“พ.ร.บ. นมผง” ปลุกพลังสังคมนมแม่
ที่มา : เว็บไซต์สยามรัฐ
แฟ้มภาพ
รวมพลังสร้างสังคมนมแม่ บังคับใช้ "พ.ร.บ. นมผง"
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน องค์กร Alive and Thrive องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงาน "รวมพลังสร้างสังคมนมแม่ให้ยั่งยืน" ในวาระสัปดาห์นมแม่โลก 2560 โดยปีนี้มีวาระพิเศษคือ การออก "พ.ร.บ. นมผง" ซึ่งได้ผลักดันอย่างยาวนานถึง 36 ปี และจะมีผลบังคับใช้ 9 กันยายน ศกนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปีนี้การจัดงานเฉลิมฉลองสัปดาห์นมแม่โลกในประเทศไทยมีวาระพิเศษกว่าทุกปี เนื่องจากพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2560 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ มีไว้เพื่อปกป้องหญิงตั้งครรภ์ แม่และครอบครัวที่มีทารกและเด็กเล็กจากการส่งเสริมการตลาดที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในการเลือกอาหารให้ทารกและเด็กเล็ก ซึ่งเป็นช่วงวัยที่เปราะบางที่ควรได้รับอาหารที่เหมาะสม คือ นมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต และนมแม่พร้อมอาหารตามวัยจนถึงอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้น
กฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้แม่และครอบครัวได้รับข้อมูลเกี่ยวกับอาหารสำหรับทารก หรืออาหารเสริมทารกในแง่มุมที่ถูกต้อง ดังนั้นจึงอยากขอการสนับสนุนให้สื่อมวลชน รวมถึงทุกๆ หน่วยงานให้ความสนใจและช่วยกันผลักดันให้กฎหมายมีผลบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และร่วมกันรณรงค์ให้สังคมไทยเป็นสังคมนมแม่ที่ยั่งยืน
นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยอยากสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยหลักง่ายๆ คือ “นมแม่ 1-6-2” เลข 1 หมายถึง การให้ทารกได้กินนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด เลข 6 หมายถึง การให้ทารกได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียว 6 เดือนแรก และเลข 2 หมายถึง การให้ทารกและเด็กเล็กได้กินนมแม่ต่อเนื่อง 2 ปี หรือนานกว่านั้นตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ปัจจุบันทารกที่ได้กินนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอดมีร้อยละ 39.9 และกินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน มีเพียงร้อยละ 23 ส่วนแม่ที่ให้นมลูกนานได้ถึง 2 ปีมีเพียงร้อยละ 16 ซึ่งยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมอนามัยพร้อมภาคีเครือข่าย จึงร่วมกันผลักดันนโยบายภาครัฐให้สนับสนุนแม่และครอบครัวได้เข้าใจข้อเท็จจริงว่า นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก นอกจากนั้นยังต้องร่วมกันปกป้องแม่และครอบครัวจากกลยุทธ์การส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กต่างๆ และช่วยกันสื่อสารไปยังสถานที่ทำงานให้เอื้อเฟื้อการจัดตั้งมุมนมแม่ มีผู้บริหารและเพื่อนร่วมงานให้เข้าใจต่อการบีบเก็บน้ำนม เพื่อให้แม่ทำงานสามารถเลี้ยงลูกนมแม่ได้ตามเป้าหมาย
แพทย์หญิง ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในวันที่ 1-7 สิงหาคมของทุกปี เป็นสัปดาห์นมแม่โลก การจัดงานครั้งนี้ ภาคียังคงผนึกกำลังอย่างเหนียวแน่นเพื่อขับเคลื่อนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ยั่งยืนในสังคมไทย เริ่มจากโรงพยาบาล ไปสู่ชุมชน และครอบครัว ให้การสนับสนุน ส่งเสริม และปกป้อง ให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างเต็มที่ และทำให้เรื่องนมแม่เป็นเหมือนเรื่องปกติในวิถีชีวิตให้ได้ โดยการสนับสนุน “เส้นทางเพื่อช่วยให้แม่ให้นมแม่ได้สำเร็จ” (Breaking the Barrier to Successful Breastfeeding) ซึ่งประกอบด้วย 6 ประเด็น ได้แก่ 1. การลงทุน 9 เดือน กำไรตลอดชีวิต 2. รู้ว่ามีน้อง ฝากท้องทันที 3. โฟเลต ไอโอดีน ธาตุเหล็ก สำคัญต่อลูกในท้อง 4. ชั่วโมงแรกที่ลูกเกิด บอกหมอ พยาบาล ช่วยนำลูกมาวางบนอกแม่ตั้งแต่ในห้องคลอด 5. วันแรกที่ลูกเกิดแยกแม่แยกลูกหลังคลอดไม่ดีนะ และ 6. น้ำนมมาแน่ถ้าแม่รู้และทำถูกวิธี