‘พลังข้อมูล’ หัวใจงานสร้างชุมชนน่าอยู่ยั่งยืน

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


'พลังข้อมูล' หัวใจงานสร้างชุมชนน่าอยู่ยั่งยืน thaihealth


เครือข่ายสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกองค์กรปกครองท้องถิ่น องค์กรทางวิชาการ องค์กรชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล 2,705 แห่ง ซึ่งสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) ผลักดันให้เครือข่ายนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2552 ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


โดยน้อมนำศาสตร์พระราชา "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นกระบวนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น จนสามารถขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สร้างสังคมแห่งการเกื้อกูล เกิดความมั่นคงทางอาหาร ตลอดจนมีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติ


ที่ผ่านมา ปัญหาใหญ่แค่ไหนของชุมชน เครือข่ายฯ มุ่งสะสางโดยเน้นไปที่การทำข้อมูลครอบคลุมเรื่องประชากร ระดับการศึกษา สุขภาพ รายได้ จำนวนคนว่างงาน จำนวนเด็กวัย 0-5 ปี เป็นต้น


ในเวทีสานพลังชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 2 ประจำปี 2561 "ศาสตร์พระราชากับปฏิบัติการสร้างสุขภาวะชุมชน" มีเครือข่ายสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่กว่า 4,000 คน มาร่วมงานที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อวันก่อน


ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวถึงครื่องมือเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและกลไกการทำงานของชุมชนท้องถิ่นในเวทีดังกล่าวว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาชุมชน เน้นให้เห็นทุนและศักยภาพของชุมชน ตลอดจนสนับสนุนคนดีและคนเก่ง เรียกว่า 'ระเบิดจากข้างใน' ซึ่งเครือข่ายใช้เป็นเครื่องมือทำงานร่วมกันกับเครือข่ายศูนย์ในภูมิภาคต่างๆ


'ชุมชนที่เข้าใจตัวเอง รู้ว่าทรัพย์สมบัติของเราอยู่ตรงไหน รู้ว่าอะไรที่จะไปสู่การทำลายชุมชน การเข้าใจอย่างถูกต้องจะนำไปสู่การชี้นำความคิดไปในทิศทางเดียวกับสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน และสอดคล้องกับสิ่งที่จะเกิดในชุมชน ฉะนั้นเครื่องมือของการจัดการเรียนรู้อยู่ที่การจัดทำข้อมูลโดยชุมชนเอง ระหว่างนี้จะทำให้ชุมชนได้เรียนรู้มหาศาล เช่น เปิดโอกาสให้พูดคุยกับคนที่เราไม่ชอบ ได้เพื่อนมากขึ้นด้วย โดยหลักการเมื่อเก็บข้อมูลแล้วต้องวิเคราะห์ หากทักษะนี้ยังไม่ได้ต้องมีหลักวิชาการมาหนุนเสริม' ดวงพรกล่าว


'พลังข้อมูล' หัวใจงานสร้างชุมชนน่าอยู่ยั่งยืน thaihealth


8 ปีกับการเกิดขึ้นของเครือข่ายสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เกิดปรากฏการณ์ข้อมูลที่ลึกซึ้งและเข้าถึง ช่วยแก้ปัญหาของชุมชนได้ในที่สุด ผลงานรูปธรรม ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน กล่าวว่า เป็นอินโฟกราฟฟิกของชุมชนเรื่องปฏิบัติการระบบนิเวศชุมชน การจัดการภัยพิบัติหรือสถานะสุขภาวะของชุมชน ประกอบด้วยข้อมูลทั่วไป จำนวนประชากร ชาย หญิง เด็ก ระดับ 0-5 ปี เป็นต้น


