“พี่สอนน้อง” เปิดใจน้องๆ ให้สนุกกับวิชาภาษาอังกฤษ

ภาษาอังกฤษดูจะเป็นยาขมสำหรับคนไทยไม่เปลี่ยน แม้ใครจะพร่ำ บอกว่า ภาษาอังกฤษสำคัญแค่ไหน แต่ก็ยังไม่สามารถทลายกำแพงความยากที่อยู่ในใจของหลายคนได้



กับผู้ใหญ่ยังพอทำเนา แต่สำหรับเด็ก รุ่นใหม่แล้ว ถือเป็นเรื่องน่ากังวลยิ่งกว่า เพราะนับวันโลกยิ่งแคบลง การติดต่อสื่อสารกับต่างชาติ ต่างภาษา ถือเป็นเรื่องที่สามารถพบได้ทั่วไป การเตรียมความพร้อมให้เด็กรุ่นใหม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ จึงถือเป็นความจำเป็น


แต่สำหรับน้องๆ "กลุ่มรากแก้ว" ที่ ต.กันทรอม อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ไม่ต้องรอให้ใครมาบอก ทั้ง 5 สาวก็รู้ซึ้งถึงปัญหายาขมในวิชาภาษาอังกฤษ และเห็นว่าน้องๆ ชั้น ม.1 ไม่ชอบเรียนวิชาภาษาอังกฤษ พวกเธอจึงคิดว่า ถ้าทำให้น้องมีทัศนคติที่ดีต่อวิชานี้ตั้งแต่ยังเล็ก ก็จะเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการต่อยอดในวันข้างหน้า


นั่นจึงเป็นโจทย์ท้าทายให้ 5 สาวกลุ่มรากแก้ว ต.กันทรอม อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ รวมตัวกันจัดทำ "โครงการ Eng Easy สานใจเติมฝันเรียนรู้ร่วมกันจากพี่สู่น้อง" โดยใช้วิธี "พี่สอนน้อง" เปิดใจน้องๆ ให้กล้าคิด กล้าแสดงออก มีความสุข และสนุกกับการเรียนวิชาภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้น โดยพวกเธอถือเป็นหนึ่งใน 10 กลุ่มเยาวชนในโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ดำเนินการโดยศูนย์ประสานงาน การวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ ในการสนับสนุนของ สสส.และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)


มุ่ย-สตรีรัตน์ บังคม แกนนำกลุ่มจากชั้นม.6 โรงเรียนกันทรอมวิทยาคม เล่าที่มาของโครงการว่าเกิดจากความตั้งใจของมุ่ยและเพื่อนที่ต้องการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อชุมชน โดยได้รับคำแนะนำจาก รุ่งวิชิต คำงาม หัวหน้าโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ให้เริ่มต้นทำจากสิ่งเล็กๆ ใกล้ตัวที่สามารถทำได้และมีความสุขไปกับมัน ก่อนจะขยับขยายไปสู่ เรื่องอื่นที่ใหญ่และไกลตัวขึ้น จากคำแนะนำนี้เมื่อมองย้อนกลับมาที่โรงเรียนตัวเอง มุ่ยจึงเห็นปัญหาข้างต้น เมื่อนำมาปรึกษากับทีมประกอบด้วย อ๋อม-กรรณิการ์ เมธา ชั้น ม.6, ฟาง-ฐิติมา พรมสวัสดิ์ และ หมวย-ปิยธิดา เดชธรรมรงค์ ชั้น ม.3 ทั้งหมดก็เห็นตรงกันว่าจะทำโครงการสอนภาษาอังกฤษให้น้อง


เมื่อได้โจทย์โครงการ มุ่ย และเพื่อนจึงช่วยกันระดมความคิดว่าจะสอนภาษาอังกฤษอย่างไรให้น่าสนใจ และไปขอคำปรึกษาจาก ครูสุวิทย์ เลิศศรี หมวดวิชาภาษาต่างประเทศเพื่อเก็บข้อมูลว่าในห้องเรียนน้องๆ มีพฤติกรรมเป็นอย่างไร ชอบให้ครูสอนแบบไหน ในส่วนนี้ มุ่ยซึ่งมีประสบการณ์เรียนพิเศษยังพยายามจดจำวิธีการสอนจากที่เรียนพิเศษมาปรับใช้ และสืบค้นเพิ่มเติมจากเว็บไซต์สอนภาษาอังกฤษ ถัดจากนั้นจึงเป็นขั้นตอนของการแบ่งบทบาทหน้าที่ตามความถนัด มุ่ยกับฟางรับผิดชอบ เตรียมเนื้อหาและเป็นผู้สอน หมวยรับหน้าที่ถ่ายภาพ


