พิจารณาขึ้นทะเบียนฟาร์ม หยุดปัญหาราคาหมูตกต่ำ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
แฟ้มภาพ
พิจารณาการจดทะเบียนฟาร์มสุกรให้เป็นภาคบังคับ เพื่อให้การบริหารจัดการอุตสาหกรรมหมูมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
เป็นเวลากว่า 8 เดือนแล้ว ที่ราคาหมูไทยตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากอุตสาหกรรมยังไม่มีการรวบรวมขนาดการผลิตของผู้ประกอบการได้ทั้งระบบ จากจำนวนผู้เลี้ยงทั้งอุตสาหกรรมที่มีอยู่ประมาณ 195,000 ราย มีผลผลิตหมูขุนออกสู่ตลาดวันละ 45,000-50,000 ตัว
ทั้งที่ความต้องการบริโภคของตลาดมีไม่เกินวันละ 42,000 ตัว ทำให้มีปริมาณหมูส่วนเกินความต้องการของตลาดอยู่ราววันละ 3,000-8,000 ตัว เนื่องจากการ เลี้ยงสุกรทำกันแบบต่างคนต่างทำ ไม่สามารถบริหารจัดการผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้อง การของตลาด สร้างภาระหนี้สิน ความเสียหายต่ออุตสาหกรรมทั้งระบบ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ
น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย ประธานสหกรณ์การเกษตรปศุสัตว์ราชบุรี จำกัด และอุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เผยว่า เพื่อให้การแก้ปัญหาราคาหมูตกต่ำเป็นไปอย่างยั่งยืน สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ตั้งทีมคณะกรรมการกฎหมาย เพื่อร่วมผลักดันให้นำพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มาใช้ โดยยื่นข้อเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ หรือ Pig Board พิจารณาเรื่องการจดทะเบียนฟาร์มสุกรให้เป็นภาคบังคับ ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการอุตสาหกรรมหมูมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”
เพราะเป็นมาตรการที่จะช่วยได้ทั้งในเรื่องการควบคุมโรคระบาด สร้างมาตรฐานการผลิตและมาตรฐานฟาร์ม เพื่อให้ได้คุณภาพการผลิตที่ดี มีปริมาณพอเพียงต่อการบริโภคภายในประเทศ และต่อยอดการตลาดต่างประเทศ ช่วยสร้างเสถียรภาพด้านราคาทั้งหมูขุนและเนื้อหมู ให้อยู่ในระดับราคาที่เหมาะสมกับค่าครองชีพของประชาชน ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการควบคุมและจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมในแต่ละชุมชนดีขึ้น
อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เผยถึงผลดีที่ตามมาของการบังคับขึ้นทะเบียนฟาร์มอีกว่า เป็นวิธีช่วยควบคุมการขยายกำลังผลิตที่เกินกว่าความต้องการของตลาด แต่ถ้าฟาร์มใดต้องการจะขยายการผลิตเพิ่ม ต้องมีตลาดใหม่มารองรับ และยังเป็นวิธีช่วยป้องกันการเข้าไปครอบงำตลาดของผู้เลี้ยงต่างพื้นที่ได้ด้วย ผลที่ตามมายังจะช่วยปกป้องและสร้างความมั่นคงทางอาชีพให้ผู้ประกอบการรายเล็กและรายย่อยได้เป็นอย่างดี