พ่อแม่ใส่ใจ’คุยเรื่องเพศ’กับลูก

เชื่อมความสัมพันธ์ 'คุยเรื่องเพศ'กับ ลูก thaihealth


แฟ้มภาพ


มีการรณรงค์มาพอสมควรเกี่ยวกับการให้พ่อแม่พูดคุยเรื่องเพศกับลูก ซึ่งพ่อแม่หลายคนก็ขานรับสารดังกล่าว ไม่มองเป็นเรื่องชี้โพรงให้กระรอก เพราะตระหนักในความสำคัญ และรู้ว่าปัญหาท้องไม่พร้อมและปัญหาเรื่องเพศต่างๆ ของวัยรุ่น ล้วนมาจากการที่พ่อแม่ไม่สอนเรื่องเพศกับลูกในเชิงสร้างสรรค์


แต่ถึงจะเห็นความสำคัญ อุปสรรคใหญ่ที่ทำให้พ่อแม่หลายคนอ้ำๆ อึ้งๆ คือ ความอาย ด้วยทัศนคติที่ว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องส่วนตัวบทสนทนาเรื่องเพศระหว่าง "พ่อแม่ลูก" จึงกลายเป็นความ "เงียบงัน" ที่สุดท้ายเด็กก็ไปลองผิดลองถูกกันเอง คนไหนไม่มีปัญหาก็ดีไป แต่คนไหนเกิด "โป๊ะแตก" ปัญหาก็ตามมายาวยืด


เพื่อเผยแพร่ทักษะการพูดคุยเรื่องลูกกับเพศเชิงบวก ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานนิทรรศการวิชาการและเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ "ตลาดเล่นให้เป็นงาน" โดยได้ "รัชดา ธราภาค" จากมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) มาแนะวิธีพูดเรื่องเพศกับลูก


ความสำคัญพูดเรื่องเพศกับลูก


"สมัยก่อนคนจะคิดว่าไม่ต้องพูดกับลูกเรื่องเพศก็ได้ พอโตก็เรียนรู้ไปเอง แต่ว่าสังคมเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อก่อนกว่าจะได้หนังสือโป๊มาสักเล่มหนึ่งมันยาก แต่สมัยนี้เด็กเข้าถึงเทคโนโลยีกันหมด เด็กใช้มือถือ เข้าถึงอะไรไม่รู้เต็มไปหมด แล้วเขาดูอะไรบ้าง พ่อแม่รู้ไหม" รัชดาตั้งคำถาม


เชื่อมความสัมพันธ์ 'คุยเรื่องเพศ'กับ ลูก thaihealthทั้งที่เรื่องเพศเป็นเรื่องที่พ่อแม่ "ห่วง" มากที่สุด "ทั้งที่ห่วงมากที่สุด แต่เป็นเรื่องที่คุยยากที่สุด" รัชดาว่า เหตุผลที่คุยยาก เพราะความเป็นห่วงที่ทำให้เผลอ “ดุว่าเด็ก" มากกว่าที่จะใช้วิธีพูดคุยมีเหตุผล พ่อแม่ส่วนใหญ่ ทั้งอาย ทั้งไม่กล้า หรือถ้าพูดก็พูดแบบดุ แบบห้าม เมื่อดุแล้ว ห้ามแล้ว คำเหล่านี้คือตัวรับประกันหรือเปล่าว่าเด็กจะเชื่อฟัง ทางที่ดี ลอง 'พลิกมุมคิด' เรื่องเพศ ดีกว่าไหม


รัชดาบอกว่า การมองเรื่องเพศเป็นเรื่องสกปรก ลามก ไม่ควรนำมาพูดคุยกัน ทัศนคติเช่นนี้เกิดจากการมองในมุมแคบว่าเป็นเรื่องเพศสัมพันธ์เท่านั้น แต่หากมองอีกมุมว่า เรื่องเพศครอบคลุมหลายมิติ ทั้งเรื่องสุขภาพและการจัดการความสัมพันธ์


"ถ้าเราไม่พูด ลูกจะเรียนรู้จากอะไร ดูแลสุขภาพตัวเองอย่างไร ลูกจะคบคน คบเพื่อนต่างเพศอย่างไร ให้มองว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องเพศสัมพันธ์ แต่เป็นเรื่องสุขภาพด้วย เป็นเรื่องความสัมพันธ์กับคน ก็ต้องมีวิธีสื่อสารตั้งแต่เด็กๆ โดยสื่อสารให้เขารู้จักสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสมัยนี้ เด็กถูกละเมิดทางเพศเยอะ"


พูดคุยเรื่องเพศเชิงบวก


การพูดกับลูก รัชดาบอกว่า ไม่มีประโยคมาตรฐาน ไม่มีไดอะล็อก แต่วิธีการคือพ่อแม่จำเป็นต้องใช้ทักษะ "การฟังอย่างมีสติ"


"การฟังอย่างมีสติ ต้องเริ่มจากตั้งสติของเราให้มั่นคง เปิดใจรับฟังสิ่งที่ลูกพูด ฟังอย่างสงบ ไม่โต้แย้ง ไม่ขัดจังหวะ ไม่ใจร้อนเกินไป ไม่ตัดสินลูกเร็วเกินไป ฟังก่อนแล้วนั่นจะเป็นโจทย์ที่สื่อสารกับลูก วิธีนี้ส่งผลเชิงบวกและมีพลังทั้งต่อผู้พูดและผู้ฟัง เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน ฝึกบ่อยๆ จะทำได้ง่ายขึ้นและเป็นธรรมชาติ"


