พลังผู้บริโภค สีเขียว จาก’ท้องถิ่น’ สู่ ‘ตลาดโลก’

จัดอยู่เรื่อยๆ สำหรับ “งานแสดงผลิตภัณฑ์อินทรีย์และผลผลิตตลาดสีเขียวชุมชน” หรือ “กรีนแฟร์” (green fair) อย่างครั้งล่าสุด ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 6 นั้น จัดขึ้นภายใต้หัวข้องาน “พลังผู้บริโภคสีเขียว สู่เส้นทางเกษตรอินทรีย์ชุมชน” มีผู้เข้าชมตลอด 4 วันการจัดงานที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เป็นจำนวนมาก

ส่วนหนึ่ง อาจเป็นเพราะกระแสการดูแลสุขภาพกำลังเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง อาหารปลอดภัย กินกันโรค กินลดโรค ฯลฯ เหล่านี้นี่เองที่เครือข่ายตลาดสีเขียว, บริษัท สวนเงินมีมา จำกัด และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล็งเห็นความสำคัญ จนเกิดงานนี้ขึ้น

มีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกฝังเรื่องการบริโภคโดยเริ่มจากฐานผู้บริโภคทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ชุมชน ครอบครัว ให้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยคือการผลิตอาหารที่ไม่พึ่งพาสารเคมี โดยเน้นขบวนการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์และไร้สารพิษ ที่เชื่อมโยงไปถึงสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป และมีการดำเนินงานด้านพัฒนาผู้ผลิตให้ปรับเปลี่ยนจากเกษตรเคมีสู่เกษตรอินทรีย์ การแปรรูปอาหาร หรือการสร้างช่องทางใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น

จากที่มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้จัดงาน ธนกร เจียรกมลชื่น เล่าว่างานกรีนแฟร์เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 และจัดงานติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดนั้นเป็นครั้งที่ 6 ในหัวข้อ “พลังผู้บริโภคสีเขียว สู่เส้นทางเกษตรอินทรีย์ชุมชน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมร้อยความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และสร้างผู้บริโภคสีเขียวที่เป็นจริงในสังคมไทย

จากปีแรกจนถึงปีนี้ งานที่คนรักสุขภาพเฝ้ารอคอยเติบโตขึ้นโดยลำดับ นอกจากร้านค้า “สีเขียว” มากมายที่มาร่วมออกบูธ ชม ชิม ช็อป อาหาร ผลิตภัณฑ์หลากหลายจากชุมชน ผู้ผลิต ผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ ไร้สารเคมีแล้ว ยังมีนิทรรศการต่างๆ ให้ความรู้ อาทิ นิทรรศการ 8 เส้นทางผู้บริโภคสีเขียว, นิทรรศการเส้นทางอาหารสู่การบริโภคอย่างยั่งยืน, เกมบันไดเศรษฐีสีเขียว เป็นต้น

“เรามุ่งหวังที่จะให้การบริโภคสีเขียว หรือแหล่งอาหารที่ปลอดภัยกระจายออกไปในวงกว้าง ทั้งในเรื่องการให้ความรู้ด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนการบริโภคสีเขียวต่อไปในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการสร้างตลาดสีเขียวให้เป็นที่พบปะและสื่อกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค ผ่านผลผลิตเกษตรอินทรีย์หรือไร้สารพิษ” ธนกรบอก

และด้วยความมุ่งหวังเดียวกันนี้เองที่ สสส.เข้าร่วมให้การสนับสนุน เพราะมีนโยบายสำคัญคือ มุ่งหวังให้ประชาชนมีความสนใจในเรื่องสุขภาพ เพื่อจะให้ประชาชนมีสุขภาพดี และบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ให้ความสนใจในเรื่องอาหารปลอดภัย และการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพราะเป็นการผลิตที่จะทำให้เกิดคุณภาพของผลผลิตที่ดีต่อสารเคมีและสารพิษต่างๆ ที่จะนำไปสู่การทำให้สุขภาพร่างกายของประชาชนคนไทย หรือแม้กระทั่งการส่งออกต่างประเทศจะเห็นได้ว่า ในทุกประเทศจะมีมาตรฐานในเรื่องการวัดคุณภาพผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเช่นเดียวกัน 

อีกหนึ่งหน่วยงานซึ่งเป็นผู้ประกอบการทางสังคมที่เกาะติดเรื่องกระแสการบริโภคสีเขียวมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน คือ “บริษัท สวนเงินมีมา”  ปรีดา เตียสุวรรณ์  ประธานบริษัท กล่าวว่า ทางบริษัทจะมีการประกอบการเหมือนธุรกิจทั่วไป แต่กำไรที่ได้มานั้น ส่วนใหญ่จะนำไปให้องค์กรสาธารณกุศลทั้งหมด เป้าหมายของบริษัทต้องการสร้างแรงเหวี่ยงทางสังคม (momentum) เข้าสู่การบริโภคสินค้าสีเขียว เพราะถือว่า เป็นสิ่งที่เราจะทำให้สังคมได้บริโภคสิ่งที่ดีต่อร่างกาย และถูกต้องสำหรับประชาชน “จะมีการวางตัวให้เราเป็นห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) และเป็นโลจิสติกส์ (logistics) โดยการนำผู้ผลิตมาเจอกับผู้บริโภค เราสร้างองค์ความรู้ให้กับผู้ผลิตว่าจะผลิตอะไร และในขณะเดียวกัน เราสร้างความรู้ให้กับผู้บริโภคผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะจากไร่นามาสู่ปากของผู้บริโภคนั้น เราจะต้องมีโลจิสติกส์ต่างๆ เช่น การสร้างห้องเย็น สร้างจุดศูนย์รวมสินค้า ฯลฯ” ปรีดากล่าวพร้อมกับเล่าถึงการร่วมมือจัดงานตลอดหลายครั้งที่ผ่านมา พบว่าได้รับความสนใจ และมีความก้าวหน้ามาโดยตลอด มีสมาชิกมาร่วมกิจกรรม หรือผู้ผลิตมาร่วมงานมากขึ้น”ในส่วนของผู้บริโภคจะได้สุขภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ในส่วนของผู้ผลิตสามารถที่จะสร้างให้ชุมชนผลิตอยู่กับพื้นที่นั้นๆ ได้ เพราะการทำการเกษตรที่เป็นเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเกษตรประณีต จะต้องใช้ความขยันหมั่นเพียรในการเฝ้าดูและเฝ้าติดตาม และเป็นตัวบังคับให้ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าออร์แกนิกจะอยู่ติดกับท้องถิ่น เพราะฉะนั้นจะเป็นการรักษาความเป็นท้องถิ่นเอาไว้ได้”

นี่เป็นผลพลอยได้ทางสังคม จาก “ท้องถิ่น” สู่ “ท้องตลาดโลก” ไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน  โดย ศิวพร  อ่องศรี

Shares:
QR Code :
QR Code