พูดคุยเรื่องเพศกับลูกอย่างไร ไม่ให้อึดอัด กดดัน?

 

คุยเรื่องเพศอย่างไรไม่ให้อึดอัด กดดัน?

1. เตรียมความคิด สร้างความเชื่อมั่นให้กับตนเองว่า เรื่องเพศเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต

เรื่องเพศไม่ได้หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น แต่กินความกว้างกว่าเรื่องเพศสัมพันธ์มาก พยายามคิดถึงประโยชน์ที่ลูกๆ จะได้รับ เช่น ลูกมีทักษะต่อรอง ปฏิเสธ รู้จักป้องกันตนเอง เมื่อลูกสงสัยในเรื่องเพศ ก็จะไม่เรียนรู้จากเพื่อนๆ แต่จะเห็นพ่อแม่เป็นแหล่งข้อมูลชั้นเยี่ยม

2. เตรียมใจ พ่อแม่มักเชื่อว่าการคุยเรื่องเพศกับลูกต้องเตรียมข้อมูลมากมาย แต่ความเชื่อนี้ถูกพิสูจน์ว่าไม่จริงเลย

การเตรียมใจของเราให้ผ่อนคลาย อย่ากังวลเกินไปว่าลูกจะถามอะไร พ่อแม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่องที่ลูกถาม เมื่อคุณไม่รู้คำตอบ ก็ให้ตอบไปตามตรง และชักชวนกันค้นหาคำตอบ เช่น เดี๋ยวพ่อจะไปค้นข้อมูลก่อนนะ หรือเราลองไปค้นข้อมูลด้วยกันไหม จะทำให้การคุยเรื่องเพศกลายเป็นกิจกรรมที่สนุกที่เพิ่มความใกล้ชิดในครอบครัวด้วย

3. เตรียมเวลา เมื่อลูกๆ ถามเรื่องเพศ ไม่ควรด่วนหยุดการพูดคุยด้วยการส่งๆ

ถ้าไม้แน่ใจว่าควรตอบคำถามละเอียดและลึกแค่ไหน ควรถามกลับเพื่อตรวจสอบว่าลูกมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ มากน้อยแค่ไหน เขาอยากรู้อะไรกันแน่ เช่น อาจถามกลับว่า “ลูกหมายความว่า…ใช่ไหม ?” “ลูกเข้าใจว่าอย่างไร ?” หรือ “อันนี้เป็นคำถามที่ดีนะ ลูกได้ยินมาจากไหนหรือ ?”

4. พร้อมรับฟังเสมอ เมื่อลูกถามคำถาม หรือมีเรื่องมาเล่าให้ฟัง คุณควรฟังสิ่งที่ลูกพูดอย่างตั้งใจ และรับรู้ถึงอารมณ์ ความรู้สึกของเขาขณะพูด

ไม่ด่วนตัดสินผิด-ถูกก่อนที่จะฟังจนจบ เพราะทุกเรื่องของลูกเป็นเรื่องสำคัญเสมอ พูดคุยกับลูกด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน ไม่คาดคัเนพร้อมประคับประคองความรู้สึกของลูก

5. เรียนรู้โลกของลูก เด็กวัยเดียวกันมีการรับรู้ต่างกัน จึงไม้สามารถใช้คำตอบเดียวกันกับเด็กทุกคนได้ เพราะเด็กแต่ละคนมีความสามารถเฉพาะตัว

คุณจึงต้องหมั่นสังเกตว่า ลูกคบเพื่อนลักษณะใด แต่ละวันพอเจอเรื่องอะไรบ้าง อ่านหนังสือ หรือชอบดูรายการทีวีประเภทไหน สนใจชวนคุยเรื่องอะไร ช่างคิดมากน้อยแค่ไหน คุณก็จะรู้จักโลกของลูกคุณ รู้แนวทางว่าควรคุยเรื่องเพศกับเขาลึกซึ้งแค่ไหน เขาจะเข้าใจหรือไม่ รวมทั้งข้อมูลและทักษะที่ลูกควรรู้ เพื่อให้สามารถมีชีวิตทางเพศที่ปลอดภัย

