พัฒนา-ดูแล ห้องน้ำแหล่งท่องเที่ยว

ที่มา :  MGR Online


กรมอนามัย เผย แหล่งท่องเที่ยวต้องมีห้องน้ำเพียงพอ thaihealth


แฟ้มภาพ


กรมอนามัย จี้แหล่งท่องเที่ยวทำความสะอาดห้องน้ำสาธารณะ หวั่นเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค เผยตามกฎกระทรวง ต้องมีห้องน้ำเพียงพอ ห้องส้วมหญิง 3 ห้องต่อผู้หญิง 15 คน ห้องสวมชาย 2 ห้อง 1 โถฉี่ ต่อผู้ชาย 15 คน


นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้ได้เข้าสู่ช่วงฤดูหนาวโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวจำนวนมาก จึงควรมีการจัดการและควบคุมดูแลส้วมในแหล่งท่องเที่ยวและสถานประกอบการต่างๆ ให้สะอาด ถูกสุขลักษณะ รวมถึงเครื่องใช้ อุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในส้วม เพื่อป้องกันโรคติดต่อ และป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น


นพ.ดนัย กล่าวว่า ส้วมเป็นอีกสิ่งหนึ่งสำคัญในแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วน เนื่องจากส้วมสาธารณะที่ขาดการดูแลและรักษาความสะอาดที่ดี จะกลายเป็นแหล่งแพร่โรคติดต่อได้ นอกจากนี้ ต้องมีจำนวนที่เพียงพอ โดยให้มีห้องส้วมหญิง 3 ห้องต่อจำนวนเพศหญิงไม่เกิน 15 คน และห้องส้วมชาย 2 ห้อง และ 1 โถปัสสาวะชาย ต่อจำนวนเพศชายไม่เกิน 15 คน ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 63 ขึ้นอยู่กับว่าสถานที่ของแต่ละแห่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากน้อยเพียงใด อีกทั้งต้องมีผู้ดูแลรักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงจัดให้มีบริการส้วมแบบนั่งราบหรือส้วมนั่งแบบชักโครก เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีปัญหาข้อเข่า และส้วมสำหรับผู้พิการ ต้องมีทางลาดสำหรับรถนั่งด้วย


ที่ผ่านมา กรมอนามัยได้สนับสนุนให้แหล่งท่องเที่ยวทุกแห่งให้ความสำคัญต่อการพัฒนาส้วมสาธารณะให้ได้มาตรฐานส้วมสาธารณะระดับประเทศ (HAS) คือ สะอาด (Health) เพียงพอ (Accessibility) และปลอดภัย (Safety) รวมทั้งการจัดการขยะ ควรจัดเตรียมถังขยะพร้อมฝาปิดมิดชิดไว้บริการ และจัดให้มีการคัดแยกขยะ เพื่อความเป็นระเบียบ ลดปริมาณขยะที่จะนำไปกำจัด และลดการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ แมลงพาหะนำโรค นอกจากนี้น้ำดื่ม น้ำใช้ที่มีไว้บริการต้องสะอาด และมีปริมาณเพียงพอต่อจำนวนผู้มาใช้บริการ หากมีบริการที่พัก ห้องนอนที่ใช้นอนรวมกันหลายคน โดยเฉลี่ยแล้วต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 40 ตารางฟุตต่อคน และบริเวณโดยรอบที่พักอาศัยต้องสะอาด มีท่อระบายน้ำทิ้ง ไม่มีน้ำขังเฉอะแฉะ เพื่อป้องกันการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ แมลงพาหะนำโรค และส่งกลิ่นเหม็นรบกวน


“ทั้งนี้ การพัฒนาส้วมสาธารณะในแหล่งท่องเที่ยว พบว่า ผ่านมาตรฐาน HAS ร้อยละ 74 จึงขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการ และผู้ดูแลแหล่งท่องเที่ยวใส่ใจด้านความสะอาดของส้วมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทำความสะอาดแหล่งปนเปื้อนเชื้อโรค ได้แก่ ที่จับสายฉีดชำระ ซึ่งตรวจพบเชื้อโรคมากที่สุดถึงร้อยละ 85 บริเวณพื้นห้องส้วมพบร้อยละ 50 ที่รองนั่งโถส้วมพบร้อยละ 31 ที่กดโถส้วมและโถปัสสาวะพบร้อยละ 8 ที่เปิดก๊อกอ่างล้างมือพบ ร้อยละ 7 กลอนประตูหรือลูกบิดพบร้อยละ 3 พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้ส้วมให้กับนักท่องเที่ยว โดยต้องไม่ขึ้นไปเหยียบบนโถส้วมแบบนั่งราบหรือแบบชักโครก ไม่ทิ้งขยะหรือวัสดุใดๆ ลงโถส้วม ราดน้ำหรือกดชักโครกทุกครั้งหลังการใช้ส้วม และล้างมือทุกครั้งหลังการใช้ส้วม” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code