พลังชุมชนท้องถิ่น…เปลี่ยนประเทศ
เวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ครั้งที่ 4 ที่ได้จัดขึ้น มีเหล่าเครือข่ายชุมชนทั่วประเทศกว่า 4,700 คน มาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้บอกเล่าวิธีการสร้างชุมชนน่าอยู่ผ่านนิทรรศการ และการเสวนาของตัวแทนผู้นำที่สามารถสร้างชุมชนต้นแบบด้านต่าง ๆ
เวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ครั้งที่ 4 ประจำปี 2557 พลังชุมชนท้องถิ่นร่วมสร้างนวัตกรรมการจัดการสุขภาวะ ระหว่างวันที่ 1-3 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สน. 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดขึ้น มีเหล่าเครือข่ายชุมชนทั่วประเทศกว่า 4,700 คน มาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้บอกเล่าวิธีการสร้างชุมชนน่าอยู่ผ่านนิทรรศการ และการเสวนาของตัวแทนผู้นำที่สามารถสร้างชุมชนต้นแบบด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านสุขภาพ
พงษ์เทพ ชัยอ่อน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ บอกเล่าว่า การทำงานที่ชุมชนให้ความสำคัญการดูแลสุขภาพตั้งแต่เด็กจนตายป้องกันโรคเบาหวาน ความดัน สนับสนุนให้ออกกำลังกายด้วยการจัดเวทีรำวง หลังค้นพบว่า การออกกำลังแอโรบิก รำไม้พลอง ในระยะแรกชาวบ้านออกมาร่วมกันพร้อมเพรียงแต่นานเข้าเริ่มหายไปทีละคนสองคนต่างจากรำวงถือว่าถูกจริตกับชาวบ้านที่นี่ และยังมีโครงการชุมชนทำเกษตรปลอดภัยเน้นการตรวจหาสารเคมีในเลือดเป็นระยะ ดังนั้นชาวนาในตำบลไม่ต้องพึ่งพาโครงการจำนำข้าว เพราะข้าวปลอดสารที่ชาวบ้านปลูกมีราคาสูงกว่าโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล
ด้าน นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวสุนทรพจน์ในงานนี้ว่า ชุมชนคือฐานรากของการสร้างประเทศไทย เช่นเดียวกับการสร้างเจดีย์ที่ต้องเริ่มจากฐานไปสู่ยอดจึงจะแข็งแรง ส่วนตรงกลางของเจดีย์คือระบบของประเทศระบบข้าราชการ ระบบเศรษฐกิจ ส่วนยอดคือผู้นำ แต่ประเทศไทยวันนี้ชุมชนซึ่งเป็นรากหญ้าไม่มีอำนาจแต่อยู่ที่ผู้นำจึงเกิดความไม่สมดุล มีความขัดแย้งอย่างรุนแรง เท่ากับนายกรัฐมนตรีกินรวบทั้งประเทศ เวลานี้ทุกฝ่ายจึงเห็นเหมือนกันว่าต้องเปลี่ยนแปลงใหญ่นำไปสู่การปฏิรูปประเทศ คือให้อำนาจชุมชนจัดการตัวเองให้มีส่วนร่วมทำร่วมคิดถือว่าเป็นประชาธิปไตยสมานฉันท์
นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่าที่นักวิชาการเคยบอกว่าการเมืองไปสู่รากหญ้านั้นอย่าไปเชื่อ ประเทศไทยมีนวัตกรรมทางสังคมที่ฝรั่งไม่มี เช่น การใช้ความดีกู้เงินจากสถาบันการเงิน ฝรั่งเมื่อมีอำนาจมีแต่การแย่งชิงคนทุกคนในทวีปแม้แต่ระบบเศรษฐกิจเพียงแค่เปลี่ยนชื่อว่าการค้าเสรี แต่จริง ๆ คือการแย่งชิงทรัพยากรได้อย่างเสรี
“บทบาทท้องถิ่นนั้นสำคัญจะได้สร้างผู้นำทำให้ประเทศไม่ขาด แคลน ผู้นำปัจจุบันคนที่ผู้นำของประเทศไม่ได้เติบโตมาจากผู้นำท้องถิ่นแต่เป็นผู้นำเพราะมีอำนาจเงิน ต่างจากสหรัฐอมริกา จีนผู้นำระดับชาติ เริ่มมาจากผู้นำท้องถิ่น เพราะการเริ่มต้นทำงานกับท้องถิ่นจะช่วยพิสูจน์ว่าคนนั้นเป็นคนดีได้ด้วย” นพ.ประเวศ กล่าว
