ฟื้นฟูสุขภาพช่องปากสูงวัย
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
แฟ้มภาพ
ครม.เห็นชอบ ให้สูงวัยเข้าถึงการบริการส่งเสริม ป้องกัน รักษาและฟื้นฟูสภาพช่องปากอย่างน้อย 5.8 ล้านคน ภายในปี 2561
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า การดูแลสุขภาพช่องปากเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะเป็นส่วนหนึ่งของการมีสุขภาพดี ช่วยเสริมคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ หากมีปัญหาสุขภาพช่องปากจะส่งผลต่อระบบอื่นๆ ของร่างกาย แต่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ยังมักเข้าใจว่า ควรส่งเสริมสุขภาพช่องปากเฉพาะในวัยเด็กเท่านั้น แต่ความจริงแล้ววัยสูงอายุก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อร่างกายมีอายุมากขึ้น ระบบการทำงานของอวัยวะในร่างกายต่างๆ ก็จะเสื่อมสภาพ รวมทั้งเหงือกและฟันที่อยู่ในช่องปากด้วย
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสด้วยความเป็นห่วงทุกข์สุขของพสกนิกรว่า "เวลาไม่มีฟัน กินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง" ทั้งนี้มีข้อมูลจากการสำรวจทันตสุขภาพระดับจังหวัดในปี 2557 พบว่าผู้สูงอายุมีฟันแท้ที่ใช้เคี้ยวอาหารได้ 20 ซี่ขึ้นไป เพียงร้อยละ 56.9 ดังนั้น สธ.จึงได้จัดแผนปฏิบัติการแผนงานทันตสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุประเทศไทย พ.ศ.2558-2561 ภายใต้แผนงานทันตสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุประเทศไทย พ.ศ.2558-2565 เพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าถึงการบริการส่งเสริม ป้องกัน รักษาและฟื้นฟูสภาพช่องปากเพิ่มขึ้น โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559
นพ.ปิยะสกลกล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มเป้าหมายดำเนินการตามแผนดังกล่าวนี้ จะครอบคลุมทั้งกลุ่มหลักคือ ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มรองคือ ผู้ที่มีอายุ 40-59 ปี ตามข้อเสนอของ ครม. เมื่อปี 2558 โดยมียุทธศาสตร์การดำเนินงาน 4 ข้อคือ 1.เพิ่มการเข้าถึงบริการทันตสุขภาพจากร้อยละ 34 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 50 หรือประมาณ 5.8 ล้านคน และอย่างน้อย 1 จังหวัดของทุกเขตสุขภาพ มีการพัฒนารูปแบบเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพในช่องปากผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบ เช่น ฟันผุ แผล/มะเร็งในช่องปาก สภาวะน้ำลายแห้ง ฟันสึก โรคปริทันต์ เป็นต้น 2.ศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ มีการผลิตนวัตกรรมเพื่อการรักษา ฟื้นฟู ป้องกันโรค และความผิดปกติทางทันตกรรม 3.พัฒนาบุคลากรและหลักสูตรด้านทันตกรรมผู้สูงอายุทั้งระดับปริญญาตรี หลักสูตรระยะสั้นร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ 4.บริหารจัดการ พัฒนาระบบฐานข้อมูล การติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบ เพื่อบรรลุแผนในการทำงาน คือภายในปี 2561 ผู้สูงอายุมีสุขภาพช่องปากดีและมีฟันใช้อย่างเหมาะสม ร้อยละ 80