ภัยร้ายจากบุหรี่ เสียทั้งเงิน เป็นทั้งโรค

 

มหันตภัยของการสูบบุหรี่ ถือเป็นผลเสียต่อร่างกายทั้งผู้สูบและผู้ที่ไม่ได้สูบในทุกวันนี้  อัตราการเสี่ยงต่อโรคต่างๆ มีมากมาย อาทิ มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพองเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด  เป็นต้น  ผู้เสพมีอัตราการเสียชีวิตสูง และต้องเสียค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมากมาย

แน่นอนว่าผู้สูบซึ่งมีทั้งหญิงและชาย ย่อมรู้ถึงพิษภัยของมันว่าร้ายแค่ไหน เพราะไม่ใช่แค่โรคที่ตามมา แต่อาจกลายเป็นบุคคลที่สังคมรังเกียจ เวลาสนทนาหรือเข้าใกล้กับบุคคลอื่นแต่ละที มีทั้งกลิ่นปากและกลิ่นตัว

เมื่อถึงจุดหนึ่งผู้สูบบางคนอาจพยายามจะเลิก แต่เลิกไม่ได้ เพราะไม่ตั้งใจจะเลิก บางคนสามารถเลิกได้ แต่สุดท้ายก็กลับไปหามันอีก จะด้วยเหตุผลอะไรร้อยแปดที่จะยกมาอ้าง

ผู้ที่สูบจะเป็นทาสเสพติดบุหรี่ โดยเฉลี่ยอายุ 23ปีถ้าเขาเลิกบุหรี่ไม่ได้ และสูบต่อไปจนถึงวัยกลางคน ครึ่งหนึ่งของเยาวชนที่ติดบุหรี่ขณะนี้จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งเป็นที่น่าเสียดาย อย่างยิ่ง

จากผลการวิจัยของศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) พ.ศ. 2550พบว่า การสูบบุหรี่ของคนไทย อายุ 15ปีขึ้นไป มีจำนวนผู้สูบบุหรี่เป็นประจำ 9.54ล้านคน เป็นผู้ชาย 9.02ล้านคน ผู้หญิง 0.52ล้านคน และสูบเป็นครั้งคราวรวม 1.5ล้านคน เฉลี่ยสูบเป็นประจำคนละ 10มวนต่อวัน และเมื่อจำแนกตามระดับการศึกษาพบว่าระดับการศึกษาที่ต่ำกว่าอุดมศึกษา อัตราการสูบบุหรี่จะสูงกว่าคนที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา

นอกจากนั้นผู้ที่สูบเป็นประจำยังต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มไปจากรายจ่ายประจำอีกมาก โดยผู้ชายจะมีรายจ่ายสูงกว่าผู้หญิงเกือบเท่าตัว ด้วยเหตุผลทั้งหลาย จึงทำให้มีการอบรมให้ผู้สูบบุหรี่ได้รู้ถึงพิษภัย และวิธีการลด เลิก อย่างบูรณาการ โดยเริ่มที่ผู้นับถือศาสนาอิสลาม เนื่องจากพบว่ามีผู้สูบบุหรี่จำนวนมาก

ดังนั้นทางแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย ได้จับมือกับ สสส. และเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “แนวทางการแก้ไขปัญหาสุขภาพจากการสูบบุหรี่อย่างบูรณาการ” ครั้งที่ 1/2554ไปเมื่อวันที่ 20ก.ค.ที่ผ่านมา โดยอบรมให้ความรู้ผ่านผู้นำศาสนา ที่สามารถนำเอาสิ่งที่อบรมไปเผยแพร่กับคนในชุมชน

รศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ผู้จัดงานแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย (สสม.)ระบุว่า ตามหลักศาสนาอิสลามแล้วการสูบบุหรี่ถือเป็นเรื่องต้องห้าม ไม่ต่างจากการดื่มเหล้าแต่สังคมมุสลิมยังเข้าใจผิดว่าการสูบบุหรี่เป็นเรื่องไม่พึงปฏิบัติเท่านั้น ดังนั้น แผนงานฯ จึงมีหน้าที่เผยแพร่ความเข้าใจเรื่องนี้ใหม่ โดยมีกระบวนการให้ความรู้ถึงพิษภัยบุหรี่ และแนะนำวิธีการเลิก ซึ่งผู้นำศาสนาเป็นบุคคลสำคัญที่เหมาะสมในกระบวนการช่วยให้ชาวมุสลิมเลิกบุหรี่

ขณะที่ ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี คณะกรรมการบริหารสำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงหลัก และคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2สสส.อธิบายว่า แนวทางการแก้ปัญหาการสูบบุหรี่อย่างบูรณาการต้องให้ความสำคัญ 2ประเด็น คือ 1. กลุ่มเป้าหมายคือผู้นำศาสนาอิสลาม กรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสำนักจุฬาราชมนตรีให้การสนับสนุน และ 2. การส่งเสริมให้คนเลิกบุหรี่ โดยมีวิธีการเลิกผ่าน การให้ความรู้กับผู้นำศาสนา 

ศ.นพ.รณชัยยังบอกด้วยว่าโครงการลักษณะนี้จะขยายไปยังภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศโดยเริ่มต้นที่ จ. สงขลา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีชาวมุสลิมอยู่จำนวนมาก เพราะพบว่าสาเหตุของการสูบบุหรี่ เกิดจากความ เครียดต่อสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ทั้งนี้ เชื่อว่าโครงการนี้ จะช่วยให้การเลิกสูบบุหรี่ในอีก 3-5ปีข้างหน้าลดลงได้ครึ่งหนึ่งของอัตราการสูบทั้งหมด

แนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดปริมาณการสูบบุหรี่ให้น้อยลงได้ คือการขยายบุคลากรในการช่วยให้ผู้ติดบุหรี่ ได้เลิกสูบบุหรี่ เนื่องจากแผนงานสุขภาวะมุสลิม มีโครงการ มัสยิดปลอดบุหรี่ และมีแนวคิดที่จะให้ความรู้กับผู้นำทางศาสนา เพื่อเป็นผู้ช่วยในการส่งเสริมการเลิกสูบบุหรี่จะทำให้สามารถช่วยดูแล ผู้ที่ติดบุหรี่ ที่เป็นชาวมุสลิมได้มีแนวทางการเลิกบุหรี่ที่ดีขึ้น

ถ้าจะให้ได้ผล ผู้ที่คิดเลิกบุหรี่ คงต้องมีความตั้งใจ มุ่งมั่น และทำอย่างจริงจัง ไม่หวั่นไหวเมื่อเห็นมัน บอกได้คำเดียวว่า “อยู่ที่ใจ”

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Shares:
QR Code :
QR Code