พัฒนาสังคมสุขภาพดีได้ง่ายๆ แค่ปลายนิ้ว

ท่ามกลางข้อมูลข่าวสารที่ถูกเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ เป็นที่ยอมรับกันว่า มีทั้งด้านลบและด้านบวกโดยในด้านบวก หมายถึง เป็นคุณประโยชน์ต่อผู้รับสื่อ ส่วนด้านลบ หมายถึง เป็นข้อมูลที่จะไปสร้างความเสียหายให้กับผู้รับสื่อ หรือ สังคมออนไลน์ได้ อาทิ เป็นข้อมูลยุแหย่ให้เกิดความแตกสามัคคี เป็นข้อมูลเท็จ ที่ทำให้ความจริงบิดเบือนไป


พัฒนาสังคมสุขภาพดีได้ง่ายๆ แค่ปลายนิ้ว thaihealth


ด้วยเหตุนี้จึงได้เกิดความพยายามที่จะสร้างสรรค์ งานด้านบวก ให้เกิดขึ้นในสังคมออนไลน์มากขึ้น เพราะเท่าที่ มีข้อมูลสถิติที่ชี้ว่าคนไทยใช้งาน Facebook โดยเฉลี่ยวันละ 28 ล้านคนต่อวัน และประชากรทุกเพศ ทุกวัย ส่วนใหญ่ใช้สมาร์ทโฟน นั่นหมายถึงว่า สังคมไม่สามารถจะหยุดยั้งการแพร่กระจายของสังคมออนไลน์ได้อย่างแน่นอนแล้ว


ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการนำเอาข้อมูลแบบเปิดของหน่วยงานภาครัฐมาสังเคราะห์ แล้วทำให้เกิดเป็นนวัตกรรม เพื่อให้เกิดคุณประโยชน์ทางด้านสุขภาพและสาธารณสุข ว่า ในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการด้านข้อมูลภาครัฐแบบเปิด ด้านสุขภาพและสาธารณสุขจัดที่โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข,สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ( สสส.), สถาบัน Change Fusion และ Good Factory ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีความเห็นร่วมกันว่า จะนำเอาความก้าวหน้าทาง เทคโนโลยี มาเสริมสร้างความสุขให้กับสังคมอย่างเป็นรูปธรรม


คุณไกลก้อง ไวทยการ ผู้อำนวยการสถาบัน Change Fusion เล่าถึงที่มาที่ไปของการจัดประชุมครั้งนี้ว่า หน่วยงาน ภาครัฐโดยเฉพาะด้านสาธารณสุขมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อยู่จำนวนมาก ในขณะที่ข้อมูลบางอย่างที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ อาจจะมีความซับซ้อนเกินไป หรือเป็นข้อมูล ในเป็นเชิงวิชาการ ที่ประชาชนเข้าถึงได้ยาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีรูปแบบ การสื่อสารที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยอาศัยเครื่องมือ ที่เป็นตัวกลาง


พัฒนาสังคมสุขภาพดีได้ง่ายๆ แค่ปลายนิ้ว thaihealth


โดยที่ผ่านมาเราได้จัดโครงการ Hackathon ร่วมกับ สสส. ซึ่งเป็นการทดสอบโมเดลที่เปิดโอกาสให้คน รุ่นใหม่ได้เข้ามาร่วมพัฒนาแอพพลิเคชั่นด้านสุขภาพให้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเราก็พบปัญหาว่า แหล่งข้อมูลที่จะนำมาใช้ ในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นนั้นยังมีไม่เพียงพอ วงเสวนาในวันนี้ จึงเป็นลักษณะการสร้างเครือข่ายโดยการเชิญผู้ทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพ หน่วยงานเจ้าของข้อมูล และนักพัฒนานวัตกรรมมาพูดคุยกัน เพื่อแลกเปลี่ยนและช่วยกันวางแผนว่า จะสามารถผลิตแอพพลิเคชั่นที่ตอบโจทย์นักพัฒนา เจ้าของข้อมูล และผู้ใช้ได้อย่างไรบ้าง


