสัญญาณทางความคิด เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่อาจช่วยให้แน่ใจว่าร่างกายกำลังจะหลับใน ซึ่งสังเกตได้จากความคิดของสมอง เช่น ไม่สามารถจดจำเหตุการณ์เมื่อไม่กี่นาทีก่อนได้ไม่สามารถจดจ่อกับงานหรือสิ่งที่ทำได้ ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ลดลง และตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ช้า เป็นต้น และสัญญาณจากพฤติกรรมการขับรถ หาวบ่อยและกะพริบตาถี่ ๆ ต่อเนื่อง มองข้ามสัญญาณไฟและป้ายจราจร ขับรถส่ายไปมาหรือออกนอกเส้นทาง ความจำหายจำไม่ได้ว่าขับรถผ่านอะไรมาในช่วง 1-2 กิโลเมตรที่ผ่านมา หรือการฝันระยะสั้น ๆ โดยหากมีอาการ เหล่านี้หรือความรู้สึกง่วง ไม่ควรฝืนขับรถหรือทำงานที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินได้
แนะแนวทางป้องกันการหลับใน
นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า วิธีการป้องกันการหลับในที่ดีที่สุดได้แก่ การนอนพักผ่อนให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมง อย่างน้อยก่อนวันเดินทาง ทานอาหารแต่พอดี อย่ากินอิ่มจนเกินไป เพราะจะทำให้ง่วงได้ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก่อนเดินทางไม่ควรกินยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม จิบน้ำบ่อย ๆ อย่าให้ขาดน้ำ เพราะการขาดน้ำจะทำให้อ่อนเพลียและเหนื่อยล้าง่าย ควรงดดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น น้ำอัดลม ชา โกโก้ เครื่องดื่มชูกำลัง โดยเฉพาะช่วงบ่ายของวันก่อนเดินทางเพราะจะทำให้นอนหลับยากขึ้นหรือหลับไม่สนิท
ที่สำคัญในวันเดินทางเมื่อรู้สึก เมื่อยล้าควรจอดรถพักหรือนอนหลับใน จุดที่ปลอดภัย อาจดื่มกาแฟร้อน หรือรับประทานผลไม้รสเปรี้ยวเพื่อช่วยกระตุ้นประสาท แต่วิธีนี้จะได้ผลในระยะสั้นเท่านั้น และหากรู้ตัวว่าร่างกายไม่พร้อมไม่ควรเดินทางคนเดียว ควรหาคนนั่งไปเป็นเพื่อนหรือสลับกันขับรถด้วย
อย่างไรก็ตามสถิติอุบัติเหตุของกระทรวงคมนาคม ถึงแม้สาเหตุมาจากอาการหลับใน จะมีเพียงประมาณร้อยละ 5 ของทั้งหมด จากอุบัติเหตุที่เกิด แต่การหลับในไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม เพราะไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อผู้หลับในโดยตรงเท่านั้น แต่ยังทำให้ ผู้โดยสาร หรือ ผู้ที่นั่งอยู่ในรถ และ คู่กรณี ที่ประสบอุบัติเหตุจากสาเหตุหลับใน อาจจะต้องเสียชีวิตหรือบาดเจ็บไปด้วย.
10 วิธี ช่วยให้นอนมีประสิทธิภาพ
เพื่อการนอนที่ถูกหลักอนามัย (Good Sleep Hygiene) ประกอบด้วย 1.ควรเข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาเป็นประจำทุกวัน ทั้งวันทำงานและวันหยุด 2.ไม่ควรงีบในเวลากลางวัน ถ้านอนกลางวันเป็นประจำ ไม่ควรงีบเกิน 30 นาที และไม่ควรงีบหลังบ่าย 15.00 น. 3.หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม อย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนนอน 4.หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และอาหารมื้อหนัก รสจัด เผ็ด หรืออาหารหวานอย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนนอน 5.ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนนอน
6.เตียงนอนควรเป็นเตียงที่นอนแล้วสบาย มีอุณหภูมิที่เหมาะสม ระบายอากาศดี ไม่ควรมีแสงเล็ดลอด เข้ามา และไม่ควรมีเสียงดัง 7.ควรผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวล ไม่ควรดูภาพยนตร์ตื่นเต้น สยองขวัญก่อนนอน 8.ควรใช้ห้องนอนเพื่อการนอนและกิจกรรมทางเพศเท่านั้น อย่าใช้ห้องนอนและเตียงนอนเป็นที่ทำงาน เล่นโทรศัพท์มือถือ ดูโทรทัศน์ 9.หากนอนไม่หลับภายใน 30 นาที ควรลุกจากที่นอนทำกิจกรรมเบา ๆ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลงเบา ๆ แล้ว กลับมานอนใหม่อีกครั้งเมื่อง่วง และ 10.รับแสงแดดให้เพียงพอในตอนเช้าอย่างน้อย 30 นาทีทุกวัน เนื่องจากแสงแดดเป็นตัวควบคุมนาฬิกาชีวิตที่สำคัญ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำติดต่อกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์ จะช่วยให้หลับได้ดี มีความตื่นตัวในเวลากลางวันทำงานได้ดีขึ้น และสุขภาพทางกาย-ใจดีขึ้น.