ส่วนอ๋อมรับผิดชอบเรื่องการบริหารจัดการ โดยมี ซัน-อภิชญา เทาศิริ น้องเล็กจาก ชั้น ม.2 โรงเรียนขุนหาญวิทยาสรรค์ มาเสริมทีมช่วยเตรียมเกม เพลง และการ์ตูนไว้สร้างบรรยากาศ โดยวางแผนสอนครั้งละ 1 ชั่วโมงในช่วงเย็นวันพฤหัสบดี และวันศุกร์ รวม 10 ครั้ง หลังเปิดรับสมัครได้ไม่กี่วันก็มีน้องมาสมัครเข้าเรียนถึง 27 คน จนแอบรู้สึกหนักใจเพราะเกินโควตา 15 – 20 คนที่ตั้งใจไว้ แต่ทีมก็ไม่หวั่น เพราะน้องๆ มาด้วยความตั้งใจ ทีมจึงพร้อมจะสอนอย่างเต็มที่


บรรยากาศเปิดเรียนวันแรก มุ่ยและทีมเริ่มต้นด้วยการชี้แจงให้น้องทราบว่า โครงการนี้ ทำอะไร เพื่ออะไร และเปิดโอกาสให้น้องแสดงความคิดเห็นว่าอยากเรียนแบบไหน มีการทำแบบทดสอบเพื่อวัดความรู้ก่อนเรียน ในคาบต่อๆ มาจึงเปลี่ยนมาเริ่มต้นด้วยการเปิดเพลงภาษาอังกฤษรอน้องเข้าห้องจนครบ และชี้แจงว่าวันนี้จะได้เรียนอะไร เรียนไปเพื่ออะไร ต่อด้วยการเปิดการ์ตูนภาษาอังกฤษให้น้องชมและร่วมกันตอบคำถาม เป็นการอุ่นเครื่องก่อนเข้าสู่เนื้อหาหลัก


สาระสำคัญที่สอนน้อง มุ่ยบอกว่าเน้นไปที่ ทักษะการฟัง การอ่าน และการออกเสียง เพราะจากประสบการณ์ เด็กๆ ไม่กล้าพูดภาษาอังกฤษเพราะกลัวออกเสียงไม่ถูก เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่พวกเธอจะช่วยสร้างพื้นฐานที่ดีให้น้องได้


ระหว่างที่มุ่ย และฟางสอนอยู่หน้าชั้น อ๋อม หมวย และซัน จะเป็นผู้ช่วยอำนวย ความสะดวก ถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ และคอยส่งสัญญาณให้มุ่ย และฟางรู้อาการของน้องว่าเป็นอย่างไร ถ้าน้องไม่สนใจก็ต้องหาวิธีกระตุ้น ถ้าน้องไม่มีสมาธิ หรือกระตุ้นไม่ขึ้นจริงๆ ก็ต้องพัก เล่นเกมบ้าง กินขนมบ้าง และหลังการสอนหากมีเวลาเหลือก็จะให้น้องฝึกทำแบบฝึกหัด หากมีเวลาไม่พอก็ให้น้องกลับไปทำเป็นการบ้าน แต่ต้องไม่ให้มากเกินไปเพราะน้องมีการบ้านวิชาอื่นอยู่แล้ว


มุ่ยบอกด้วยว่า สิ่งที่ทั้งห้าคนต้องทำทุกครั้งหลังการสอนคือ "การขอบใจน้อง" ที่ให้ความร่วมมือ และบอกว่าครั้งต่อไปจะจัดกิจกรรมอะไร แบบไหน สุดท้ายเมื่อน้อง กลับบ้านแล้ว ทีมจึงมาสรุปการทำงานร่วมกัน บางครั้งก็เปิดวิดีโอที่ถ่ายไว้มาดูว่าบรรลุวัตถุประสงค์ไหม เพื่อนำไปปรับปรุงการสอนครั้งต่อไปให้ดีขึ้น


