พัฒนาหลักประกันสุขภาพในประเทศเอเชีย-แปซิฟิก

ที่มา: กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ


พัฒนาหลักประกันสุขภาพในประเทศเอเชีย-แปซิฟิก  thaihealth


แฟ้มภาพ


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมคณะกรรมการด้านการพัฒนาสังคม สมัยประชุมที่ 5ของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมของเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ ย้ำความสำคัญความร่วมมือในการพัฒนาหลักประกันสุขภาพประชาชน และมุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศด้านสังคม ในประเทศเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2030


ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการด้านการพัฒนาสังคม สมัยประชุมที่ 5ของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมของเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific : ESCAP) กล่าวว่า การประชุมนี้จัดขึ้นเพื่อเน้นย้ำให้ประเทศต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิก ได้เห็นถึงความสำคัญของการมีหลักประกันสุขภาพของประชาชน และสร้างความมุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศด้านสังคม ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2030ตามที่องค์การสหประชาชาติกำหนด ภายใต้ความร่วมมือระหว่างประเทศซึ่งไทยได้มีพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2545ทำให้คนไทยมีหลักประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 98 สามารถลดอัตราตายของทารก เพิ่มการเข้าถึงบริการ ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของครอบครัวที่จะนำไปสู่การล้มละลายทางการเงินได้เป็นอีกตัวอย่างความสำเร็จที่ไทยได้แบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ และร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ ESCAP ในการพัฒนาหลักประสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศในเอเชียแปซิฟิกต่อไป ทั้งนี้ ไทยและประเทศในกลุ่ม ASEAN รวมทั้งจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้พัฒนาความร่วมมือกันในการจัดการเพื่อป้องกันควบคุมการระบาดของโรคอุบัติใหม่ในวงกว้างด้วย


                  นอกจากนี้ ประเทศไทยได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ 20 ปี ที่เน้นการสร้างโอกาสการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนบนพื้นฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไปสู่เป้าหมาย “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” และด้วยความร่วมมือของประเทศต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิกด้านการพัฒนาสังคม โดยเฉพาะการสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชนจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศไปสู่เป้าหมายที่ยั่งยืนปี 2030 ได้

Shares:
QR Code :
QR Code