ภัยที่น่ากลัวที่สุดของ…คือความไม่สามัคคี
ข้าพเจ้าได้รับจดหมายเชิญจาก รศ.ดร. วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้เข้าร่วมหารือการเตรียมการฟื้นฟูกรุงเทพมหานครจากเหตุการณ์อุทกภัย เพื่อร่วมนำเสนอบทเรียนและต้นแบบในการจัดการภัยพิบัติของชุมชนเสถียรธรรมสถาน และร่วมประชุมปฏิบัติการเพื่อพัฒนาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา
ผู้ปรารถนาจะให้กรุงเทพมหานครกลับมาน่าอยู่ดังเดิมเข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง หลังจาก ทพ. กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้กล่าวถึงเป้าหมายของการประชุมและโครงการฯ แล้ว การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และต้นแบบของการจัดการภัยภิบัติโดยชุมชนก็เริ่มขึ้นอย่างแข็งขัน โดยจะขอบอกเล่าโดยย่อ อาทิ นพ. รุ่งโรจน์ กั่วพานิช รองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ (ที่อดีตประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่ 2 ครั้ง) เสนอเรื่องปิดเมืองเพื่อเก็บขยะ มี big cleaning day เพราะหลังเกิดน้ำท่วม ขยะเน่า ไม่เกิน 10 วันแมลงวันจะเต็มเมือง ต้องแบ่งโซนจุดพักขยะ สำรวจชุมชนว่ามีคนวัยใดบ้าง เพื่อให้การช่วยเหลือที่เหมาะสม ที่สำคัญ ผู้ประสบภัยต้องมีส่วนวางแผนเตรียมการด้วยตนเอง
คุณไมตรี จงไกรจักร ผู้นำเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิบ้านน้ำเค็ม แลกเปลี่ยนว่าสิ่งที่จะเกิดกับผู้ประสบภัยในช่วงเวลานี้ คือ โรคผู้ประสบภัย ซึ่งจะเกิดกับชุมชนที่ไม่พึ่งตัวเอง อาการคือเฝ้ารอความช่วยเหลือ ไม่ลุกขึ้นมาทำอะไร ซึ่งรักษายากมาก ฯลฯ
คุณปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท แลกเปลี่ยนว่า เราควรฉวยโอกาสให้ชุมชนเกิดการเตรียมพร้อมในอนาคต คือมีคนเข้าไปสรุปบทเรียนกับชุมชนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้เพื่อการวางแผนในอนาคต พูดคุยเพื่อหาสาเหตุน้ำท่วม เกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้างระหว่างน้ำท่วม แล้วแก้ปัญหาอย่างไร วางแผนอย่างไร การทำแผนรับมือภัยพิบัติในศูนย์พักพิงเพื่อให้กลับไปดำเนินการในหมู่บ้านตัวเองได้ และการฟื้นฟูควรมีสามระยะ คือฟื้นฟูระยะสั้น…ทำความสะอาด ฟื้นฟูระยะกลาง…ฟื้นฟูวิถีชีวิต ฟื้นฟูระยะยาว…แผนป้องกันภัยพิบัติในแต่ละชุมชน เก็บความรู้ไปสู่สาธารณะ ให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วม
สำหรับข้าพเจ้า ในเบื้องต้น ได้เสนอว่าขอให้ตั้งเป้าให้วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นวันเมืองไทยน่าอยู่ โดยให้เริ่มทำบ้านเมืองให้สะอาด สะอาดนอก สะอาดใน สะอาดใจเพราะรู้จริง ตั้งแต่วันนี้
ทั้งนี้ ข้าพเจ้าได้แลกเปลี่ยนให้ที่ประชุมได้ฟังถึงสิ่งที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ ตระหนักรู้ และสิ่งที่ได้ทำในช่วงเวลาแห่งการเป็นเพื่อนร่วมทุกข์จากอุทกภัยในครั้งนี้…
“ภัยที่น่ากลัวที่สุดของกรุงเทพฯ ไม่ใช่ขยะข้างนอก แต่คือความไม่สามัคคี เราต้องเข้าไปถึงแก่นตรงนี้ให้ได้ก่อน เราจึงจะทำงานที่จะช่วยพลิกสถานการณ์ภาคกายภาพกันได้เร็ว ข้าพเจ้าคบคนทุกคนในฐานะผู้ขอ ทุกความช่วยเหลือที่มีเข้ามาในเสถียรธรรมสถานน่ายกย่องมาก เป็นการรับที่ผู้ให้ได้ ‘ใจ’ ของผู้รับอย่างเต็มที่ เพราะเป็นการให้อย่างยกย่องผู้รับ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเรียนรู้กับการเป็นผู้ที่จะพึ่งพาตัวเองเพราะสมาชิกในชุมชนแข็งแรงด้วยการฝึกมาอย่างดีในการเป็นผู้ที่จะต้องเรียนรู้ที่จะทำทุกอย่างให้เป็นปกติ ในยามที่โลกไม่ปกติ เราต้องปกติที่ใจ