ด้วยความตั้งใจและความพยายามไม่ลดละ ผลความสำเร็จก็เริ่มเกิด น้องบางคนมีความมั่นใจในวิชาภาษาอังกฤษมากขึ้น เช่น น้องศักรินทร์ เปลี่ยนจากเด็กขี้อาย ไม่ตั้งใจเรียน ไปเป็นเด็กที่กล้าแสดงออก ตั้งใจเรียน จนได้เข้ากลุ่มพิเศษซึ่งโรงเรียนฝึกซ้อมไว้ไปแข่งขันภาษาอังกฤษ "เหมือนเราดึงศักยภาพของน้องออกมา เพราะจริงๆ เขามีอยู่แล้ว แต่เขาไม่กล้า ไม่รู้จะดึงออกมาอย่างไร เวลาที่อยู่กับพวกหนู ถ้าน้องตอบได้เราก็ปรบมือให้ สร้างกำลังใจให้น้อง ทำให้น้องชอบภาษาอังกฤษมากขึ้น น้องบางคนกล้าคุยกับเรา มีการบ้านก็มาถามเรา ปกติแล้วเด็กจะไม่กล้าคุยกับครู แต่กับเราที่เป็นรุ่นพี่ เขาจะกล้ามากกว่า" มุ่ยสะท้อน ยิ่งให้น้องทำแบบทดสอบหลังการสอนก็ยิ่งมั่นใจว่าน้องๆ มีพื้นฐานด้านภาษาอังกฤษดีขึ้น  ทั้งการพูด การฟัง และการอ่าน พร้อมที่จะเรียนต่อในขั้นที่สูงขึ้น  "การที่น้องกล้าปลดปล่อยตัวเองออกมา จำเป็นสำหรับการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ เพราะถ้าน้องพร้อมที่จะเรียนรู้ เขาก็จะสามารถเรียนรู้ และต่อยอดอะไรๆ ต่อไปได้" มุ่ยสะท้อนวิธีคิด


จิราวรรณ เทาศิริ ครูที่ปรึกษาของกลุ่มเผยว่า รู้สึกพอใจเกินคาด เพราะนอกจากนักเรียนจะรู้จักกระบวนการทำงานเป็นทีมอย่างที่เธอคาดหวังแล้ว เมื่อเด็กๆ ได้เรียนรู้ ผ่านการลงมือทำยังช่วยให้มีทักษะการคิดวิเคราะห์ โดย ครูมีหน้าที่เพียงกระตุกกระตุ้นในบางครั้ง เช่น การตั้งคำถามชวนให้เขาคิด


"โครงการนี้ช่วยให้เด็กพบสิ่งสำคัญที่สุดนั่นคือการเรียนรู้ด้วยตนเอง การค้นพบตนเอง อยากให้เขารู้ว่าเขามีศักยภาพ เหมือนกับที่เขาถามครูแล้วครูไม่ตอบแต่ถามกลับ ซึ่งถ้าเด็กจับได้ก็จะรู้ว่า คำถามนั้นเป็นเสมือนเข็มทิศ จะบอกเขาเสมอว่า ปัญหาบางอย่างถ้าเรามีสติ ยั้งคิด และวิเคราะห์ เราจะหาทางแก้ปัญหานั้นได้ ถ้าหนูมีกระบวนการคิด มีการวางแผนและการจัดการที่ดี มันก็ก้าวข้ามไปได้ นี่คือคำพูดให้กำลังใจ แล้วเราก็เฝ้าดู เฝ้าติดตามเขาตลอดเวลา" ครูจิราวรรณเล่าวิธีการเป็นโค้ชเยาวชนปิดท้าย


แม้จะยอมรับว่า "เหนื่อย" แต่พี่ๆ ทุกคนต่างก็ "ได้" ผลตอบแทนกลับไปถ้วนหน้า อย่างมุ่ย ก็บอกว่า ตัวเธอได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง และชัดเจนมากขึ้นกับการเลือกคณะเรียนต่อเพื่อมาเป็นครูสอนวิชาภาษาอังกฤษ ส่วนหมวยบอกว่าการทำงานกับพี่ๆ ทำให้หมวยเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นคนรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา และจัดสรรเวลาได้ ถูกต้อง ขณะที่อ๋อมก็ทบทวนตัวเอง และพบว่า โครงการนี้ได้ช่วยพัฒนาตนเธอให้มีความละเอียดรอบคอบ และรู้จักการวางแผน รับผิดชอบทั้งงานบ้านและงานที่โรงเรียน


"โครงการนี้ถึงมันจะไม่ได้ให้เกรดอ๋อม แต่มันทำให้ชีวิตของอ๋อมมีความหมายมากขึ้น" หนึ่งใน 5 สาวเผยความในใจที่สะท้อนถึง คำกล่าว "ยิ่งให้ ยิ่งได้" ชัดเจนยิ่งขึ้น.


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจาก www.xn--12ca7ef2bbco0c2a5cgr7oma.com

Shares:
QR Code :
QR Code