พลังงานชุมชน ทางรอดประเทศไทย

พลังงานชุมชน ทางรอดประเทศไทย

ตอบโจทย์ปัญหาวิกฤติพลังงานของประเทศ ด้วย ‘ขุมพลังข้างบ้าน’ แหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีในท้องถิ่น ผ่านประสบการณ์และภูมิปัญญาของเหล่า ‘เซียนพลังงาน’ แต่ละภาค ที่มาโชว์กึ๋นกันใน “มหกรรมพลังงาน ดับโลกร้อนด้วยคำสอนพ่อ” มุ่งหวังสร้างความเข้มแข็งด้านพลังงานแก่ชุมชน

หากกล่าวถึง “พลังงาน” ในแต่ละปีประเทศไทยต้องสูญเสียเงินตราจำนวนมหาศาล นำเข้าน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน เพื่อแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ ผลจากการบริโภคพลังงานเหล่านี้ ยังส่งผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อม ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน อันเป็นสาเหตุสำคัญของพิบัติภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

พลังงานชุมชน ทางรอดประเทศไทย พลังงานชุมชน ทางรอดประเทศไทย

ดังนั้น การแสวงหาและพัฒนาพลังงานทางเลือก เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้ จึงเป็นอีกหนึ่งหนทาง ที่จะช่วยแก้ปัญหา ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิคำแสดธรรมธาร เพื่อพัฒนาพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จ.กาญจนบุรี ร่วมกับมูลนิธินโยบายสุขภาวะ ได้จัด “มหกรรมพลังงาน ดับโลกร้อนด้วยคำสอนพ่อ” ขึ้น เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เผยแพร่และสาธิตเทคโนโลยีพลังงานชุมชนจากทั่วประเทศ อาทิ การทำบ่อก๊าซชีวภาพ การผลิตก๊าซชีวมวล เพื่อใช้หุงต้มในครัวเรือน การซ่อมแผงโซลาเซลล์ เครื่องผลิตไฟฟ้าจากเศษวัสดุการเกษตร เป็นต้น

นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สสส.) นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สสส.) กล่าวว่า สสส.ในฐานะองค์กรหลักที่ส่งเสริมสนับสนุนให้สังคมไทยมีสุขภาวะที่ดี ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาพลังงานทางเลือกเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะในชุมชนต่างๆ จึงได้ให้การสนับสนุนงานวิจัยพัฒนาพลังงานทางเลือกในชุมชน มาตั้งแต่ปี 2551 เพื่อกระตุ้นให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมคิดร่วมทำ โดยใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญาในท้องถิ่นที่มีอยู่ จนเกิดเป็นนวัตกรรมพลังงานที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตน และสามารถขยายผลต่อยอดไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ว่าที่ ร.ต.เชิดศักดิ์ จำปาเทศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ด้าน ว่าที่ ร.ต.เชิดศักดิ์ จำปาเทศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ในฐานะเจ้าของพื้นที่ในการจัดมหกรรมพลังงานฯ ครั้ง เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติการณ์ด้านพลังงาน เนื่องจากพลังงานส่วนใหญ่ที่ใช้ มาจากการนำเข้าแทบทั้งสิ้น อีกทั้ง ปริมาณน้ำมันที่มีในประเทศจะสามารถนำมาใช้ต่อไปอีกเพียง 10 ปี ส่วนก๊าซธรรมชาติ อีก 22 ปี เท่านั้น ซึ่งหากประชาชนยังฟุ่มเฟือย ไม่ตระหนักถึงการประหยัดพลังงาน เชื่อว่าเราย่อมหลีกหนีไม่พ้นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

“ด้วยสายพระเนตรที่กว้างไกลของในหลวง พระองค์ทรงเป็นผู้ริเริ่มการนำทรัพยากรที่มีอยู่มากมายในประเทศ มาทดลองผลิตพลังงานทางเลือก จนมีการน้อมนำไปปฏิบัติตามและขยายผลสู่ทั่วประเทศ ในส่วนของจังหวัดกาญจนบุรีเอง ก็มีศักยภาพในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนหลายประเภท เช่น เตาแก๊สชีวภาพ พลังงานชีวมวล พลังงานลม น้ำและแสงอาทิตย์ เพื่อนำมาใช้สนับสนุนเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน และช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานแก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี” รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าว

