พัฒนาพื้นที่สุขภาวะ สร้างสรรค์เพื่อสุขภาพ

สสส.จับมือ กทม.รุกพัฒนาพื้นที่สุขภาวะขจัดข้อจำกัดพื้นที่-สร้างสรรค์เพื่อสุขภาพ


พัฒนาพื้นที่สุขภาวะ สร้างสรรค์เพื่อสุขภาพ thaihealth


เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่สำนักงานเขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน (ศวพช.) มหาวิทยาลัยสยาม ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเขตภาษีเจริญ และภาคีเครือข่าย ร่วมกันเปิด "หน่วยบูรณาการแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเขตภาษีเจริญ" เป็นการสานพลังร่วมกันขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาข้อจำกัดเชิงพื้นที่ของความเป็นเมือง ให้กลับกลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ของการทำงาน ที่สอดรับกับบริบทความเป็นเมือง โดยมีนายโฆษิต อักษรชาติ ผู้อำนวยการเขตภาษีเจริญ และ ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม เป็นประธานร่วมกันในการเปิดงาน


ผศ.ดร.กุลธิดา จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน (ศวพช.) มหาวิทยาลัยสยาม และเลขาธิการมูลนิธิวิจัยเพื่อพัฒนามนุษย์และชุมชน กล่าวว่า กว่าสี่ปีที่ดำเนินงานพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ นำร่องพื้นที่เขตภาษีเจริญ ด้วยการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจาก สสส. เกิดการร่วมมือของ 54 ชุมชน และหน่วยงานในพื้นที่ทั้งภาครัฐและเอกชน และยังมีภาคีเครือข่ายนอกพื้นที่เข้าร่วมงาน รวมทั้งหน่วยงานของ กทม. อาทิ สำนักสวนสาธารณะ สำนักผังเมือง สำนักวิศวกรรมจราจรและขนส่ง กรมทางหลวงชนบท เป็นต้น เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ ทำให้พื้นที่รกร้าง พัฒนาพื้นที่สุขภาวะ สร้างสรรค์เพื่อสุขภาพ thaihealthและสุ่มเสี่ยงต่อสุขภาวะ กว่า 3,891 ตารางวา กลับกลายเป็นพื้นที่ที่สร้างสรรค์ต่อสุขภาวะทั้งด้านการออกกำลังกาย ด้านอาหารและการปรับภูมิทัศน์ การจัดการขยะ น้ำเน่า เมื่อคิดมูลค่าตามราคาการประเมินที่ดินพบว่า หากต้องใช้เงินซื้อพื้นที่ที่รกร้างเหล่านี้กลับคืนมาเพื่อใช้ประโยชน์ ต้องใช้เงินกว่า 159 ล้านบาท แต่ในการดำเนินงานที่ผ่านมาใช้ความร่วมมือ การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยเฉพาะคนในชุมชน ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์ จึงเป็นความภาคภูมิใจของคนที่นี่ จนเกิดความรัก ความสามัคคี การมีจิตอาสา ที่นับวันจะหาได้ยากยิ่งในบริบทของความเป็นเมือง


"การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะจุดเริ่มที่ชุมชน หน่วยงานภาคี เป็นผู้สนับสนุน ก่อเกิดการบูรณาการแผนยุทธศาสตร์ของทุกหน่วยงาน ร่วมคิด ร่วมพลัง ร่วมงบประมาณ เป็นการจัดโครงสร้างแบบใหม่ เป็นการยกระดับการทำงานในรูปแบบของคณะทำงานพัฒนาพื้นที่สุขภาวะระดับเขต ที่น่าจะเป็นต้นแบบการทำงาน และหวังว่าจะนำพาไปสู่การพัฒนาโครงสร้างการทำงานรูปแบบใหม่ของ กทม.ต่อไป" ผศ.ดร.กุลธิดา กล่าว


ด้าน ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดี มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า ม.สยาม ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งเดียวในพื้นที่นี้ ยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่จะร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะร่วมกับทุกหน่วยงาน ที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับการปลูกฝังวิธีคิดแบบใหม่ และการเข้าถึงชุมชนในคนรุ่นใหม่ จึงได้บูรณาการการเรียนการสอน ให้นักศึกษาทุกคณะของมหาวิทยาลัยร่วมกระบวนการด้วยการเรียนรู้วิถีชุมชน


นายโฆษิต อักษรชาติ ผอ.เขตภาษีเจริญ กล่าวว่า การร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะอย่างต่อเนื่อง จนเกิดการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ที่สำคัญ เกิดการทำงานของทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมี 54 ชุมชนเป็นฐานการพัฒนารูปแบบใหม่นี้ ขณะนี้การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะได้ยกระดับสู่นโยบายระดับเขตภาษีเจริญแล้ว ซึ่งสำนักงานเขตฯ ได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งหน่วยบูรณาการแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะขึ้น โดยมีบุคลากรของเขต ชุมชนและภาคี ร่วมพิจารณาแผนการทำงานของทุกหน่วยงานที่ส่งมารวมกันที่หน่วยฯ และจะเคลื่อนการทำงานไปพร้อมๆ กัน และเกิดการต่อยอดขยายผลการเรียนรู้จากการดำเนินงานต่อไป


 


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง


ภาพประกอบจากบ้านเมือง

Shares:
QR Code :
QR Code