‘ภัยพิบัติ…จัดการได้’
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
นครศรีธรรมราช ถือเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ จากภัยพิบัติมาโดยตลอด ทั้งพายุถล่มที่แหลมตะลุมพุก ปัญหา ดินสไลด์ ภูเขาถล่มน้ำป่าไหลหลาก คลื่นลมทะเลสูงกัดเซาะชายฝั่ง ปัญหาภัยแล้ง และเป็นพื้นที่เสี่ยงรับ ผลกระทบจากมรสุมพายุต่างๆ
ด้วยเหตุนี้จึงเกิดความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนเครือข่ายจัดการภัยพิบัติ ระหว่างเครือข่ายตำบลจัดการภัยพิบัติ จ.นครศรีธรรมราช กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย (ปภ.) และสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม รับมือและลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นยามเกิดภัยพิบัติต่างๆ
อุดมพร กาญจน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.นครศรีธรรมราช เล่าถึงสถานการณ์ ภัยหลักที่เกิดในพื้นที่นั้น มีทั้งน้ำท่วมและภัยแล้ง เนื่องจากพื้นที่เป็นทางผ่านของน้ำที่ไหลจากเทือกเขาลงสู่ทะเล ทำให้ทั้ง 23 ในอำเภอได้รับผลกระทบทั้งหมดเมื่อเกิดเหตุ ในการขับเคลื่อนงานนี้ได้มีการสนับสนุนระบบงบประมาณ ระบบข้อมูล และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สนับสนุนระบบการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนที่มีการบูรณาการจากภาครัฐ และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสร้างพื้นที่ต้นแบบการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนท้องถิ่น เพื่อต่อยอดในการสร้างชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง
ด้าน ธวัชชัย ฟักอังกูร ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 จาก สสส. อธิบายว่า เรื่องการจัดการภัยพิบัติเป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญในการสนับสนุนให้ทุกคนมีขีดความสามารถ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อสุขภาวะ โครงการพัฒนาระบบและบูรณาการการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนท้องถิ่นจ.นครศรีธรรมราช ที่ร่วมกันขับเคลื่อนงานให้เกิดระบบเฝ้าระวังภัยพิบัติโดยชุมชนท้องถิ่น ทำให้เกิดอาสาสมัคร ที่มีศักยภาพและมีความเชี่ยวชาญ เกิดศูนย์จัดการภัยพิบัติส่วนหน้า โดยชุมชนท้องถิ่น และเกิดนวัตกรรมการจัดการภัยพิบัติระดับเครือข่าย
"คนที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดก็คือ ประชาชน เพราะเวลาเกิดภัยพิบัตินั้นเกิดขึ้น อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นหากเราสามารถพัฒนาศักยภาพของชาวบ้าน ให้รู้วิธีการจัดการตนเองได้ในเบื้องต้น เพื่อเป็น ส่วนหนึ่งในการลดความสูญเสียทั้งทางชีวิตและทรัพย์สินได้"
สำหรับหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนงาน จ.ท.โกเมศร์ ทองบุญชู ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาระบบและบูรณาการการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนท้องถิ่น จ.นครศรีธรรมราช บอกถึงแนวทางการดำเนินงานว่า ก่อนหน้านี้ชาวนครฯ พยายามหาวิธีรับมือกับภัยพิบัติมาโดยตลอด แต่ยังขาดความรู้เพิ่มเติมในการอุดช่องโหว่ให้ประสานกัน โครงการนี้ทำให้ค้นพบจุดคานงัดการบริหารจัดการในระดับพื้นที่ตำบลเป็นกลไกสำคัญ 4 เสาหลัก คือ ท้องที่ ท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ และ ภาคประชาชนแกนนำกลุ่มองค์กร