การสร้างสุขภาวะชุมชนขาดข้อมูลระดับชุมชนไม่ได้ รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อธิบายประโยชน์ของข้อมูลว่า เมื่อเทียบข้อมูลระดับประเทศกับชุมชนมีความแตกต่างกัน ชุมชนได้เรียนรู้ ศึกษาวิจัยด้วยตนเอง นำไปสู่การแก้ปัญหาเอง เชื่อว่าชุมชนเรียนรู้ได้เหมือนนักวิชาการ สำหรับข้อมูลฐานใหญ่ของประเทศที่ใช้การสุ่ม มีการวิจัยจะใช้ข้อมูลเพียง 40% แต่ถ้าชุมชนทำเองจะทำ 100% ข้ามบ้านเลขที่ใดเลขที่หนึ่งไปไม่ได้ เช่น พบตัวเลขว่างงานในชุมชนอยู่ที่ 11% อบต.ต้องรู้ละเอียดว่า มีคนว่างงานในชุมชนเท่าไร เข้าไปส่งเสริมอาชีพหรือจับกลุ่มคนว่างงานกับกลุ่มอาชีพในชุมชน มีคนไม่ได้รับการศึกษาหรือจบการศึกษาระดับใดบ้าง หรือผู้สูงอายุในชุมชนมีเท่าไร ได้รับเบี้ยยังชีพกี่คน ผู้งสูงอายุติดเตียงมีหรือไม่ ข้อมูลของฐานประชากรจะรู้ว่าต่อไปชุมชนจะมีผู้สูงอายุเพิ่มกี่เปอร์เซ็นต์เพื่อออกแบบชุมชน ออกแบบอาชีพ หรือสร้างผู้ดูแลผู้สูงอายุไว้รองรับ


'พลังข้อมูล' หัวใจงานสร้างชุมชนน่าอยู่ยั่งยืน thaihealth


'ส่วนข้อมูลจำนวนเด็ก 0-5 ขวบ องค์กรปกครองท้องถิ่นจะใช้ประโยชน์ นำไปออกแบบศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งเป็นสถานที่พัฒนาด้านสมอง เด็กวัยนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญ สมองพร้อมที่จะพัฒนา ขณะเดียวกันเด็กที่อยู่กับผู้สูงอายุในชุมชนต้องเข้าไปดูแล เพราะบางครั้งผู้สูงอายุแอคทีฟตามเด็กไม่ทัน ทำให้เด็กเสียโอกาสการเรียนรู้' รศ.ดร.ขนิษฐาเผยคุณค่าของข้อมูลเชิงลึก


สำหรับก้าวต่อไปของการยกระดับเครือข่ายสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพ มข. กล่าวว่า สสส.ได้สนับสนุนให้สถาบันการศึกษาในท้องถิ่นนำหลักวิชาการมาหนุนเสริมข้อมูลท้องถิ่น ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยราชภัฏ 10 แห่งร่วมเป็นเครือข่าย โดยอยู่ระหว่างการเรียนรู้ร่วมกัน กำหนดให้ราชภัฏ 1 แห่ง ทำงานร่วมกับ อบต. 42 แห่ง อาทิ หากชุมชนต้องแก้ปัญหาขยะหรือปัญหาของสภาพแวดล้อมปนเปื้อนสารเคมี อาจดึงพลังของผู้สูงอายุเข้ามาเป็นแกนหลัก มีสถาบันวิชาการเข้ามาให้ความรู้ หรือ อบต.ต้องทำหน้าที่จัดหางบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสานต่องานสร้างสุขภาวะ เช่น มีผู้สูงอายุติดเตียง เดินไม่ได้ ต้องใช้ราวจับเพื่อเข้าห้องน้ำ ฝ่ายกองช่าง อบต.มาทำราวจับให้เดินได้ กองสาธารณสุขจัดสรรงบประมาณอบรมแคร์กิ๊ฟเวอร์ดูแลผู้สูงอายุในชุมชน เป็นต้น


ในมิติด้านเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ รศ.ดร.ขนิษฐากล่าวถึงเป้าหมายว่า ต้องการให้ชุมชน สังคม มีบทบาทผลิตอาหารบริโภคเอง ปลูกผักสวนครัวเพื่อทำกินเอง ส่วนที่เหลือแลกเปลี่ยนและขายในชุมชน ระบบผลิตนี้ไม่ได้มุ่งรายได้เป็นที่ตั้ง แต่เน้นลดรายจ่าย นอกจากนี้ในกลุ่มผู้สูงอายุสามารถส่งเสริมเรื่องอาชีพ มีโรงเรียนผู้สูงอายุเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่เป็นคนแก่ที่ติดบ้าน แต่ติดสังคมแทน


ภาพของท้องถิ่นน่าอยู่อย่างยั่งยืนไม่ไกลเกินฝัน แต่จากเวทีนี้สรุปบทเรียนและชี้แนวทางสำคัญต้องเริ่มต้นจากการทำข้อมูล ปรากฏการณ์แห่งข้อมูลจะนำไปสู่การแก้ปัญหาให้ตรงจุดทำ และได้ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงตามศาสตร์พระราชาอย่างแท้จริง

Shares:
QR Code :
QR Code