พฤติกรรมพลังพวกสร้างครอบครัวเป็นสุข
ที่มา : ไทยรัฐ
แฟ้มภาพ
แนะพ่อแม่มีอารมณ์ขัน-รับฟังลูก มุ่งเน้นใช้ความประณีตในการเลี้ยงดู เน้นพฤติกรรมเชิงบวกสร้างครอบครัวเป็นสุข
รศ.ดร.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวบรรยายเรื่อง "ครอบครัวยุคพลิกผัน (disruptive )" ในการประชุมวิชาการอนามัยครอบครัวแห่งชาติ ครั้งที่ 9 ว่า สถานการณ์ครอบครัวไทยที่มีประมาณ 20 ล้านครอบครัว ร้อยละ 70 เป็นลักษณะครอบครัวขนาดเล็ก ซึ่งมีทั้งรูปแบบครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวหย่าร้าง แหว่งกลางที่ปู่ย่าตายายเลี้ยงหลานแล้ว พ่อแม่ไปทำมาหากิน เหลือเพียงร้อยละ 30 เป็นครอบครัวขยาย
ขณะเดียวกันอัตราการเกิดมีแนวโน้มต่ำลงอยู่ที่ 1.6 จากอดีตที่อัตราการเกิดอยู่ที่ 6-7 แสนคนต่อปี ขณะนี้เหลือเพียงครึ่งเดียวประมาณ 2-3 แสนคนต่อปี ประกอบกับสังคมสูงวัยมากขึ้น เด็กยุคปัจจุบันเมื่อเติบโตเป็นวัยแรงงาน จะกลายเป็นสัดส่วน 2 ต่อ 1 ที่ต้องแบกภาระดูแลผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศรวมทั้งต้องดูแลครอบครัวไปด้วย เด็กในยุคปัจจุบันจึงต้องมีคุณภาพอย่างมาก
ดังนั้นครอบครัวยุค disruptive สิ่งที่อยากเน้นย้ำให้เกิดมากที่สุดคือความประณีตในการเลี้ยงลูก โดยเฉพาะทักษะการพูดในทางพลังบวกที่เริ่มต้นจากตัวเราเอง พฤติกรรมพลังบวกหากทำเป็นพฤตินิสัย จนเป็นวิถีชีวิตจะเป็นวิถีแห่งสันติสุขที่เริ่มต้นจากครอบครัว พ่อแม่ลูกมีโอกาสคุยกัน รับฟังเสียงกัน หรือแม้สามีภรรยาก็สามารถที่จะสื่อสารประโยคบวกๆ เพื่อการส่งสัญญาณพลังบวกได้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับครอบครัวที่มีขนาดเล็กลง
รศ.ดร.สุริยเดวกล่าวด้วยว่า 5 เรื่องที่มีความหมายในครอบครัวยุค disruptive ที่เปลี่ยนแปลงไปคือ
1.การทำให้ครอบครัวมีคุณภาพต้องไม่ลืมจินตนาการ วิธีการคือพ่อแม่ต้องรู้จักเหลาความคิด ใช้คำถามปลายเปิดที่ใช้เสียงที่อ่อนโยน อบอุ่น ไม่ประชดประชัน เหน็บแนมแต่เป็นการเปิดประเด็นให้ลูกได้เหลาความคิดไปเรื่อยๆ จินตนาการก็จะเกิด
2.ความศรัทธาและแรงบันดาลใจ ซึ่งจะเกิดได้จากพลังบวก
3.สายใยรัก ที่ต้องร่วมทุกข์ร่วมสุข
4.คุณธรรม ซึ่งไม่ใช่เป็นนามธรรม แต่เป็นพฤติกรรมดี ทั้งมีความพอเพียง มีจิตอาสา มีน้ำใจแบ่งปัน มีวินัย สุจริต ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ รู้เท่าทันสิ่งเหล่านี้ พ่อแม่ต้องช่วยและ
5.จิตสำนึกแห่งพลังบวก ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากการท่องจำ แต่ทั้งบ้านต้องลงมือปฏิบัติร่วมกันจนเกิดเป็นวิถีแห่งชีวิต พฤติกรรมพลังบวก สามารถกู้วิกฤติชีวิต และครอบครัว และกลายเป็นครอบครัวสันติสุขที่จะสะท้อนไปสู่สังคมสันติสุข
ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สัมพันธภาพเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างครอบครัวคุณภาพ รวมถึงการเปิดพื้นที่เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ขณะที่ ผศ.ชัยวัฒน์ วงศ์อาษา หัวหน้าภาควิชาอนามัยและครอบครัว คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ครอบครัวคุณภาพต้องมีความผูกพันทางอารมณ์จิตใจในการดำเนินชีวิตร่วมกัน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน สมาชิกในครอบครัวยอมรับและให้เกียรติกัน โดยเฉพาะพ่อแม่ต้องรับฟังลูก มีอารมณ์ขัน และมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง.