พ่อแม่ร่วมเรียนรู้ปัญหาเด็กกับสื่อ หนุน พ.ร.บ.กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ฉบับประชาชน

 

ในช่วงที่ผ่านมา มีข่าวไม่สู้ดีเกี่ยวกับเด็กอยู่ 2-3 เรื่องที่น่าจะหยิบยกเอามาพูดคุย นั่นคือ ข่าวเด็ก 8 ขวบแขวนคอเลียนแบบในทีวี เด็กติดเกมแทงแม่เสียชีวิตเหตุพราะโดนแม่บ่นเรื่องเล่นเกมอยู่บ่อยๆ และเด็ก ป. 1 ได้รับแจกแท็บเล็ตไปแล้วกดเข้าเว็บโป๊ได้ เด็กบางคนเอาแต่นั่งจิ้มๆ กดๆ ไม่สนใจใคร

ก่อนหน้านี้ ยังมีเรื่องคลิปเด็กตบกันแพร่ในเน็ต เด็กอยากหน้าขาว ตากลมโต หุ่นผอมบางเหมือนดาราเกาหลี ถึงกับสั่งซื้อไวท์เท็นนิ่ง บิ๊กอายส์ กาแฟลดความอ้วนจากอินเทอร์เน็ต บางรายกินแล้วเสียชีวิต บางรายตาเกือบบอด เหล่านี้เรียกว่าเป็นผลจากการเสพสื่ออย่างไม่รู้เท่าทันก็เห็นจะได้ เด็กทุกวันนี้อยู่กับสื่อ ดูสื่อ และใช้สื่อแบบไม่ค่อยคิดอะไร ดูเพื่อบันเทิง ดูเพื่อทำตาม ดูเพื่อจะคุยกับเพื่อนได้ เด็กอยู่กับสื่อทั้งวัน แต่สื่อดีๆ กลับมีน้อย ส่วนพ่อแม่ก็ไม่มีเวลาดูแลลูกเพราะมัวแต่ทำมาหากิน  คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต แท็บเล็ต สมาร์ทโฟนเป็นของเล่นทันสมัยของคนยุคนี้ที่จะต้องซื้อหามาใช้ให้ทัดหน้าเทียมตาคนอื่น โดยไม่ได้ดูถึงความจำเป็น ความคุ้มค่าของการใช้งาน อุปกรณ์เหล่านี้ได้เปิดช่องทางนำเราเข้าสู่เนื้อหาข้อมูลมากมายมหาศาล ติดต่อสื่อสารกับผู้คนมากหน้าหลายตา รวดเร็วชนิดที่ว่าหากจับไม่ได้ไล่ไม่ทันก็คงจะต้องตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่แฝงตัวเข้ามาหาประโยชน์ ตกเป็นเหยื่อของการโฆษณา คล้อยตามความเชื่อหรือค่านิยมที่ผู้ผลิตยัดเยียดให้เป็นแน่

จากปัญหาที่เพิ่มมากขึ้นของสื่อในการนำเสนอภาพความรุนแรง เนื้อหาล่อแหลมไม่เหมาะสมต่างๆ แม้จะมีการจัดเรตติ้งรายการทีวี ตัว ด. เด็ก หมายถึงรายการที่เหมาะสำหรับเด็ก น.หนู หมายถึงรายการที่ผู้ปกครองต้องแนะนำหากเด็กมีอายุต่ำกว่าที่กำหนด แต่จากผลโพลเร็วๆ นี้ของ มศว. กลับพบว่าเรตติ้งไม่ได้ถูกนำมาใช้ในทางปฏิบัติ ประชาชนยังขาดความตระหนักเรื่องพิษภัยจากละครทีวีรุนแรง โพลสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองต่อกรณีเด็ก 8 ขวบผูกคอตายเลียนแบบละครแรงเงาและรายการคนอวดผี ผู้ปกครอง 43% เห็นว่าเกิดจากการปล่อยให้บุตรหลานดูทีวีตามลำพังโดยไม่มีการดูแลแนะนำอย่างใกล้ชิด แม้จะมีคนเห็นว่าเด็กรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือเด็กอาจมีปัญหาอื่นอยู่บ้างแต่ก็เป็นความเห็นรองๆ ลงมา ในขณะที่ผู้ปกครอง 38% เห็นว่าการกำหนดเรตติ้งรายการ-ละครทีวีไม่น่าจะช่วยลดปัญหาสังคมหรือการลอกเลียนแบบได้ เนื่องจากไม่ได้มีการให้ความรู้ประชาชนในเรื่องนี้ให้มีการนำไปใช้อย่างจริงจัง นับประสาอะไรกับอินเทอร์เน็ตที่ยังไม่มีระบบคัดกรองหรือจัดเรตติ้งเว็บไซต์ จึงเป็นไปได้มากที่เด็กจะเข้าสู่เนื้อหาล่อแหลม/ไม่เหมาะสมทางออนไลน์ได้ง่ายกว่า เข้าได้ตลอดเวลา

