พัฒนาคุณภาพชีวิตปฐมวัยยั่งยืน

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


พัฒนาคุณภาพชีวิตปฐมวัยยั่งยืน thaihealth


เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพ ย่อมเติบโตเป็นบุคลากรและกำลังแรงงานที่ดีในการพัฒนาชาติตลอดไป เพื่อให้ผู้ปกครองและหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลเด็กโดยตรงมาแชร์ไอเดียร่วมกันในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กปฐมวัย ที่กินความตั้งแต่เด็กอายุ 0-6 ปี หรือเด็กวัยก่อนเข้าชั้นประถมศึกษาปีที่ 1


เพราะช่วงดังกล่าวเป็นวัยที่เด็กเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สสส. จัดงานเสวนาหัวข้อ "การพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กปฐมวัย ทิศทางที่ยั่งยืนของประเทศ" ขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ภายในงานได้รวบรวมนักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานจริงมาร่วมกันสะท้อนภาพการพัฒนาเด็กเล็กในแง่มุมที่น่าสนใจ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางที่ยั่งยืน


เริ่มกันที่ แพทย์หญิงนิตยา คชภักดี อดีตผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว เผยว่า การสนับสนุนให้เด็กตั้งแต่ 0-6 ขวบได้รับการดูแลที่ดีตั้งแต่แรกคลอด อาทิ การปลูกฝังเรื่องสมรรถภาพ ภาษา ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม ตลอดจนการช่วยเหลือตัวเอง ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และจะคืนทุนเมื่อเด็กกลุ่มนี้เติบใหญ่ เพราะช่วงอายุแรกเกิด-6 ขวบนั้นเป็นช่วงที่เซลล์ประสาทและสมองสามารถทำงานเชื่อมต่อกันได้อย่างดี ที่ผ่านมาเด็กปฐมวัยไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง หรือไม่ได้รับการดูแลตั้งแต่อายุแรกคลอดจนถึง 6 ขวบ แต่เริ่มที่ 2-3 ขวบขึ้นไป ประกอบกับปัจจุบันมีข้อมูลที่ระบุว่าพัฒนาการของเด็กไทยล่าช้า โดยเด็ก 3 คนมีพัฒนาการช้า 1 คน และข้อมูลในปี 2557 ได้บอกไว้ว่า เด็กเล็ก (แรกคลอดถึง 3 ขวบ) มีพัฒนาล่าช้า 10-20% ขณะที่เด็กอายุระหว่าง 3-4-5 ขวบนั้นช้าถึง 35% นี่เองจึงนับเป็นจุดเริ่มต้นการดูแลเด็กปฐมวัยอย่างยั่งยืนร่วมกันหลายฝ่าย


พัฒนาคุณภาพชีวิตปฐมวัยยั่งยืน thaihealth


"เมื่อเด็กมีพัฒนาการช้าขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องภาษา ที่มีผลวิจัยว่าล่าช้ามากถึง 27.8% ตรงนี้จะทำให้การสื่อสารลำบาก พูดง่ายๆ ว่า เด็ก ป.1 ฟังครูพูดไม่เข้าใจ หรืออ่านหนังสือไม่ชัดเจน นอกจากนี้ยังพบอีกว่าเด็กเล็กร้อยละ 30 เป็นโรคแอลดี หรือสมาธิสั้น อ่านเขียนหนังสือไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาหรือตั้งแต่ปี 2554 นั้น ภาครัฐได้มีการอบรมและพัฒนาครูพี่เลี้ยงและผู้แลเด็กเล็กในศูนย์เด็กเล็กให้ได้รับการศึกษาระดับปริญญาตรี-ปริญญาโท จำนวน 20,000 คน เพื่อให้มีความรู้ความสามารถที่เพียงพอในการสอนเรื่องภาษาให้กับเด็กๆ"


แพทย์หญิงนิตยากล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ก็ต้องเพิ่มพลังพ่อแม่และปู่ย่าตายาย รวมถึงครูผู้สอนเด็กเล็ก หรือเด็กก่อนเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ว่า เด็กเล็ก (0-6 ขวบ) ทำอะไรได้หรือไม่ได้ เพราะที่ผู้ปกครองและผู้ดูแลคาดหวังว่าเด็ก 3 ขวบจะต้องเขียน "ฎ" ได้ ก็จะทำให้เด็กและผู้ปกครองเองเกิดความเครียด เนื่องจากอายุดังกล่าวควรส่งเสริมพัฒนาการด้วยการเล่น และในสนามเด็กเล่นเองก็ต้องมีความปลอดภัยอะไรบ้าง หรือแม้แต่การปลูกฝังเรื่องการใช้ภาษาที่ถูกต้องจากครูผู้ดูแล เป็นต้น


ขณะที่ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เผยถึงการทำงานเชื่อมโยงระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และ สสส. เพื่อพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัยสู่พลเมืองที่มีประสิทธิภาพของประเทศ ที่ขอเริ่มจากฝั่งของ สสส. โดยทำหน้าที่สนับสนุนให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กต้นแบบ โดยทำการประเมินประสิทธิภาพการทำงานของศูนย์เด็กเล็กในชุมชนว่าผ่านหรือไม่ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้มีตัวอย่างของหน่วยงานในการพัฒนาคุณภาพเด็กอย่างยั่งยืนในชุมชนต่างๆ ในโอกาสต่อๆ ไป


