ฟื้นฟูการอ่าน สร้างชุมชนเข้มแข็ง
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ TKpark อุทยานการเรียนรู้
แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนโครง การพัฒนาศูนย์เรียนรู้ระดับตำบล เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ให้แก่ประชาชนในระดับชุมชน ซึ่งมีสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สอร. เป็นหัวเรือใหญ่ดำเนินงาน
นอกจาก สสส.ที่เข้าไปพัฒนาศูนย์เรียนรู้ให้มีบรรยากาศส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้แล้ว สอร.เชิญหน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานด้านการอ่านและหลายประเด็น เช่น การศึกษา สุขภาพ ภูมิปัญญา วัฒนธรรม สาธารณสุข สุขภาวะ ผู้ด้อยโอกาส การเกษตร และอาชีพ ช่วยหนุนเสริมโครงการนี้ เป้าหมายมีชัดเจนคัดเลือกศูนย์เรียนรู้ใกล้บ้าน 200 แห่งกระจายไปยังทั่วประเทศ
ล่าสุด สสส.ร่วมเป็น 1 ใน 7 ภาคีกับสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ลงนามในบันทึกข้อตกลง โครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ระดับตำบล โดยมีพลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานพิธีพร้อมมอบนโยบายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพคนไทย ณ โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ นอกจากนี้ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 2 ให้แก่ผู้แทนจากศูนย์เรียนรู้ใกล้บ้าน 200 แห่ง เพื่อเติมพลังไฟสร้างสรรค์ชุมชนด้วย
หัวใจสำคัญของเอ็มโอยูครั้งนี้มุ่งขยายโอกาสการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ให้แก่คนไทยในระดับชุมชน ปลูกฝังทัศนคติการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเข้าไปร่วมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ชุมชนให้เป็นพื้นที่ซึ่งมีบรรยากาศเอื้อต่อการอ่านและการเรียนรู้ มีสื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัยและสร้างสรรค์ ประกอบไปด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายกระตุ้นให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพของคนในท้องถิ่น
สำหรับ ศูนย์เรียนรู้ที่ได้รับการคัดเลือก 200 แห่งสอดรับนโยบายรัฐบาลที่จะขยายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตเตรียมความพร้อมให้กับคนไทยไปสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based economy) แยกเป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชนของกระทรวงดิจิทัล 70 แห่ง ห้องสมุดประชาชนของ กศน. 54 แห่ง ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) 31 แห่ง แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. 30 แห่ง และเครือข่าย TK park 15 แห่ง
สุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า จุดเด่นของแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้านต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ที่คนในชุมชนเข้าถึงได้ง่าย มีเวลาให้บริการที่เหมาะสม แล้วต้องมีพื้นที่จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ เรื่องบุคลากรประจำแหล่งเรียนรู้ก็สำคัญ ต้องมีทัศนคติที่ดีส่งเสริมการอ่าน มีประสบการณ์ส่งเสริมการอ่านโดยตรง
สุดใจบอกว่า การเข้าไปสนับสนุนโครงการนี้มีแผนพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ขณะเดียวกันทำงานร่วมกับภาคี สำหรับแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน 30 แห่งที่ได้ร่วมมือ กระจายในภาคเหนือ อีสาน และใต้ ในจำนวนนี้มี 2 แห่ง ได้รับคัดเลือกเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ ได้แก่ ห้องสมุดชุมชน สถาบันไทเลยเพื่อการพัฒนา อ.เอราวัณ และศูนย์พัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ตำบลเหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ หลายแห่งมีการขยายเครือข่ายมากขึ้น รวมถึงจะขยายกลุ่มเป้าหมายไปสู่ผู้ใหญ่ เดิมเน้นเด็กและเยาวชน
ด้าน รังสรรค์ หังสนาวิน ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน พช. กล่าวว่า จุดเด่นของศูนย์เรียนรู้เป้าหมายเพื่อให้คนในชุมชนมีความพร้อมในการใช้ชีวิตและการทำประโยชน์พัฒนาชุมชน มีการถ่ายทอดความรู้การจัดการตนเอง เช่น ฝึกคุณธรรมผ่านการออมเงิน และกิจกรรมเรียนรู้ ส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาให้เกิดประโยชน์ ทั้งทำเกษตรให้ได้ผลผลิตที่ดี
"บรรยากาศของศูนย์เรียนรู้ใกล้บ้านต้องเป็นกันเอง สารที่นำมาถ่ายทอดต้องมีความหลากหลาย เพราะคนในชุมชนมีทุกเพศทุกวัย มีการจัดทำเนียบครูภูมิปัญญา ยังเห็นว่าความยั่งยืนของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในปี 61 ต้องดึงทรัพยากรและภูมิปัญญาที่มีผสานเทคโนโลยีในโลกยุคดิจิทัลที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว เพื่อให้มีศักยภาพเป็นศูนย์กลางเรียนรู้" รังสรรค์กล่าว
การเรียนรู้ตลอดชีวิต ทำได้จริง ประดินันท์ สดีวงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย กล่าวว่า กศน.จะสนับสนุนโครงการและขยายศูนย์เรียนรู้ใกล้บ้านให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นเพื่อจัดการศึกษาตลอดชีวิต มีช่องทางให้ประชาชนเข้าสู่การศึกษากิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ไม่รู้หนังสือ การศึกษาทางไกล การเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น การพัฒนาอาชีพระยะสั้น และอาชีพที่สอดล้องกับกับบริบทปัจจุบัน เช่น การขายสินค้าออนไลน์
"กิจกรรมที่สำคัญในอนาคต คือ จัดการศึกษาตามอัธยาศัย ห้องสมุดประชาชนของ กศน. มีระดับตำบล อำเภอ และจังหวัดทั่วประเทศมี 900 กว่าแห่ง ทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่านหลากหลาย เป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนใกล้บ้านที่ดี จัดอบรมบรรณารักษ์ทำคลิปและสื่อออนไลน์เจาะกลุ่มเป้าหมาย นร. นศ. แนะนำหนังสือดี น่าสนใจ แล้วยังมีโครงการนั่งที่ไหน อ่านที่นั่น ส่งเสริมการอ่านตามร้านก๋วยเตี๋ยว ส้มตำ สถานีตำรวจ ในระดับตำบล มีบริการยืม-คืน แล้วยังมีบ้านหนังสือชุมชน จิตอาสาทำงานร่วมกับ กศน. เป้าหมายเดียวกับโครงการนี้เป็นศูนย์เรียนรู้ใกล้บ้าน" รองเลขาฯ กศน.กล่าว และฝากในท้าย พลังเครือข่ายมีความสำคัญในการทำงานศูนย์เรียนรู้ใกล้บ้านให้ยั่งยืน แต่ละภาคีต้องพัฒนาต้นแบบเพิ่ม และสร้างแรงบันดาลใจให้ศูนย์เรียนรู้อื่นๆ ต่อไป