พลังสังคม สู่นโยบายลดละเลิกเหล้า

      จำนวนนักดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มากขึ้นทุกๆ ปี ย่อมส่งผลเสียต่อสังคม สร้างปัญหาในหลายมิติ ทั้งด้านสาธารณสุข สังคม และเศรษฐกิจ สะท้อนจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ระบุว่า ประเทศไทยมีนักดื่มหน้าใหม่เกิดขึ้นปีละ 2.6 แสนคน โดยเฉลี่ยดื่มสุราคนละ 7-8 ลิตรต่อปี ถือว่ามากติดอันดับต้นๆ ของเอเชีย ที่น่าตกใจ คนไทยเสียชีวิตเพราะเครื่องดื่มชนิดนี้สูงถึง 1.8 หมื่นคนต่อปี


/data/content/26771/cms/e_ciklpqsuwx45.jpg


      จากข้อมูลที่ปรากฏทำให้ภาคส่วนต่างๆ เร่งจัดทำแผนเสริมสร้างความเข้มแข็ง เกิดกลไกนำไปสู่การลดพฤติกรรมและควบคุมการดื่มสุรา ล่าสุดศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ได้จัดประชุมสุราวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 8 หัวข้อ “ทศวรรษแห่งการเรียนรู้และการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อลดปัญหาแอลกอฮอล์ในสังคมไทย” ขึ้น เพื่อถอดบทเรียนและกำหนดยุทธศาสตร์ไว้อย่างน่าสนใจ อาทิ มาตรการทางภาษีการควบคุมการเข้าถึง การควบคุมกลยุทธ์การตลาดของอุตสาหกรรมสุรา และมาตรการในระดับจังหวัด ชุมชน


     อย่างไรก็ดี ภายในงานยังได้พูดคุยในหัวข้อ “กรณีศึกษาการขับเคลื่อนนโยบายจังหวัด เพื่อลดปัญหาจากสุรา” โดยนายสรธร สันทัด ปลัดจังหวัดพะเยา และผู้อำนวยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดพะเยา ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ว่า พะเยาเป็นจังหวัดดื่มเหล้าติดอันดับ 1 เราจึงมีนโยบายร่วมกันสร้างสังคมพะเยาไม่เป็นที่ 1 เรื่องกินเหล้า อีกทั้งยังโชคดีที่พะเยาเป็นเมืองเล็กๆ ทำให้การรณรงค์โดยความร่วมมือกับเครือข่ายงดเหล้าเข้าถึงง่ายขึ้น เริ่มจากพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำความเข้าใจ เน้นการมีส่วนร่วม จากนั้นดึงแกนนำหมู่บ้านมาร่วมเป็นกระบองเสียงลงสู่ชุมชน ใช้เสียงตามสายแผ่นซีดีออกรณรงค์ มีพระนักเทศน์ออกให้ความรู้สร้างความตระหนักถึงพิษภัย พร้อมเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง จนเกิดเป็นสัญญาประชาคม มีกรอบกติกาขึ้นเพื่อปฏิบัติร่วมกันในหมู่บ้าน


 /data/content/26771/cms/e_efknpuvx3789.jpg    “จังหวัดพะเยาจะเน้นหนักมาตรการปูพรม 3 ด้าน คือ 1.งานบุญต้องปลอดเหล้า 2.ควบคุมโรงผลิตสุราไม่ให้เพิ่มจำนวน และ 3.บังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 อย่างจริงจัง ซึ่งเรื่องนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ขานรับและสนับสนุนเต็มที่ เพราะท่านเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้น อีกทั้งส่วนตัวท่านไม่ดื่มสุราอยู่แล้ว และยังเป็นแบบอย่างในการจัดงานแต่งปลอดเหล้าของลูกสาวด้วย” นายสรธร ระบุ