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้จัดการมูลนิธินโยบายสุขภาวะ ขณะที่ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้จัดการมูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวถึงเป้าหมายในการจัดมหกรรมพลังงานครั้งนี้ว่า ต้องการให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับเซียนพลังงานหรือช่างชุมชนของแต่ละพื้นที่ ได้มาแสดงผลงานนวัตกรรมพลังงานของตนเอง รวมถึงเป็นโอกาสเผยแพร่พลังงานชุมชนสู่สังคมอีกด้วย เพราะได้เปิดให้ผู้สนใจ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้อง ประชาชนทั่วไป ที่สำคัญคือ กลุ่มเยาวชนได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้เรื่องราวพลังงานทางเลือกจากชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อปลูกฝังการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า

นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านพลังงานชุมชน การเกษตร และวิถีแบบพอเพียง ทั้งหมดก็เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ช่วยลดต้นทุน ประหยัดค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันก็มุ่งรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วย ซึ่งงานนี้ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.

พลังงานชุมชน ทางรอดประเทศไทย             เตาแก๊สพลังงานแกลบหรือเตาแก๊สชีวมวล

“โจทย์สำคัญสำหรับการพัฒนาชุมชนในอนาคต มีด้วยกัน 3 ประการคือ พลังชุมชนกับการช่วยแก้ไขปัญหาขยะ เช่น การสร้างบ่อหมักก๊าซชีวภาพจากเศษอาหาร นอกจากจะช่วยลดกลิ่นขยะแล้ว ยังได้ก๊าซชีวภาพมาใช้หุงต้มอาหารในครัวเรือนอีกด้วย ต่อมาคือ พลังงานชุมชนกับการสร้างอาชีพ ยกระดับจากการผลิตเพื่อใช้เองในครัวเรือนและชุมชน ขยายและพัฒนาเป็นผลิตเพื่อจำหน่าย อย่างเตาแก๊สชีวมวล เตาแก็สพลังแกลบ ที่ใช้ง่าย ราคาถูก และปลอดภัย

สุดท้าย พลังงานชุมชนกับการรับมือภัยพิบัติสำหรับชุมชน เป็นการเตรียมความพร้อมชุมชนให้สามารถรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ ในอนาคต โดยการสังเคราะห์องค์ความรู้ที่มี นำมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมพลังงานใหม่ๆ ได้ เช่น การประดิษฐ์ส้วมลอยน้ำ ติดตั้งแผงโซลาเซล์ ให้แสงสว่างเวลากลางคืน และติดตั้งระบบไบโอแก๊สไว้กำจัดของเสีย สิ่งเหล่านี้เป็นการบูรณาการความรู้ที่มีอยู่ จนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง” ดร.เดชรัต กล่าว

 เตาแก๊สพลังงานแกลบหรือเตาแก๊สชีวมวล   เตาแก๊สพลังงานแกลบหรือเตาแก๊สชีวมวล  กังหันลมผลิตไฟฟ้า

ซึ่งนวัตกรรมพลังงานฉบับชาวบ้านที่ได้รับความสนใจอย่างมากได้แก่ เตาแก๊สพลังงานแกลบหรือเตาแก๊สชีวมวล ของบ้านพวงพะยอม จ.นครราชสีมา ที่ใช้เชื้อเพลิงน้อยกว่าเตาแบบธรรมดา แต่ให้เวลาเผาไหม้นานกว่า หรือที่ จ.พัทลุง นำน้ำเสียจากยางแผ่น นำมาหมักเป็นก๊าซชีวภาพ ทั้งได้กำจัดน้ำเน่า กลิ่นเหม็น และยังได้แก๊สหุงต้มมาใช้ในครัวเรือนฟรีๆ อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้า จากเมืองแพร่ ที่นำพลังงานสะอาดจากธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ได้ไม่รู้จักหมดสิ้น

เห็นได้ว่า หัวใจสำคัญของการพัฒนาพลังงานชุมชน คือการเรียนรู้ เมื่อชุมชนได้เรียนรู้ ก็จะก่อเกิดนวัตกรรมที่ง่าย ไม่ซับซ้อน ซึ่งชุมชนสามารถทำและพัฒนาต่อยอดได้เอง นำไปสู่การพึ่งพาตนเอง ในระดับครอบครัว ชุมชน และระดับชาติ เป็นการช่วยลดภาระด้านพลังงานของประเทศได้ในที่สุด

เรื่องโดย: ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน team content www.thaihealth.or.th

 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code