พลิกชีวิตเปลี่ยนเมืองด้วย ‘การอ่าน’
สพฐ.กำหนดให้เป็น "ปีปลอดนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้" ผนึกกำลังจัดทำโครงการ Gen A พลังอ่านเปลี่ยนเมือง
แฟ้มภาพ
เมื่อปีที่แล้ว สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้กำหนดให้เป็น "ปีปลอดนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้" เพราะปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้มีมาอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจพบว่า มีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ประมาณ 25,000-36,000 คน ทั่วประเทศ เนื่องจากปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการย้ายถิ่นฐานของพ่อแม่ ผู้ปกครอง เด็กติดตามมากับพ่อแม่ที่เป็นแรงงานต่างด้าว หรือเด็กชาติพันธุ์ ซึ่งไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก
การอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ถือเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก เมื่ออ่านไม่ได้ก็เรียนรู้วิชาการอื่นๆลำบาก ทุกภาคส่วนไม่เว้นแม้กระทั่งกระทรวงศึกษาธิการ เล็งเห็นปัญหานี้ จึงพยายามช่วยกันเพื่อให้เด็กไทยอ่านหนังสือได้กันทุกคน
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ผนึกกำลังกันจัดทำโครงการ Gen A พลังอ่านเปลี่ยนเมือง โดยที่นักศึกษาจาก 32 สถาบัน ทำ 35 โครงการ 35 พื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อเป็นอาสาสมัคร "พี่สอนน้อง" ส่งเสริมการอ่านให้เด็กอายุตั้งแต่ 6-14 ปี ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้
สำหรับสถานการณ์การอ่านในปัจจุบัน จากผลการศึกษาของสถาบันสถิติแห่งสหประชาชาติ (ยูไอเอส) ร่วมกับองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เมื่อปี 2557 พบว่าทั่วโลกมีประชากรที่อายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไปไม่รู้หนังสือถึง 781 ล้านคน ขณะที่เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี กว่า 126 ล้านคน อ่านไม่ออกแม้แต่ประโยคสั้นๆ ทั้งที่เกินครึ่งหนึ่งของเด็กเหล่านี้มีโอกาสเรียนหนังสือ ซึ่งจากการศึกษา National Adult Literacy Survey ของสหรัฐอเมริกา ยังพบว่าเด็กกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะเลิกเรียนกลางคันสูงถึง 3-4 เท่าของเด็กเท่าไปและระบบยุติธรรมของสหรัฐระบุว่า มากกว่าร้อยละ 60 ของคดีอาญาที่เกิดขึ้นมาจากผู้ไม่รู้หนังสือ และคนไม่รู้หนังสือมากกว่าร้อยละ 50 มีโอกาสตกเป็นเหยื่อหรือถูกเอารัดเอาเปรียบ ในบางกรณีนำไปสู่การก่ออาชญากรรมเสียเอง
ส่วนประเทศไทยนั้น พบว่าเด็กไทยได้คะแนนเฉลี่ยด้านการอ่านต่ำกว่ามาตรฐานของด็กในกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) และเมื่อเปรียบเทียบกับ 65 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2552 ไทยอยู่อันดับที่ 50 ทีเดียว ขณะเดียวกันสำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจการอ่าหนังสือของประชากรไทยเมื่อ พ.ศ.2551 พบว่า การอ่านหนังสือในกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี ทั้งเด็กที่อ่านได้ด้วยตัวเอง และผู้ใหญ่อ่านให้ฟังจากจำนวนเด็กเล็กทั้งประเทศมีทั้งสิ้น 5,868,961 คน มีเด็กที่ได้อ่านจำนวน 2,110,440 คน หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 36.0 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนเด็กกลุ่มนี้
จากการลงพื้นที่ทำกิจกรรมของนักศึกษาพบว่า ปัญหาเรื่องการอ่านของเด็กไทยนั้น ยังดำรงอยู่จริง สามารถพบเห็นได้ทั่วไป เด็กนักเรียนบางคนอยู่ชั้น ป.4 แต่ไม่สามารถอ่านและเขียนชื่อตัวเองได้ และพบนักเรียนชั้น ป.6 หลายคน ต้องให้ครูอ่านข้อสอบให้ฟัง แต่ก็ยังสามารถจบระดับประถมศึกษาได้ กิจกรรมที่นักศึกษานำไปส่งเสริมการอ่านให้น้องๆ นักเรียนตามพื้นที่ต่างๆ ส่วนใหญ่จะออกมาในรูปแบบสื่อเพื่อส่งเสริมการอ่าน เช่น โครงการ Gen A : PNRU ปฏิบัติการสุข อ่าน เขียน เปลี่ยน เมือง ของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร นำเกมบันไดงู เกมวงล้อ หรือโครงการ Gen A : UCC ปฏิบัตการก่อการดี อ่าน เขียน เรียน เล่น เป็นเปลี่ยน จากวิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี ที่ทำเป็นนิทานกล่องนำไปเล่าให้เด็กๆฟัง
ผลที่ได้พบว่าจากเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) ไม่สนใจเรียนเรื่องสระ พยัญชนะ อ่านได้ช้า เขียนเลขไม่ได้ หลังจากได้ร่วมทำกิจกรรมกับนักศึกษาก็สนใจเรียนมากขึ้น กล้าอ่านออกเสียง ฝึกอ่านบ่อยขึ้น
เรื่องนี้ ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส.บอกว่า การอ่านเป็นพื้นฐานของชีวิตในทุกเรื่อง รวมทั้งเรื่งอสุขภาพที่เป็นกุญแจนำไปสู่ภาวะที่มีประโยชน์เพื่อตนเองและสังคม
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