ในวันประชุมวันสุดท้ายได้ร่วมกันประกาศปฏิญญา “เครือข่าย ร่วมลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง 6 ประเด็น” ด้าน น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชนกล่าวว่า เครือข่ายร่วมสร้างท้องถิ่นน่าอยู่ ได้ร่วมกันจัดตั้งกองทุน”ประชุมครั้งละบาท” เป็นกลไกการส่งเสริมให้สมาชิกเครือข่ายได้มีทรัพยากรร่วมกันทำกิจกรรมความดี และช่วยเหลือกันและกัน โดยการรวมทุนในกองทุนนี้เป็นการลงขันแบบไม่มีเงื่อนไข ตามความสมัครใจและตามกำลังทรัพย์ของสมาชิก โดยใช้กิจกรรมการประชุมเป็นโอกาสของการรวมเงิน และใช้กิจกรรมการทำความดี ส่วน “เครือข่ายอาสาทำดี” เป็นกลไกของการขับเคลื่อนงานอาสาสมัครของเครือข่ายฯ สอดรับกับเจตนารมณ์ของการก่อตั้ง “กองทุนประชุมครั้งละบาท”ทั้งสองกลไกนี้จะทำให้เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นได้แสดงบทบาทของความเป็นพลเมืองในการแก้ปัญหาของสังคมร่วมกัน
ทั้งนี้ เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ได้ประกาศเจตจำนงการเพิ่มคุณภาพการขับเคลื่อนและการรณรงค์ นำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นและความต่อเนื่อง 4 ข้อ คือ 1. สร้างกิจกรรมครอบคลุมการพัฒนาสุขภาวะของประชากร 13 กลุ่ม ประกอบด้วย เด็กอายุ 0-3 ปี, 3-5 ปี, 6-12 ปี, เยาวชน, วัยทำงาน, หญิงตั้งครรภ์, ผู้สูงอายุ, ผู้ติดเชื้อ, ผู้ป่วยจิตเวช, ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง, คนพิการ, ผู้ด้อยโอกาส และผู้ป่วยระยะสุดท้าย 2. สร้าง “ชุมชนเข้มแข็ง หมู่บ้านจัดการตนเอง และจังหวัดจัดการตนเอง 3. บูรณาการงานเสริมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่เข้าสู่ระบบงานประจำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกลุ่มทางสังคม และ4.สร้างและพัฒนานวัตกรรมการจัดการปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง 6 ประเด็นหลัก ได้แก่ การควบคุมการบริโภคยาสูบโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง การควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และลดอุบัติเหตุจราจร การขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนสู่อาหารเพื่อสุขภาวะ การพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ การสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชนโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง และสุดท้ายการส่งเสริมครอบครัวอบอุ่นและเฝ้าระวังตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวถึงบทบาทของ สสส.ในการสาน-เสริมพลังภาคีสร้างเสริมสุขภาพว่า สสส.สนับสนุนเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ก่อให้เกิดศูนย์เรียนรู้ด้านการจัดการ สุขภาวะ 4 มิติ จำนวน 80 แห่ง และเกิดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่อาสาเข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้ จำนวน 2,749 แห่ง มีประชาชนร่วมขบวนการขับเคลื่อนเมืองไทยน่าอยู่มากถึง 1.3 ล้านคน นับเป็นพลังสำคัญในการสร้างท้องถิ่นให้น่าอยู่
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์