พฤติกรรมที่บอกว่ามี ‘เสพติดอาหาร’
ที่มา : ชุดโครงการ “รวมพลังขยับกาย สร้างสังคมไทยไร้พุง”
แฟ้มภาพ
พูดถึงคำว่าเสพติด คนทั่วไปมักจะคิดถึงยาเสพติด การติดเหล้า ติดบุหรี่ หรือของมึนเมาต่าง ๆ ใครจะคิดว่าอาหารที่เรากินทุกวันก็สามารถทำให้เราเกิดการเสพติดได้เช่นเดียวกัน
พฤติกรรมที่บ่งบอกว่ามีการเสพติดอาหาร
- เลือกซื้ออาหารชนิดนั้นเป็นประจำสัปดาห์ละมากกว่า 3 ครั้ง
- กินอาหารชนิดนั้นมากกว่าที่วางแผนว่าจะกิน หรือกินแล้วไม่อยากหยุดกิน
- มีความอยากกินอาหารชนิดนั้นมากกว่าอาหารชนิดอื่น
- กินอาหารชนิดนั้นแม้ว่าจะไม่หิวเลยก็ตาม
- เมื่อไม่ได้กินอาหารชนิดนั้นจะทำให้จิตใจไม่เป็นสุข เกิดความหงุดหงิด อารมณ์เสียหรืออาการทางร่างกาย เช่น ปวดหัว มือสั่น ใจสั่น หน้ามืด
- ขาดสมาธิเมื่อไม่ได้อาหารชนิดนั้น ๆ
- หาข้ออ้างหรือเหตุผลในการกินอาหารชนิดนั้นเสมอ
แนวทางการแก้ไขเสพติดอาหาร
- วางแผนการกินในแต่ละวัน และพยายามทำให้ได้ตามแผน สามารถกินอาหารที่เสพติดได้ แต่กินให้น้อยลงและกินเฉพาะในมื้ออาหารเท่านั้น
- พยายามเลือกอาหารที่มีประโยชน์แทนอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น หากติดการดื่มน้ำหวาน อาจเริ่มเปลี่ยนแปลงเป็นผลไม้รสหวานแทน และกินผลไม้ที่ไม่หวานร่วมด้วย
- ทำการจดบันทึกพฤติกรรมกินว่า ควรมีความถี่ในการกินมากน้อยแค่ไหน
- ถามตัวเองก่อนที่จะกินอาหารที่เสพติดว่า ต้องการจริง ๆ หรือไม่ และต้องการปริมาณเท่าใดถึงจะพอ การถามตัวเองก่อนจะช่วยลดปริมาณความอยากอาหารลงได้
- พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการซื้อหาหรือมีอาหารที่เสพติดอยู่
การเสพติดอาหารแม้จะฟังดูไม่น่ากลัวเหมือนการเสพติดอย่างอื่น แต่ก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้เช่นกัน ดังนั้น หากเราสามารถที่จะลดการเสพติดอาหารโดยเฉพาะอาหารนั้นเป็นอาหารที่ก่อให้เกิดโทษต่อร่างกายได้แล้ว ก็จะทำให้เรามีความสุขกับการกินอาหารได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น และทำให้สุขภาพดีตามมา