พัฒนาแอปฯ รักษาออนไลน์ ลดความแออัด

ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์


พัฒนาแอปฯ รักษาทางออนไลน์ ลดความแออัด thaihealth


แฟ้มภาพ


สธ.เดินหน้าระบบรักษาออนไลน์ คัดเลือกจากผู้ป่วยที่สมัครใจรับบริการ ผ่านการประเมินจากแพทย์ว่าโรคคงที่ สามารถใช้สมาร์ทโฟนได้ คาดช่วยลด รพ.แออัดลงได้ถึง 30% เผยนำร่องแล้ว 27 รพ. ให้บริการ 2 เดือนแล้ว 4.3 พันราย รับยาไปรษณีย์กว่า 6 พันราย


นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงระบบบริการทางการแพทย์แบบใหม่ การรักษาออนไลน์ผ่านระบบวิดีโอคอล และการส่งยาทางไปรษณีย์ ว่า การรักษาทางไกลออนไลน์และส่งยาถึงบ้านนั้น แนวคิด คือ ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ลดความแออัดของ รพ.รัฐ ซึ่งเมื่อก่อนมีผู้ป่วยจำนวนมาก ซึ่งถ้าลดลงก็จะลดการติดเชื้อได้ด้วย โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 ที่เน้นการอยู่บ้าน รักษาระยะห่าง โดยจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและญาติในการมา รพ. นอกจากนี้ จะเพิ่มขีดความสามารถการรักษาไปในหลาย ๆ รพ.


นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่จะรับบริการนี้ได้นั้น คือ 1.เป็นผู้ป่วยเก่าที่ได้รับการการประเมินจากแพทย์ว่าสามารถรับบริการได้ 2.มีความสมัครใจรับบริการผ่านระบบวิดีโอคอล และรับยาผ่านไปรษณีย์ และ 3.ผู้ป่วยหรือญาติสามารถใช้สมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์ที่มีอินเทอร์เน็ต เพื่อพูดคุยสื่อสารได้ ก็จะเลือกผู้ป่วยเหล่านี้เข้ามาในระบบ ซึ่งพบว่า ขณะนี้ รพ.ใหญ่ ๆ ของรัฐ สามารถคัดเลือก ได้ถึง 30% ที่จะลดการมา รพ.


สำหรับขั้นตอนการเข้าร่วมนั้น 1.เมื่อผู้ป่วยถึงคราวนัดไป รพ.ครั้งต่อไป ให้แจ้งความประสงค์รับบริการทางออนไลน์ แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า รพ.บางแห่งทำได้ บางแห่งยังทำไม่ได้ โดยสามารถแจ้งได้ตรงจุดพยาบาล ว่าครั้งต่อไปจะรับบริการผ่านระบบนี้ได้หรือไม่ แพทย์ พยาบาล จะประเมินจากประวัติการรักษาและโรคของท่านว่าเหมาะสมหรือ 2.หากสามารถทำได้ก็จะให้เซ็นยินยอมรับการรักษาด้วยวิธีนี้ และ 3.รอแจ้งวันนัด ซึ่งเมื่อถึงวันนัด อาจจะเป็น 3-6 เดือนข้างหน้า จะมีคนโทร.ไปหรือส่งข้อความไปเพื่อนัดช่องทางในการวิดีโอคอล ซึ่งจะมีการพัฒนาแอปพลิเคชันเป็นช่องทางเฉพาะในการรักษาออนไลน์ด้วย


"โรคที่ทำได้ เช่น โรคเรื้อรังทั้งหมด เบาหวาน ความดันที่รับยาแบบคงที่ โรคกระดูก โรคระบบประสาท โรคมะเร็งที่คงที่ต้องดูแลอย่างต่อเนื่องแต่ไม่ได้ฉุกเฉินลุกลาม ทั้งนี้ ค่ารักษาค่าใช้จ่ายไม่มีอะไรเพิ่มทั้งสิ้น อยู่ในสิทธิทุกประการ เช่น บัตรทอง ข้าราชการ ส่วนการส่งไปรษณีย์อาจจ่ายเองเพื่อเพิ่มความรวดเร็วได้ ซึ่งแตกต่างกันไปแต่ละ รพ." นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว


ขณะนี้กรมการแพทย์ได้พัฒนา รพ.ไปแล้ว 27 แห่งที่เปิดบริการเช่นนี้ ใน กทม.และปริมณฑลเปิดได้ทุกแห่ง เช่น รพ.ราชวิถี รพ.นพรัตนราชธานี รพ.เลิดสิน สถาบันประสาทวิทยา สถาบันโรคผิวหนัง รพ.เด็ก เป็นต้น โดยช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ให้บริการออนไลน์ 4,316 คน เฉลี่ย 200 คนต่อวัน ถือเป็นการทดลองระบบ อย่างไรก็ตาม บางท่านไม่ต้องการระบบวิดีคอล แต่ต้องการส่งยาไปรษณีย์มี 6,717 คน เฉลี่ย 363 คนต่อวัน นอกจากนี้ ยังมีระบบให้คำปรึกษาแก่แพทย์ รพ.ต่างจังหวัด ทำให้ไม่ต้องส่งต่อผู้ป่วยเข้ามายังส่วนกลาง อยู่ที่จังหวัดนั้นสั่งการรักษาผ่านออนไลน์ แต่หากรักษาไม่ได้จำเป็นต้องมาก็ส่งมาได้


นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า สิ่งต่อไปที่อยากทำ เนื่องจากขณะนี้ไม่ใช่ทุก รพ.ทำได้หมด ก็จะเป็น รพ.ใหญ่ ๆ ก่อน โดย รพ.ต่างจังหวัดกำลังทยอยเริ่มแล้ว และ รพ.หนึ่งๆ มีหลายแผนก ก็จะขยายกลุ่มมากขึ้น และกลุ่มโรคมากขึ้น ซึ่งต้องเป็นกลุ่มโรคที่มีความปลอดภัยในการรักษา พูดคุยรู้เรื่อง อาการคงที่สื่อสารรู้เรื่อง


นอกจากนี้จะเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาของผู้ป่วยกลับไปสู่ผู้ป่วยในโทรศัพท์มือแล้วท่านเก็บไว้ ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมารองรับโดยต่อไป ก็สามารถนำประวัติการรักษาไปให้ รพ.แห่งอื่นที่ท่านเข้ารับการรักษาได้ โดยไม่ต้องซักประวัติ เมื่อก่อนเก็บรักษาที่ รพ. แต่ต่อไปสามารถเก็บไว้กับตัวเองได้ตลอดเวลา และจะพัฒนาไปสู่ระบบการส่งต่อและให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญ

Shares:
QR Code :
QR Code