ภายในวงเสวนา ดร.นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ได้มีการนำเสนอข้อมูลอุบัติเหตุบนทางท้องถนน ซึ่งถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ คนไทยเสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งน่าจะมีการจัดทำบางสิ่งบางอย่าง จากข้อมูลนั้นมาทำให้เกิดประโยชน์ โดย คุณไกลก้อง มองความ เป็นไปได้ในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นของ สพฉ.ว่า จุดไหนที่ เกิดอุบัติเหตุและเรียกรถพยาบาลบ่อยๆ แสดงว่าจุดนั้นเป็น จุดเสี่ยง เราก็สามารถออกแบบแอพพลิเคชั่นแจ้งเตือนผู้ขับขี่ได้ อาจให้มีเสียงเตือน เพื่อการระมัดระวังมากขึ้นเป็นต้น


ขณะที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ก็มีข้อมูล ที่ใช้ประกอบการตัดสินใจในการดูแลสุขภาพ การวางแผน เรื่องส่งเสริมสุขภาพในตำบล ในระดับโรงเรียน เช่น พื้นที่ไหน มีสุขภาพประชากรอย่างไรบ้าง และสถานะคนในจังหวัดนั้น มีดัชนีสุขภาพเป็นแบบไหน พฤติกรรมสุขภาพเป็นอย่างไร ทำให้ นพ.ดนัย ธีวันดา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า ในบทบาทของ กรมอนามัยเองก็มีส่วนในการรับผิดชอบเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ การทำให้ประชาชนหันมาดูแลสุขภาพของตนเอง เช่น การดูแล สุขภาพตามกลุ่มวัย การจัดการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมี สุขภาวะที่ดี ซึ่งเท่าที่ผ่านมาเราดำเนินการในหลายส่วน พยายามนำเสนอข้อมูลผ่านเว็บไซต์ และผ่านทางกลไกการทำงาน แต่ก็ยอมรับว่าข้อมูลบนเว็บไซต์ส่วนใหญ่ได้จากการสำรวจ การวิจัย และผ่านการสังเคราะห์ นำเสนอเป็นไฟล์ PDF พูดง่ายๆ คือโอกาสที่จะเอาไปใช้นั้นค่อนข้างยาก แต่ขณะนี้เรามีนโยบายที่จะทำให้ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลดิบ โดยประสานความร่วมมือ กับหน่วยงานย่อยต่างๆ ในกรมอนามัย เพื่อรวบรวมข้อมูล ให้สามารถนำไปใช้ได้อย่างแท้จริง และไม่มีข้อจำกัดเรื่องโปรแกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง


นพ.ดนัย เล่าต่อว่า อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่เข้าถึงประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการดูแล สุขภาพตัวเองโดยผ่านขั้นตอนต่างๆ หรือการให้คำแนะนำ ในบางส่วนพัฒนาไปในระดับหนึ่ง ซึ่งก็เป็นเป้าหมายของ กรมอนามัยที่ได้มอบหมายให้กับฝ่ายเทคโนโลยีในการดำเนินการ และยังเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยอื่นๆ ที่มีการดำเนินการ เรื่องนี้อยู่ด้วย โดยเราพยายามที่จะประสานทางโรงเรียนต่างๆ เพื่อเก็บข้อมูลสุขภาพของนักเรียน เพราะเดิมข้อมูลอยู่ในสมุดบันทึกของนักเรียนเพียงอย่างเดียว โอกาสที่จะวิเคราะห์ข้อมูล และนำไปสู่การดูแล ก็ไม่เกิด ตอนนี้เรามีจำนวนนักเรียน หลายสิบล้านคน ดังนั้นข้อมูลด้านสุขภาพโดยรวมก็ถือเป็นเรื่องท้าทาย


ได้ยินได้ฟังอย่างนี้แล้ว ทำให้เกิดความรู้สึกว่า จะดีแค่ไหน…หากในอนาคตอันใกล้ เราสามารถดูแลสุขภาพของตนเองได้ เพียงแค่มีแอพพลิเคชั่นบนหน้าจอมือถือด้วย ขั้นตอนง่ายๆ แค่ปลายนิ้ว คลิก! เท่านั้น


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า โดยปานมณี

Shares:
QR Code :
QR Code