พัฒนาศักยภาพแกนนำ พร้อมสู่การสร้างพื้นที่สุขภาวะ

ที่มา : เว็บไซต์ ibikeiwalk.org รายงานโดย กวิน ชุติมา สถาบันการเดินและการจักรยานไทย


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ ibikeiwalk.org


พัฒนาศักยภาพแกนนำ พร้อมสู่การสร้างพื้นที่สุขภาวะ thaihealth


ชุมชนจักรยาน ปี 3 พัฒนาศักยภาพแกนนำ…พร้อมแล้วสู่การสร้างสรรค์พื้นที่สุขภาวะ


ตามที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับสถาบันการเดินและการจักรยานไทย ดำเนินโครงการ “ชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ” กระตุ้นและส่งเสริมให้ชุมชนในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศพัฒนาขึ้นมาเป็นชุมชนที่ใช้จักรยานเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการทำให้สมาชิกของชุมชนมีสุขภาวะที่ดี มาต่อเนื่องสองปี มีชุมชนเข้าร่วมโครงการในปีที่ 1 และ 2 จำนวน 78 และ 99 พื้นที่ตามลำดับโดยรวม โครงการประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ในระดับหนึ่ง แม้มีระยะเวลาดำเนินงานสั้นๆ เพียงประมาณ 10 เดือน ชุมชนจำนวนหนึ่งได้แสดงให้เห็นศักยภาพที่จะพัฒนาไปเป็นชุมชนจักรยานที่เข้มแข็งและเป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่นๆ ก้าวตามได้ สสส. จึงได้ดำเนินโครงการต่อเป็นปีที่ 3


ในปีนี้ สสส.และสถาบันฯ ได้ทดลองปรับกระบวนการค้นหาภาคีหน้าใหม่เชิงรุกมากขึ้น โดยให้ทีมงานออกไปค้นหาชุมชนถึงพื้นที่ ขยายโอกาสให้กว้างขวางขึ้น แทนที่จะเป็นฝ่ายตั้งรับใช้วิธีการประกาศให้พื้นที่ที่สนใจส่งแนวคิดที่จะทำโครงการเข้ามาทางเดียว ขั้นต้นมีผู้สมัครเข้ามา 124 พื้นที่ กลั่นกรองจากแนวคิดเหลือ 65 พื้นที่ ชวนผู้สมัครที่มีแนวโน้มว่าจะสามารถพัฒนาข้อเสนอโครงการชุมชนจักรยานขึ้นมาได้ มาพัฒนาศักยภาพ เพื่อนำแนวคิดของตนมาจัดทำเป็นข้อเสนอโครงการที่สามารถนำไปปฏิบัติและเกิดผลลัพธ์ได้จริงในพื้นที่ ในลักษณะที่เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน นั่นคือจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการขึ้นมาในกรุงเทพฯ ในช่วงวันที่ 23-25 กรกฎาคม 2561 โดย สสส.ตั้งเป้าจะสนับสนุนทั้งหมด 60 พื้นที่


พัฒนาศักยภาพแกนนำ พร้อมสู่การสร้างพื้นที่สุขภาวะ thaihealth


การประชุมสามวันเริ่มต้นด้วย นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ ผู้อำนวยการสถาบันฯ ชี้แจงแนวทางของสถาบันฯ ในการทำงานสร้างเสริมพื้นที่สุขภาวะร่วมกับ สสส. ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างชุมชนที่เอื้อต่อการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ผู้จัดการโครงการชี้แจงเป้าหมายและวัตถุประสงค์โครงการ จากนั้นทีมงานเสนอสิ่งที่เป็นนวัตกรรมใหม่ของโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะในปีนี้ คือ แนวทางการสร้างชุมชนจักรยาน 7 รูปแบบ ซึ่งสรุปมาจากบทเรียนการทำงานสร้างชุมชนจักรยานในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ (๑) จักรยานเพื่อการท่องเที่ยวชุมชน (๒) การใช้จักรยานของเด็กและเยาวชน (๓) การใช้จักรยานในงานด้านสาธารณสุข (๔) การใช้จักรยานของผู้สูงอายุ (๕) การใช้จักรยานแก้ปัญหาพัฒนาสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์พลังงาน (๖) การสร้างมาตรการและแรงจูงใจต่อการใช้จักรยาน และ (๗) การบูรณาการการใช้จักรยานกับงานชุมชนท้องถิ่นและอื่นๆ ซึ่งเดิมในสองปีแรกไม่มีการเสนอแบบอย่างแนวทางดังกล่าว ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการถูกปล่อยให้คิดด้วยตนเอง จากบทเรียนพบว่าเป็นโจทก์ยากของหลายพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถจัดทำข้อเสนอโครงการที่สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทที่แท้จริงของพื้นที่และเมื่อไปดำเนินการจึงไม่ประสบผลสำเร็จตามที่ควร


จากนั้นที่ประชุมให้ผู้เข้าร่วมได้ทบทวนฐานทุนเดิมและปัจจัยต่างๆ ของพื้นที่ตนเองว่า ควรใช้แนวทางใดจึงเหมาะสม เป็นการใช้ฐานทุนและปัจจัยที่เป็นบวกมาสร้างโอกาสให้โครงการประสบความสำเร็จ เมื่อเลือกแนวทางแล้ว ผู้เข้าร่วมมีเวลาหนึ่งวันเต็มในการพัฒนาร่างข้อเสนอโครงการ โดยมีพี่เลี้ยงโครงการคอยให้คำปรึกษาแนะนำอย่างใกล้ชิด


พัฒนาศักยภาพแกนนำ พร้อมสู่การสร้างพื้นที่สุขภาวะ thaihealth


วันที่สามของการประชุม ผู้เข้าร่วมได้นำร่างข้อเสนอมาแปลงย่อลงแบบฟอร์มสรุปข้อเสนอโครงการของ สสส. โดยมีนายณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ และที่ปรึกษา สสส. มาชี้แจงเหตุผลความเป็นมา ความจำเป็น และวิธีการในการใช้แบบฟอร์มนี้ จากนั้นยังมีการทำความเข้าใจในรายละเอียดของการทำบัญชีการเงินที่แต่ละพื้นที่ต้องใช้เป็นกรอบในการทำงานและจัดทำรายงานส่ง สสส. ด้วย


การประชุมครั้งนี้มีแกนนำเข้าร่วม 126 คน จากกลุ่ม/องค์กร/หน่วยงานในระดับท้องถิ่น ที่เสนอจะสร้างชุมชนจักรยาน 63 พื้นที่เข้าร่วมประชุม มาจากภาคเหนือ 13 พื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15 พื้นที่, ภาคกลาง ตะวันออกและตะวันตก รวมกัน 16 พื้นที่ และภาคใต้ 15 พื้นที่ ซึ่งมีแกนนำเยาวชนและผู้บริหารท้องถิ่นจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้เข้าร่วมด้วย


ขั้นต่อไปคือให้ผู้ทรงคุณวุฒิจาก สสส. และสถาบันฯ พิจารณาข้อเสนอโครงการที่ส่งเข้ามาเพื่อกลั่นกรอง และให้ข้อเสนอแนะ จากนั้นก็เป็นการอนุมัติโครงการอย่างเป็นทางการ ทำสัญญารับทุน และเริ่มการดำเนินงานในพื้นที่ ซึ่งสถาบันฯ จะนำความก้าวหน้ามารายงานเป็นลำดับต่อไป

Shares:
QR Code :
QR Code