ภัยคุกคามทางเพศบนรถเมล์จิตอาสา’กระเป๋า’ป้องกันได้
ปัจจุบันปัญหาการถูกคุกคามทางเพศสามารถเกิดได้ทุกที่ทุกเวลา โดยเฉพาะยานพาหนะที่คับแคบและคนพลุกพล่านอย่าง “บนรถเมล์โดยสาร” ด้วยแล้วยิ่งมีโอกาสเสี่ยงสูง และภัยดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ทั้งการใช้คำพูด การถูกเนื้อต้องตัว การใช้สายตา หรือแม้แต่การเปิดสื่อลามกอนาจารในที่สาธารณะ จนทำให้เกิดความรำคาญใจ และปัญหาเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับพนักงานด้วยกันเอง หรือพนักงานกับผู้โดยสาร ผู้โดยสารกับผู้โดยสาร หรือผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้างานกับพนักงานให้บริการ เป็นต้น
ภัยเหล่านี้ไม่เพียงสร้างความอึดอัดใจให้กับผู้ถูกกระทำ แต่ยังส่งผลกระทบให้การทำงานลดประสิทธิภาพลงด้วย นอกจากนั้นยังปรากฏว่าผู้ถูกกระทำบางรายก็ไม่ทราบว่ากำลังถูกคุกคาม จึงเป็นที่มาของ “การอบรมตาสับปะรด” ที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมการป้องปรามและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศในการทำงาน ขสมก.ร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) และมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร ที่สนับสนุนโดย แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทั้งนี้เพื่อหาเครือข่ายในการเฝ้าระวังเป็นหูเป็นตา รวมถึงสะท้อนปัญหาไปสู่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ เพื่อนำมาซึ่งการป้องกันแก้ไข และรับมือกับภัยร้ายใกล้ตัวดังกล่าวที่เกิดขึ้นในองค์กรที่ให้บริการขนส่งสาธารณะ ภายในงานได้มีผู้รู้มาร่วมแชร์ประสบการณ์ ตลอดจนวิธีป้องกันตัวเองจากการถูกคุกคามทางเพศในรูปแบบต่างๆ ดังนี้
เริ่มจากนัยนา สุภาพึ่ง ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา สสส. ได้สะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมของปัญหาใหญ่อย่างการถูกคุกคามทางเพศ โดยที่ผู้ปฏิบัติงานไม่รู้ตัวเองผ่านคำพูดหยอกล้อ ว่า จากการสำรวจโดยนักวิจัยพบว่า ปัญหาการถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงานของ ขสมก. หรือบริการขนส่งสาธารณะโดยการใช้คำพูดแทะโลมเกิดขึ้นได้มากที่สุด และเกิดขึ้นเป็นปกติทุกวัน โดยที่ผู้ปฏิบัติงานเองไม่รู้ตัว เช่น ประโยคคำพูดหยอกล้อ “ไม่เจอกันนาน นมโตขึ้นเป็นกอง” หรือ “กระเป๋ามีแต่แก่ๆ ทำไมไม่ส่งเด็กสาวมาบ้างเลย” ดังนั้นเมื่อไรก็ตามหากผู้ปฏิบัติงานหรือกระเป๋ารถเมล์เริ่มเกิดความรู้สึกอึดอัด และเกิดความรำคาญใจจนไม่อยากทำงาน นั่นสะท้อนให้เห็นว่าคุณกำลังถูกคุกคามแล้ว ดังนั้นแนวทางแก้ไขนั้นผู้ถูกกระทำต้องไม่นิ่งเฉย แต่ต้องสะท้อนให้ผู้ที่เป็นฝ่ายกระทำนั้นตระหนักว่าตัวเองเป็นฝ่ายที่กระทำผิด และก่อให้ผู้อื่นเกิดความเดือดร้อนรำคาญใจ ผ่านการร้องเรียนเพื่อสะท้อนให้พนักงานคนอื่นได้รู้ เพื่อหาแนวร่วมจากกลุ่มเล็กๆ จนขยายเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ต่อไป
ด้านนางยงค์ ฉิมพลี วัย 50 คณะกรรมการป้องปรามและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศในการทำงาน ขสมก. และพนักงานกระเป๋ารถเมล์สาย 13 ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ในขณะปฏิบัติหน้าที่ กรณีผู้โดยสารถูกคุกคามทางเพศว่า ที่พบบ่อยคงจะเป็นการที่ผู้โดยสารชายอายุมาก ยืนพิงหรือจับพนักพิงของผู้โดยสารผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ในลักษณะของการเบียดข้าง จากนั้นจะใช้อวัยวะเพศของตัวเองมาถูหรือสัมผัสหลังผู้โดยสารหญิง หรือในกรณีที่รถเมล์แน่น ผู้โดยสารชายยืนประกบด้านหลัง และอาศัยช่วงเวลารถเบรกกะทันหัน โดยการโถมตัวมาโอบด้านหลังของฝ่ายหญิง หรือแม้แต่การช่วยตัวเองบนรถเมล์ และนำน้ำอสุจิมาป้ายลงบนเสื้อผ้าของฝ่ายหญิง รวมถึงการนั่งเบาะคู่ด้วยกันแล้วยื่นมือมาลวนลาม ตรงนี้พี่จะใช้วิธีพูดเสียงดังเพื่อหาแนวร่วม และทำให้ผู้โดยสารชายที่เป็นฝ่ายกระทำเกิดความอายแล้วเดินลงจากรถไปเลย เช่น บอกให้ผู้โดยสารหญิงที่เสียหายย้ายไปนั่งหลังคนขับ เป็นต้น เนื่องจากผู้โดยสารสาวส่วนใหญ่มักอาย หรือไม่กล้าโวยในขณะที่ถูกลวนลาม และในส่วนของตัวเองเวลาปฏิบัติงานนั้น แม้จะมีบางครั้งที่อาจถูกคุกคามทางเพศ ด้วยการจับมือเวลารับเงินค่าโดยสาร การเดินเบียดไหล่ หรือแม้แต่การถูกผู้โดยสารส่งสายตาเพื่อขอเบอร์โทรศัพท์นั้น ตนก็จะใช้วิธีเดินไปเดินมาไม่อยู่กับที่ เพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นเป้าของเหยื่อ
พี่ยงค์เล่าต่อว่า การป้องกันการถูกคุกคามทางเพศก็สามารถหลีกเลี่ยงได้โดยการปฏิบัติตามข้อควรระวังดังนี้ 1.ไม่ควรขึ้นรถเมล์ในเส้นทาง เปลี่ยว หรือหากจำเป็นต้องใช้เส้นทางดังกล่าวก็คงลงกลางทาง และใช้บริการขนส่งที่คาดว่าน่าจะปลอดภัยกว่าการโดยสารบนเส้นทางเปลี่ยว พูดง่ายๆ ว่าไม่ควรขึ้นก่อนหรือลงทีหลัง 2.เลือกใช้รถบริการขนส่งสาธารณะที่มีแสงไฟสว่าง หรือมีมุมอับน้อยที่สุด 3.สังเกตความผิดปกติของผู้ร่วมโดย สาร หรือหากพบเหตุดังกล่าวหรือต้องการขอความช่วยเหลือกรณีโดยสารโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือพนักงานให้บริการได้รับความไม่เป็นธรรม จากหัวหน้างานนั้น สามารถแจ้งได้ที่คอลเซ็นเตอร์ของ ขสมก. เบอร์ 1136 หรือชุติมา บุญจ่าย เจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) 08-1720-1364
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์