     นอกจากนี้จังหวัดพะเยา ยังมีศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกิดขึ้น เพื่อประชุมวางแผนและพัฒนายุทธศาสตร์ให้ทันต่อสถานการณ์ จนทำให้ทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน หมู่บ้าน โรงเรียน และวัด ยินดีให้ความร่วมมือ ก่อเกิดเป็นความเข้มแข็งในจังหวัดอย่างเห็นได้ชัด เริ่มนำร่องให้ได้ใน 68 ตำบล 9 อำเภอ ก่อนขยายให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด ทั้งนี้จากการทำงานอย่างต่อเนื่องและความร่วมมือที่ดีของทุกฝ่าย ทำให้ขณะนี้การดื่มในจังหวัดพะเยาลดลง เห็นได้จากโรงกลั่นสุราเลิกกิจการไปแล้วถึง 20 แห่ง ช่วยลดผลกระทบความสูญเสียทั้งอุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท ความรุนแรง หนี้สินครัวเรือน ปัญหาสุขภาพที่น่าดีใจคือ ส.ส.อรุณี ชำนาญยา นักการเมืองหญิงแกร่งแห่งเมืองพะเยาเห็นความสำคัญในเรื่องนี้มาก ทำให้เกิดความร่วมมืออย่างจริงจังในทุกภาคส่วน


     ด้าน นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อทดแทนธุรกิจแอลกอฮอล์ด้านประเพณีวัฒนธรรมและการส่งเสริมนโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) อธิบายว่า การรณรงค์ลดละเลิกเหล้า ต้องทำควบคู่กันไปหลายด้าน ทั้งมาตรการทางสังคม การกระตุ้นให้เกิดการบังคับใช้กฎหมาย ที่สำคัญต้องต่อสู้กับธุรกิจเหล้าที่กำลังรุกทำการตลาด โดยหวังเพียงยอดขาย แต่ไม่เคยรับผิดชอบสังคม ซึ่งแผนการขับเคลื่อนรณรงค์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและกระบวนทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีภาคีเครือข่ายงดเหล้าในแต่ละจังหวัดที่เอาจริงเอาจัง ค่อยช่วยเป็นแรงหนุนสำคัญ สู่การบังคับใช้กฎหมาย สู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดละเลิกเหล้า


    “ตัวเอกของเรื่องหรือกุญแจที่นำไปสู่ความสำเร็จ คือมวลชนและการมีส่วนร่วม คือคนทำงานในพื้นที่ ประชาชนที่ต้องเห็นถึงปัญหาและคอยช่วยเฝ้าระวัง สร้างการรับรู้ นำไปสู่การแก้ไข โดยเราพร้อมขยายแนวร่วม ซึ่งมีหลายรายจากที่เคยเป็นผู้ที่ดื่มหนักจนกลับใจหันมาลดละเลิก กลายเป็นวิทยากรให้ความรู้ และนักรณรงค์ ขณะเดียวกัน สคล.จะคอยสนับสนุนเสริมกระบวนการและร่วมจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปสู่การเกิดนโยบายต่างๆ เช่น แข่งเรือปลอดเหล้า กฐินปลอดเหล้า สงกรานต์ปลอดเหล้า ที่ขณะนี้มีพื้นที่ปลอดเหล้าช่วงสงกรานต์แล้วกว่า 200 แห่งและพร้อมขยายเพิ่มพื้นที่ไปเรื่อยๆ” ผู้จัดการแผนงานทุนอุปถัมภ์ กล่าว


      เชื่อแน่ว่าการรวมพลังทางสังคมเป็นเรื่องที่ทำได้ โดยไม่ต้องรอกฎหมาย เพราะสิ่งเหล่านี้เพียงแค่เริ่มลงมือก็สามารถต่อยอดเกิดสิ่งใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพ เกิดการตระหนักหันมาปรับพฤติกรรม สู่การลดละเลิกเหล้าที่เป็นภัยร้ายได้ในที่สุด


 


 


      ที่มา: เว็บไซต์บ้านเมือง

Shares:
QR Code :
QR Code