พ่อแม่แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องปัญหาของสื่อกับลูกและวิธีการป้องกัน

พ่อแม่คงปฏิเสธความรับผิดชอบในฐานะผู้ปกครองที่จะต้องดูแลชี้แนะบุตรหลานไม่ได้ แต่พ่อแม่ยุคนี้ก็ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับเด็กตลอด ครูก็มีภารกิจมากล้น และเนื่องด้วยสื่ออยู่รอบๆ ตัวเด็กตลอดเวลา ทั้งกลยุทธ์ทางการค้าและเทคนิคของสื่อในปัจจุบันนั้นก้าวล้ำนำไปไกลมาก ภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งที่อยู่กับตัวเด็กที่เรียกว่า “รู้เท่าทันสื่อ” เท่านั้น ถึงจะนำพาเด็กให้รอดปลอดภัยจากผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดจากสื่อ คำถามคือว่า ใครล่ะจะเป็นคนฉีดภูมิคุ้มกันอันนี้ให้กับเด็ก เนื่องจากเป็นปัญหาระดับชาติไปแล้ว ทุกภาคส่วนจะต้องมาช่วยกันทำเรื่องนี้ ถึงเวลาแล้วที่ทีวี วิทยุ อินเทอร์เน็ต สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ทุกแขนงของสื่อ ต้องมาร่วมรับรู้ว่าสื่อของเรามีปัญหา และร่วมกันหาวิธีป้องกันและแก้ปัญหาอย่างมีเอกภาพ แบบบูรณาการกัน

เด็กๆ เรียนรู้เพื่อเท่าทันสื่อ

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ฉบับประชาชน จะเข้ามามีบทบาทสำคัญก็ตรงนี้  เนื่องจาก กองทุน ไม่ได้หมายถึงเงินเท่านั้น แต่รวมไปถึงความคิด ความรู้ ความร่วมมือ ทรัพยากรจากทุกภาคส่วนในสังคมที่จะมาร่วมด้วยช่วยกันสนับสนุนการใช้สื่อเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้แก่เด็ก เยาวชน และครอบครัว ส่งเสริมผู้ผลิตสื่อดี สื่อเพื่อเด็กและครอบครัว สื่อภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาผู้ผลิตสื่อที่มีคุณธรรมนำหน้าผลประโยชน์ ผู้ผลิตสื่อที่เป็นเด็ก เยาวชน และชุมชน ศึกษาวิจัยและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับวงการสื่อบ้านเรา และที่สำคัญคือการสร้างวัฒนธรรมการ “ดูสื่อรู้ทัน อ่านสื่อออก” หรือ การรู้เท่าทันสื่อ ให้กับคนไทยนั่นเอง

เครือข่ายผู้ปกครองหนุน พ.ร.บ. กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ฉบับประชาชน

ทักษะการใช้ไอซีที การคิดวิเคราะห์  คิดเชิงสร้างสรรค์ และการรู้เท่าทันสื่อ เป็นทักษะ 4 อย่างที่สำคัญสำหรับเด็กและเยาวชนในยุคนี้ ถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะต้องเอาจริงเอาจังในการปฏิรูปสื่อ ให้สื่อได้ช่วยพัฒนาทักษะเหล่านี้ให้กับเด็กแทนที่จะทำลายเด็ก มาร่วมสนับสนุน พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ฉบับประชาชน เพื่อคืนสิ่งดีๆ กลับสู่สังคมอย่างยั่งยืน

 

 

ที่มา : สำนักรณรงค์สื่อสารสังคม  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

Shares:
QR Code :
QR Code