6. จุดประเด็นพูดคุยโดยใช้เหตุการณ์รอบตัว คุณสามารถเริ่มพูดคุยเรื่องเพศกับลูกได้ในหลายโอกาส เช่น เมื่อมีหญิงท้องเดินผ่านมา ลองถามเด็กว่า “หนูคิดว่าเด็กเกิดมาจากไหน ?” “ลูกเคยเห็นผู้ชายตั้งท้องไหม ?” หรือขณะดูละครด้วยกันแล้วมีฉากรัก คุณอาจถามลูกว่า “ลูกคิดอย่างไรกับเรื่องนี้”

7. ไม่ยัดเยียดข้อมูล การพูดคุยเรื่องเพศจะกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อ หากคุณใส่ข้อมูลมากมายให้ลูก คุณไม่จำเป็นต้องกดดันตัวเองแบบนั้น ไม่ต้องคุยกับลูกเป็นเรื่องเป็นราว แต่ให้เลือกเวลาสบายๆ ที่คุณและลูกเพลิดเพลินด้วยกัน เช่น ขณะเดินเล่น ขับรถ ทำอาหาร ฯลฯ เริ่มประโยคแรกอย่างช้าๆ สบายๆ แล้วปล่อยให้การพูดคุยดำเนินไปเท่าที่ลูกมีความสนใจหรือสนุกที่จะคุย

8. ใช้คำถามเปิดกว้าง ไม่จู่โจม การชวนคุยแบบไม่เจาะจง คำถามเปิดกว้างและอ้างอิงถึงบุคคลอื่น จะทำให้ลูกสบายใจ ไม่รู้สึกว่าแม่กำลังจ้องจับผิด ลูกจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระมากขึ้น อาจใช้คำถาม เช่น “เพื่อนๆ ของลูก เขาเข้าใจคำว่า เป็นแฟนกันว่าอย่างไร ?” “ลูกคิดว่าดาราคนนี้เป็นสุภาพบุรุษหรือเปล่า ?” หรือ “สมมติว่าลูกต้องเจอกับสถานการณ์อย่างนี้ ลูกจะรู้สึกอย่างไร และลูกจะทำอย่างไร ?”

9. สอง “ไม่” กับการคุยเรื่องเพศ

ไม่ล้อเลียน

การพูดเรื่องเพศต้องพูดอย่างตรงไปตรงมา ไม่ควรพูดในเชิงล้อเลียน เช่น ล้อเลียนเด็กผู้ชายที่เรียบร้อยว่าเป็น “ตุ๊ด” “กะเทย” รวมถึงไม่ส่งเสริมให้เด็กเล็กๆ เล่นบทบาทสมมติในเรื่องเพศ เพื่อความสนุกขบขันของผู้ใหญ่ เช่น ยุยงให้เด็กผู้ชายไปกอด หรือหอมแก้มเด็กผู้หญิง และทำท่าล้อเลียนสิ่งเหล่านี้เป็นการบ่มเพาะให้เด็กละเมิดสิทธิผู้อื่น ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความรุนแรงทางเพศ

ไม่ขู่ให้กลัว

อันตรายจากเรื่องเพศทำให้พ่อแม่กังวลว่า เมื่อเด็กสนใจใคร่รู้เรื่องเพศแล้ว เด็กจะอยู่ในความเสี่ยง จึงเลือกใช้วิธีการขู่เพื่อให้เด็กระวังตัว แต่การขู่ให้กลัวนั้น กลับทำให้เด็กขาดความมั่นใจในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงจะปิดกั้นตัวเองจากการหาข้อมูล หรือทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตทางเพศที่ปลอดภัย แนวทางที่เหมาะสมคือ การอธิบายอย่างตรงไปตรงมาและกระตุ้นให้เด็กคิด วิเคราะห์สถานการณ์ เพื่อติดตั้งมุมมองว่า ความปลอดภัยขึ้นอยู่กับการแสวงหาข้อมูลและการเตรียมตัวที่ดี

 

 

ที่มา : แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

Shares:
QR Code :
QR Code