พิษคางคกทำลายระบบหัวใจถึงตาย

ที่มา : เว็บไซต์คมชัดลึกออนไลน์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


พิษคางคกทำลายระบบหัวใจถึงตาย thaihealth


แฟ้มภาพ


แพทย์เผยพิษคางคกแรง  ออกฤทธิ์เร็วทำลายระบบหัวใจถึงตาย ห้ามรับประทานเด็ดขาด ไม่มียาต้านพิษโดยตรง ยิ่งกินแกล้มเหล้าพิษยิ่งดูดซึมเข้าร่างกายเร็วขึ้น


นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวถึงการกรณีที่ประชาชนกินคางคกแล้วเสียชีวิตว่า คางคกเป็นสัตว์ที่มีพิษหากประชาชนนำมารับประทานจะทำให้ได้รับพิษปนเปื้อน มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และรุนแรงต่อระบบหายใจ ทำให้เสียชีวิตอย่างรวดเร็ว โดยผู้ที่เสียชีวิตเพราะได้รับพิษเข้าไปในปริมาณมาก โดยคางคกจะมีต่อมพิษอยู่ใกล้คอเพื่อป้องกันตัวเอง หากรับประทานคางคกเข้าไปแล้วไม่สบาย คลื่นไส้ อาเจียน ถ้ายังมีสติจะต้องทำให้อาเจียนสิ่งที่รับประทานเข้าไปออกมาก แต่ถ้าหมดสติให้รีบนำส่งแพทย์พร้อมกับบอกด้วยว่ารับประทานอะไรเข้าไป


“ที่ดีที่สุดคืออย่ารับประทานคางคก ไม่แนะนำให้รับประทานโดยเด็ดขาด เช่นเดียวกับแมงป่องและแมงมุม ยิ่งการกินคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยิ่งไม่ควร เพราะจะทำให้ร่างกายดูดซับสารพิษเข้ากระแสเลือดได้เร็วขึ้น กรณีที่มีการกินเนื้อไก่ที่ปิ้งในตะแกรงเดียวกับที่ปิ้งคางคก แล้วมีอาการป่วยอาจเป็นเพราะมีพิษปนเปื้อนอยู่ในตะแกรง ไม่มีวิธีการกินให้ปลอดภัย เพราะไม่แนะนำให้กินเด็ดขาด” นพ.โอภาส กล่าว


นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า พิษจากสัตว์บางตัวไม่มียาต้านพิษ บางตัวมียาต้านพิษแต่พิษค่อนข้างเร็ว และไม่ได้มียาต้านพิษสำรองไว้ในโรงพยาบาลทุกแห่ง เพราะยามีราคาค่อนข้างแพง จึงจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการรอ กว่าที่ยาต้านพิษจะส่งไปถึงโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ซึ่งพิษจากคางคกไม่มียาต้านพิษโดยตรง และพิษจากคางคกจะเป็นอันตรายต่อระบบหัวใจ ทำให้พิษเกิดอันตรายต่อร่างกายอย่างรวดเร็วและรักษายาก เพราะจะมีอาการรุนแรง เช่น เดียวกับพิษจากแมงกะพรุนกล่อง ที่จะออกฤทธิ์เป็นอันตรายต่อร่างกายภายใน 30 นาที ที่ผ่านมา พบผู้ได้รับพิษจากคางคกไม่มากปีละ 2-3 ราย แต่พิษจากสัตว์ที่พบผู้ป่วยบ่อยคือพิษจากปลาปักเป้า ปีละ 10 รายและพิษจากแมงกะพรุนที่มีตัวเลขเพิ่มขึ้น ส่วนพิษจากพืชที่พบบ่อยคือ เห็ดพิษมีผู้ได้รับอันตรายปีละหลายร้อยราย และสบู่ดำที่นักเรียนมักนำมารับประทานจนได้รับอันตาย

Shares:
QR Code :
QR Code