พื้นที่ชุมชนปลอดภัยลดจุดเสี่ยงทางถนน
จากการสำรวจ และ การเก็บข้อมูลทางสถิติ พบว่าการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย ยังเป็นปัญหาที่มีระดับความรุนแรง และ มีแนวโน้มว่า ความรุนแรงจะเพิ่มมากขึ้น โดยมีผลจากการเกิดอุบัติเหตุปรากฏตัวเลขออกมาว่า 2 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตนั้นตายในที่เกิดเหตุ สาเหตุหลักมาจากการขับรถเร็ว สภาพถนนไม่เหมาะสม และมีสิ่งกีดขวางอันตราย ผู้ขับขี่ไม่ใช่อุปกรณ์ป้องกันตัว ง่วงหรือหลับใน และเมาแล้วขับ รวมทั้งหลายทั้งปวง มูลเหตุสำคัญเกิดขึ้น จากความประมาทนั่นเอง
ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. และศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ได้ร่วมกันจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การจัดการความปลอดภัยทางถนน ของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน” ด้วยความต้องการจะส่งเสริมความรู้และจัดการความปลอดภัยทางถนนในชุมชน ให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) 12 แห่งทั่วประเทศ เข้าร่วมอบรมเพื่อนำความรู้ด้านความปลอดภัยทางถนน ไปถ่ายทอดให้กับชุมชนในท้องถิ่นให้สามารถจัดการความปลอดภัยทางถนนได้ด้วยตนเอง
รูปแบบ การอบรม จะเป็นการแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในหัวข้อสำคัญ คือ การสำรวจและค้นหาจุดเสี่ยง จุดอันตราย การเสนอทางเลือกในการแก้ไขจุดเสี่ยงในชุมชนทั้ง การจัดการความเร็ว การใช้ทางข้าม การจัดการจราจรบริเวณตลาดและหน้าโรงเรียน ผ่านการนำเสนอด้วยคลิปวีดีโอ ที่ผู้เข้าร่วมอบรมได้สำรวจจุดเสี่ยง และอันตรายในพื้นที่ชุมชน โดยมี ดร.ดนัย เรืองสอน ผู้อำนวยการแขวงการทางกรุงเทพฯ และ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ศวปถ. ร่วมวิเคราะห์และหาแนวทางแก้ไขปัญหาพื้นที่จุดเสี่ยงทางถนนภายในชุมชนอีกด้วย
ตัวอย่างการนำเสนอพื้นที่จุดเสี่ยงของ อบต.สวาย จ.สุรินทร์ คือ ถนนเป็นทางโค้งอันตรายที่มักจะเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เนื่องจากพื้นถนนชำรุดและเป็นหลุมจำนวนมาก รวมทั้งทัศนียภาพสองข้างทางเป็นพุ่มไม้ และหญ้าขึ้นสูงปกคลุมไหล่ทางและป้ายจราจรจนมองเห็นยาก เนื่องจากเป็นถนนนอกเมืองทำให้รถขับค่อนข้างเร็ว รถเสียหลักง่ายเพราะต้องคอยหลบหลุม และมักจะเข้าทางโค้งเลนถนนด้านในทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
อบต.แม่เย็น จ.เชียงราย ได้เสนอแนวทางแก้ไขจุดเสี่ยงในพื้นที่ซึ่งเป็นถนนสายหลักผ่านชุมชน จุดเสี่ยงเป็นถนนทางโค้งที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งจากการขับรถย้อนศร ขับรถตัดหน้า และการใช้จุดกลับรถทางลัดที่คนในชุมชนทำขึ้นเองตรงทางโค้ง เพราะจะได้ไม่ต้องขับรถไกลเพื่อกลับรถตรงจุดที่ทางหลวงกำหนด
ดร.ดนัย เรืองสอน ผู้อำนวยการแขวงการทางกรุงเทพฯ ได้ให้คำแนะนำวิธีลดจุดเสี่ยงของถนน จากการศึกษาพื้นที่จุดเสี่ยงของแต่ละชุมชน โดยเริ่มจาก อบต.สวาย จ.สุรินทร์ ว่า การควบคุมเส้นทางโดยปาดไหล่ทางที่ถูกปกคลุมด้วยหญ้าและพุ่มไม้ เพื่อให้ไหล่ถนนกว้างและมีทัศนียภาพดีขึ้น เป็นการลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ
ดร.ดนัย ยังแนะนำเพิ่มเติมว่า ปัญหาสำคัญคือ เมื่อถึงฤดูฝนจะเกิดน้ำขังบนไหล่ทางและทำให้พื้นที่ถนนพังเร็ว การร่วมมือร่วมใจกันของทุกคนในชุมชนสามารถทำได้ ทั้งการช่วยตัดหญ้าและพุ่มไม้ ปาดเศษดินออกจากไหล่ทางเพื่อไม่ให้น้ำขัง และถนนไม่เป็นหลุม ไม่พังง่าย ความปลอดภัยก็จะเกิดตามมา
สำหรับพื้นที่จุดเสี่ยงบนถนนหลักของ อบต. แม่เย็น จ.เชียงราย ผู้อำนวยการแขวงการทางกรุงเทพฯ แนะว่าทางถนนที่ตัดเข้าไปในชุมชนไม่มีการเชื่อมโยงกับถนนด้านในชุมชน และจุดกลับรถค่อนข้างไกล ทำให้ชาวบ้านขับรถย้อนศรออกจากถนนเส้นหนึ่งไปยังถนนอีกเส้นอยู่เป็นประจำ ทั้งนี้
เนื่องจากชุมชนมีถนนแบบก้างปลา ชุมชนสามารถร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจัดสร้างถนนโครงข่ายเชื่อมทางสายย่อยภายในชุมชนเพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่รวดเร็วบนถนนสายหลัก และเป็นการสร้างทางเลือกให้ชาวบ้านใช้เส้นทางสัญจรที่ปลอดภัย ลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้
จากการเปิดอบรมดังกล่าวทำให้มองเห็นว่า วิธีการป้องกัน และ ลดอุบัติเหตุที่จะทำลายชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนที่ใช้รถ ใช้ถนน ไม่ใช่เรื่องยากที่จะหาทางแก้ไข และ ระงับการเกิดอุบัติเหตุ ขอเพียงแค่ ทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และ ตั้งอยู่บนความไม่ประมาท ทุกชีวิตบนท้องถนนก็จะพบกับความปลอดภัย
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า