อีกวิธีการที่สำคัญคือ "บริหารอำนาจกับลูกอย่างสร้างสรรค์" "พ่อแม่หลายคนลืมไปแล้วว่าเราใช้อำนาจกับคนใกล้ตัวอย่างไร เพราะลูกอยู่ในอำนาจเรา เราเป็นพ่อแม่ เป็นผู้ใหญ่กว่า ลูกอยู่บ้านเรา ลูกไม่มีทางสู้หรอก เราใช้อำนาจได้เต็มที่ใช่ไหม"


"ทั้งที่ความสัมพันธ์ที่เอื้อให้เกิดการสื่อสารอย่างเป็นมิตรระหว่างเรากับลูกได้นั้น นอกจากต้องฟังอย่างมีสติแล้ว ยังจำเป็นต้องมีกระบวนการที่ทำให้ทั้งเราและลูกรู้สึกดี เป็นมิตร ใกล้ชิด เท่าเทียม กล้าเปิดใจคุยกันมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยการลดการใช้อำนาจเหนือกว่าของเรา ทำอย่างไรถึงจะไม่ใช้อำนาจจนลูกเงียบไปเลย"


คุยได้ ตอบได้ง่ายๆ เพียงรู้หลัก


พ่อแม่ผู้ปกครองอาจคิดว่าคนที่จะคุยกับลูกได้ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นหมอ ครู หรือนักจิตวิทยา และเกิดความไม่มั่นใจว่าตัวเองจะสามารถตอบข้อสงสัยของลูกได้ แต่อันที่จริงแล้วการพูดคุยกับลูกเรื่องเพศ ใครก็ทำได้ เพียงรู้หลักง่ายๆ เพียงไม่กี่ข้อ


1.ตอบให้เหมาะกับวัย เด็กมักมีความสนใจเรื่องเพศและความสามารถในการเข้าใจแตกต่างกัน คำถามเดียวของเด็กในเชื่อมความสัมพันธ์ 'คุยเรื่องเพศ'กับ ลูก thaihealthแต่ละช่วงวัย พ่อแม่ต้องมีวิธีการตอบที่แตกต่างกันออกไป


2.ตอบตรงไปตรงมา พ่อแม่ไม่ควรตอบเลี่ยงๆ หรือโกหก เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกไม่ได้ หรือสับสน ไม่เกิดการเรียนรู้


3.สร้างมุมมองเชิงบวกต่อร่างกายตัวเอง เพราะจะเป็นพื้นฐานให้เด็กแสวงหาความรู้และดูแลตัวเองได้ดีต่อไป เช่น เด็กเล็กๆ ชอบสัมผัสอวัยวะเพศ พ่อแม่ไม่ควรดุ ตี หรือห้ามปราม แต่ควรสอนเรื่องความเป็นส่วนตัวว่า เป็นของส่วนตัวนะลูก อย่าเปิดให้คนอื่นดู อย่าให้คนอื่นจับ ซึ่งจะทำให้เด็กๆ รู้จักดูแลร่างกายเมื่อพวกเขาโตขึ้น


4.ตอบให้ลูกมั่นใจที่จะเป็นตัวของตัวเอง เด็กทุกวัยมักถามเรื่องความแตกต่าง และกังวลที่ตัวเองไม่เหมือนเพื่อน พ่อแม่ควรตอบให้ลูกมั่นใจว่า ทุกคนมีความแตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา 5.คำตอบต้องไม่ทำร้ายคนอื่น เพื่อให้เด็กเปิดใจกว้าง เข้าใจความรู้สึก และไม่ดูถูกคนอื่น


สุดท้าย รัชดาฝากว่า เราต้องปรับตัวตามสภาพสังคม การสื่อสารเรื่องเพศเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ตั้งแต่ฝรั่งจนถึงเด็กบนดอย ลูกกำลังเล่นอะไรอยู่ในมือ ทำยังไงถึงจะพูดกันรู้เรื่อง ถึงจะลดช่องว่างตรงนี้ เพราะเด็กทุกคนอยู่ในโลกใบเดียวกัน


"การพูดคุยเรื่องเพศเชิงบวก คือ การพูดถึงทัศนคติที่ดีต่อร่างกาย เชื่อมโยงกับเรื่องเพศ เปลี่ยนความคิดและบอกให้เด็กรู้ว่ามันไม่ได้น่ารังเกียจ และสอนให้เด็กดูแลตัวเองตั้งแต่เด็กๆ เพราะถ้าเขารักตัวเอง รู้ว่าตัวเองต้องดูแลอย่างไร ใครจะมาทำอะไรกับเขาไม่ได้ ถ้าไม่เต็มใจ เขาจะรู้จักปฏิเสธ รู้ว่านี่เป็นสิทธิของฉัน"


"ซึ่งนี่คือการสอนให้เด็กคิดเป็น และน่าจะกำจัดไปได้หลายปัญหาทีเดียว" รัชดาทิ้งท้าย


เวิร์กช็อปเพื่อ'พ่อแม่'


ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับโครงการพัฒนากลไกขยายผลองค์ความรู้สุขภาวะ จัดกิจกรรมการเรียนรู้ หัวข้อ "พลิกมุมมองเรื่อง เพศคุยกับลูกเชิงบวก" สำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้ดูแลเด็กทุกช่วงวัย ใน วันที่ 30-31 มกราคม, 12-13 มีนาคม และ 9-10 กรกฎาคม2559


สนใจสามารถสอบถามได้ที่ 0-2874-4828 มือถือ 08-9954-2728 หรือ [email protected]


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