ทุกส่วนต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนงาน ทั้งเป็นศูนย์กลางในการสื่อสารข้อมูลยามเกิดภัยพิบัติ พัฒนาศักยภาพอาสาสมัครในการจัดการภัยพิบัติระดับตำบล รวบรวมอุปกรณ์เครื่องมือในการกู้ภัยและการเข้าช่วยเหลือ จนเกิดเป็นความร่วมมือของภาคีเครือข่ายโดยใช้ชื่อว่า "1 ตำบล 1 ศูนย์จัดการภัยพิบัตินำร่องพื้นที่ 30 ตำบล"
"เราอยู่ในสภาวะเสี่ยงภัยกอปรกับสภาวะของโลกที่เปลี่ยนแปลง หากเรายังดูดายในประเด็นนี้จะไม่มีโอกาสรอด เพราะภัยพิบัติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ที่เกิดแบบไม่ทันคาดคิด ชาวนครฯ จึงต้องหาวิธีรับมืออย่างถี่ถ้วน ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเกิดภัยพิบัติ ผมยกตัวอย่างเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งล่าสุด เรือที่เราจะใช้เข้าช่วยเหลือชาวบ้านเกิดชำรุด เราจึงต้องขอความร่วมมือจากกลุ่มเจ็ตสกีเพื่อลงพื้นที่ หากเราไม่เคยมีการเตรียมการรับมือ ไม่มีการประสานงานกับส่วนต่างๆ ก็อาจทำให้เหตุการณ์ที่ผ่านมาไม่ผ่านไปได้ด้วยดีเช่นนี้" ผู้รับผิดชอบโครงการฯ เล่า
ส่วน ประไพ ทัศนีย์สุวรรณ เจ้าหน้าที่ จัดเก็บข้อมูล RECAP ต.เขาพังไกร จ.นครศรีธรรมราช มองว่า การเก็บข้อมูลตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนถึงระดับความต้องการ เมื่อเกิดภัย พบว่า เมื่อเกิดภัยชาวบ้านต้องการความช่วยเหลือ ทั้งการอพยพไปที่ศูนย์พักพิง ตามโรงเรียนหรือวัดที่ท้องถิ่นได้เตรียมไว้ ตั้งครัวชุมชนแจกจ่ายอาหาร ในการเคลื่อนย้ายนั้น โดยมากผู้สูงอายุจะไม่อยากอพยพไปที่อื่น เนื่องจากเป็นห่วงบ้านและทรัพย์สิน ในการจัดเก็บข้อมูลตรงนี้ จึงทำให้เราสามารถมองเห็นภาพในท้องที่ชัดขึ้น ลำดับสิ่งที่ควรทำก่อนหลังได้ดีขึ้น
เมื่อยามเกิดภัยพิบัติ แน่นอนว่าไฟฟ้าถูกตัดไปโดยปริยาย เท่ากับว่าเป็นเรื่องยากในการติดต่อหรือรับข่าวสาร พนัส มารคคงค์แก้ว หัวหน้าฝ่ายเครือข่ายฉุกเฉิน สมาคมวิทยุสมัครเล่น จ.นครศรีธรรมราช บอกไว้ว่า ตนได้นำเครื่องวิทยุสื่อสารทั้งแบบ สะพายหลังและแบบติดตั้งหลังรถกระบะจากการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ทั้งพลังงานจากแสงแดดและพลังงานลมที่คิดขึ้นเองลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านเมื่อเกิดภัยพิบัติ
ด้วยความที่เป็นนักวิทยุสื่อสารอยู่แล้วจึงเกิดไอเดียในการพัฒนาความรู้ที่ตนเองมีเพื่อช่วยเหลือสังคม เมื่อเกิดภัยพิบัติ รถวิทยุสื่อสารคันนี้จะไปประจำการอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดเพื่อส่งสัญญาณวิทยุส่งข่าวจากในพื้นที่ไปยังศูนย์บัญชาการ และเป็นตัวประชาสัมพันธ์ตามสายให้ประชาชนในพื้นที่ได้ยินเสียงประกาศ หากน้ำท่วมสูงรถกระบะไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ก็สามารถนำอุปกรณ์สะพายหลังเข้าพื้นที่แทน ซึ่งอุปกรณ์สะพายหลังนี้ก็ประดิษฐ์จากของใกล้ตัว เช่น กระเป๋านักเรียน โครงเหล็กเหลือใช้ เป็นต้น
การจัดการภัยพิบัติไม่ใช่เพียงแค่การเตรียมความพร้อม แต่เป็นการหาหนทาง รับมือก่อนเกิดภัย เข้าการช่วยเหลือ เมื่อยามเกิดภัย และการฟื้นฟูเยียวยา หลังเกิดภัยอย่างถี่ถ้วนและรอบด้านที่สุด