ข้าพเจ้าไม่ได้อยู่เสถียรธรรมสถานในช่วงที่น้ำเข้า แต่ทันทีที่เดินทางกลับถึงเสถียรธรรมสถาน ตาของสมาชิกทุกคนในบ้านบอกถึงความเป็นอิสระ…เรามีอิสรภาพ การอยู่และการผ่านวิกฤตมาได้อย่างเป็นปกติของบ้านเรา ทำให้เกิดคำถามว่า เราทำอย่างไรให้ใจของคนในชุมชนเข้มแข็ง…คนมีเงินเริ่มถามแล้วว่าจะหาทางออกได้อย่างไรเมื่อไม่มีทางออก
ข้าพเจ้าตอบว่า ทางออกมีอยู่เสมอ แต่คุณต้องเช็ดแว่นตาของคุณก่อน เหมือนเราใส่รองเท้ากันคนละคู่ บางคนรองเท้าแบรนด์เนมคู่ละ 40,000 บาท บางคนรองเท้าธรรมดา 300 บาท บางคนใส่รองเท้าแตะ 30 บาท บางคนเท้าเปล่ามาตลอดชีวิต คุณเสียใจแค่เพียงราคารองเท้าเท่านั้นเอง รองเท้าเปียกเหมือนกันทุกคน แต่ที่น่าสนใจคือ เท้าไม่พิการ สามารถเดินต่อไปได้นี่สิ…จะทำอย่างไร
งานของกรุงเทพฯ คือต้องไปให้ถึงเรื่อง ‘ใจ’ ให้ได้ เท้าไม่ได้พิการ แค่เพียงรองเท้าเปียก เราก็เปลี่ยนรองเท้า แต่ที่ทุกข์ เพราะเราทุกข์ตามราคา ตามราคะของเรา…จริงอยู่ว่าบ้านเราจม แต่ใจของเราต้องไม่จม องค์ประกอบเรื่อง ‘ใจ’ ต้องมาจากความสามัคคีก่อน…ที่ไหนที่มีการทะเลาะเบาะแว้ง มีความบาดหมาง ข้าพเจ้าเลือกที่จะลงพื้นที่นั้น เพราะอยากรู้ว่า ‘ใจ’ ของคนในที่นั้นๆ เป็นอย่างไร เช่นที่คลองสามวาที่เกิดกรณีกัน หรือที่เขตสายไหม ข้าพเจ้าทนไม่ไหวที่จะเห็นคนรอรับของทุกวัน
วันนั้นข้าพเจ้าไม่ได้ไปแจกของ แต่ไปสังเกตว่าเขาทำอะไรกันบ้าง และก็ถามว่าใครทำครัวเป็นบ้าง ปรากฏว่ามีคนยกมือเสนอตัวมากมายที่จะเป็นแม่ครัวทำอาหารเลี้ยงกันเอง โดยมีภาคีเครือข่ายเป็นคนส่งของสดของแห้งเข้าไปให้ เราต้องเข้าไปควานหา ‘ใจโพธิสัตว์’ ในกลุ่มพวกเขาออกมาให้ได้ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มตัวเอง แม้แต่ที่ ศปภ. (ศูนย์ปฏิบัติช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม) สื่อถามข้าพเจ้าว่ามาที่นี่ทำไม ข้าพเจ้าตอบว่า ข้าพเจ้ามาเรื่อง ‘ใจ’…
“เราต้องกลับมาเรื่องที่เป็นขยะเชิงลึกของแผ่นดิน คือความไม่สามัคคี ข้าพเจ้าไม่สนใจว่านายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิงแล้วมาทำงานแบบผู้ชาย เพราะมันไม่ใช่เรื่องหญิง-ชาย แต่เป็นเรื่องหัวใจของแม่ ทำงานด้วยหัวใจของแม่ หัวใจของพระโพธิสัตว์”
น้ำท่วมครั้งนี้เหมือนน้ำมาล้างบ้าน น้ำมีบุญคุณที่ทำให้เราเกิดความสะอาดขึ้นมาในการที่จะมองเห็นความสุขความทุกข์ที่เท่าเทียม แต่คนที่จะพึ่งพาตัวเองได้คือคนที่ไม่ยอมพิการ อย่าทำให้คนในชุมชนของเราพิการทางใจ…เราต้องแสดงปาฏิหาริย์ในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้…เสถียรธรรมสถานเหมือนถูกล็อตเตอรี่ เราเป็นผู้ขอที่สง่างาม เราเป็นผู้รับที่ยกย่องผู้ให้…
“ตอนนี้เรื่อง ‘ใจ’ สำคัญที่สุด ถ้าเราสามารถถอดองค์ความรู้ของเหตุการณ์ครั้งนี้แบบฟื้นใจของเราได้ ปัญหาการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการจัดการต่าง ๆ จะกลายเป็นปัญญา สสส.ต้องจัดให้ถูก แต่ต้องไม่ลืมหรือละเลยเรื่องใจที่เป็นปกติ วินัยภายนอกเราจัดการได้ แต่วินัยภายในต้องอาศัยการทำงานเองอย่างสม่ำเสมอ เรื่องนี้ต้องแข็งแกร่ง…
“ความเป็นปกติจะแสดงถึงความเข้มแข็งด้านใน อย่ามีวินัยแบบแข็งทื่อ อย่าทำงานอย่างมีกรอบจนไม่เรียนรู้ที่จะปรับใจของเราที่จะอยู่อย่างที่โลกเป็นและไม่เป็นทุกข์ นี้คือสิ่งที่ข้าพเจ้าเห็นถึงความเข้มแข็งของการทำงานครั้งนี้ของเรา”
ธรรมสวัสดี
ที่มา:สสส.