พัฒนาคุณภาพชีวิตปฐมวัยยั่งยืน thaihealth


"ที่ผ่านมา สสส.ได้เข้ามาพัฒนาศูนย์ต้นแบบการเรียนรู้ของเด็กเล็กจำนวน 20,000 แห่ง ที่มีเด็กเล็กจำนวนเกือบ 1 ล้านคน โดยให้ผู้ปกครองเข้ามาร่วมประเมินการดำเนินงานของศูนย์ดังกล่าว เพื่อให้เกิดตัวอย่างของศูนย์ดูแลเด็กที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ภายในศูนย์จะเน้นเรื่องการส่งเสริมการพัฒนาสมองเด็กให้กับเด็กอายุ 1-3 ขวบ โดยเน้นเรื่องการอ่านเพื่อให้เด็กเชื่อมโยงภาพและคำพูด เพื่อพัฒนาการด้านภาษาที่ดี และยังได้ส่งเสริมเรื่องการกระตุ้นให้เด็กได้รับบริการด้านสุขภาพที่ดี โดยการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเด็กเล็ก กระทั่งการรณรงค์ลดความรุนแรงในเด็กเล็ก กระทั่งการส่งเสริมให้พ่อแม่สอนการใช้ไอทีที่เหมาะสมกับเด็กๆ ฯลฯ เหล่านี้เป็นภาพรวมนโยบายการขับเคลื่อนการดำเนินงานของ สสส.เรื่องการพัฒนาเด็กปฐมวัย"


ฝั่งการดำเนินงานในการพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัย ภายในระยะเวลา 20 ปี ของ "กระทรวงสาธารณสุข" นั้น นพ.ยงยุทธบอกว่าเริ่มเน้นไปที่โปรแกรม "smart citizens" หรือเน้นการเป็นพลเมืองที่ฉลาดและรู้เท่าทันการใช้สื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศ ขณะเดียวกันก็เน้นส่งเสริมการให้ความรู้ความเข้าใจไปยังผู้ปกครอง ถึงจุดอ่อนของการเลี้ยงลูกด้วยการใช้ไอทีว่ามีข้อดีและข้อเสียอย่างไรที่ควรหลีกเลี่ยง ที่ทำให้เด็กไทยมีไอคิวต่ำ รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับการเป็นพลเมืองเด็กที่เติบโตมาเป็นคนที่รับผิดชอบต่อสังคม เป็นต้น


พัฒนาคุณภาพชีวิตปฐมวัยยั่งยืน thaihealth


ปิดท้ายกันที่ คุณสุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันอาร์แอลจี ที่อธิบายประเด็นหลักการทำงาน และเหตุผลที่ต้องมี "พระราชบัญญัติเด็กปฐมวัย" เนื่องจากเรื่องของเด็กปฐมวัยเป็นเรื่องของคนทุกฝ่าย แต่เนื่องจากที่ผ่านมาเรื่องการพัฒนาเด็กอายุ 0-6 ขวบนั้น ถือได้ว่าเป็นนโยบายที่นำไปฝากหลายๆ หน่วยงาน กระทั่งการดำเนินงานไม่คืบหน้าจึงจำเป็นต้องมี พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อทำให้เกิดกระบวนการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน


"ที่ผ่านมาเรื่องการขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ขวบนั้นเป็นงานที่มักนำไปฝากหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุข, อปท., กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงศึกษาธิการบ้าง ซึ่งเมื่อเป็นงานที่นำไปฝากก็จะพัฒนาได้ยาก เพราะบางครั้งผู้ที่รับฝากไม่เห็นด้วยกับนโยบาย หรือเมื่อผู้บริหารชุดใหม่เข้ามาดำเนินงานก็เปลี่ยนนโยบายใหม่ จึงทำให้เรื่องนี้ไม่เดินหน้าเท่าที่ควร ซึ่งเนื้อหาสาระโดยรวมของ พ.ร.บ.ดังกล่าว ภาครัฐต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ประกอบไปด้วย 1.ให้เด็กปฐมวัยมีคุณภาพชีวิต-สุขภาวะพัฒนาการ-ทักษะชีวิตที่ดี 2.ให้เด็กได้รับการสาธารณสุขที่สมควร 3.ให้ความรู้ก่อนการตั้งครรภ์ ดูแลครรภ์ การเลี้ยงดูและพัฒนาการเด็กปฐมวัยแก่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง ณ จุดบริการ 4.ส่งเสริมนมแม่ให้ได้ 6 เดือน 5.ต้องการ วางรากฐานให้เด็กแข็งแรง อีกทั้งต้องดูแลไปจนถึงอายุ 8 ขวบ ฯลฯ พูดง่ายๆ ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ต้องเอาประโยชน์ของเด็กเป็นที่ตั้งในทุกๆ ด้านค่ะ"

Shares:
QR Code :
QR Code