พ.ร.บ. แม่วัยรุ่น เด็กต้องได้รับการศึกษาต่อ
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
กระทรวงศึกษาธิการเตรียมอบรมความรู้แก่คุณครู ให้พร้อมรับ พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เด็กได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง รู้เท่าทันโซเชียล และการอนามัยเจริญพันธุ์
รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึง พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ซึ่งกำหนดให้วัยรุ่น หมายถึงบุคคลอายุ 10-20 ปี เน้นการให้สิทธิแก่วัยรุ่น เรื่องการเข้าถึงบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ ที่เป็นมิตรโอกาสในการได้รับการศึกษา ว่าเมื่อ พ.ร.บ. ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ สิ่งที่ ศธ. ต้องดำเนินการคือศึกษารายละเอียดมาตราที่เกี่ยวข้องกับ ศธ. ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการจัดการศึกษา รวมไปถึงการจัดทำหลักสูตรอบรมครูและผู้บริหารให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ผ่านระบบการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือระบบทีอีพีอี ออนไลน์ ด้วย
"จากนี้ไปผู้บริหารและครูทุกคน จะต้องรับรู้ว่าต่อไปหากมีกรณีการตั้งครรภ์ในเด็กวัยเรียน ที่ยังเรียนอยู่ในสถานศึกษา ต้องถือเป็นสิทธิของเด็กที่จะได้รับการศึกษาต่อไปโรงเรียนจะปฏิเสธจัดการศึกษาให้เด็กไม่ได้อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ยังเป็นข้อถกเถียงเกี่ยวกับการให้ความรู้ เรื่องของการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน หรือการสอนเพศศึกษา ครูจะต้องให้ความสำคัญกับการให้ความรู้มากขึ้นอย่างไร เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการอบรมครูและผู้บริหารให้มีความเข้าใจรู้เท่าทันสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อที่จะได้รู้ว่าเด็กกำลังสนใจเรื่องอะไร จะได้สามารถจัดหาข้อมูลมาให้ความรู้แก่เด็กได้อย่างเหมาะสม" รศ.นพ.กำจรกล่าว
อนึ่งก่อนหน้านี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของนักเรียน ม.ต้นม.ปลาย และ ปวช.ใน กทม. และ 4 จังหวัดใหญ่ในภูมิภาค พบเสียงส่วนใหญ่ต้องการให้มีการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาเพศศึกษาอย่างรอบด้าน และวิธีการคุมกำเนิด โรงเรียนต้องประสานหรือหาแหล่งช่วยเหลือ ด้านสังคม และการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ตั้งครรภ์ส่งต่อระบบสวัสดิการสังคม ส่วนกรณีคลินิกวัยรุ่นนั้นกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าควรได้รับความเป็นมิตรและปราศจากอคติของเจ้าหน้าที่ในการขอคำปรึกษา ควรเป็นความลับ และไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยช่องทางที่สะดวกที่สุดในการติดต่อเฟซบุ๊กและที่น่าสนใจคือ เมื่อ พ.ร.บ.ประกาศใช้ จะมีผลทำให้เยาวชนเลือกที่จะเรียนต่อจนกว่าจะคลอด ถึงร้อยละ 50 หรือลาพักเพื่อคลอดก่อนแล้วกลับมาเรียนต่อร้อยละ 43.6 เท่า กับว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวจะช่วยลดปัญหาการออกกลางคัน เนื่องจากที่ผ่านมาหากเยาวชน ประสบปัญหาตั้งครรภ์ในวัยเรียน ก็จะตัดสินใจด้วยการลาออกเป็นส่วนใหญ่