พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส เกี่ยวกับศาสนา

พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส เกี่ยวกับศาสนา

 

 

 

“…พระพุทธศาสนาชี้ทางดำเนินชีวิตที่ปราศจากโทษ ช่วยให้เกิดความเจริญร่มเย็น ได้อย่างแท้จริง เพราะมีคำสั่งสอนที่ มีลักษณะพิเศษประเสริฐ ในประการอาศัย เหตุผลอันถูกต้องเที่ยงตรงตามความเป็นจริง เป็นพื้นฐาน เป็นประโยชน์แท้จริงแก่ทุกคน…”

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส

พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในการเปิดประชุมใหญ่ของสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร

ณ วิทยาลัยครูจันทบุรี

วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๑๘

 

 

 

 

“…พระพุทธศาสนา บริบูรณ์ด้วยสัจธรรมที่เป็นสาระ และเป็นประโยชน์ในทุกระดับ แต่จะต้องศึกษา ให้มีความรู้ความเข้าใจและปฏิบัติให้เหมาะสมแก่ภาวะปัจจุบัน ด้วยศรัทธาและปัญญาที่ถูกต้อง จึงจะเกิดเป็นประโยชน์ขึ้นได้…”

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในการเปิดประชุมใหญ่ สมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร

ณ จังหวัดกาฬสินธุ์

วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๑๒

 

 

 

 

“…พระพุทธศาสนา แสดงความจริงของชีวิต แสดงทางปฏิบัติที่จะให้บรรลุความสุขสูงสุดของชีวิต มีวิธีการสั่งสอนที่ยึดหลักเหตุและผลว่า ทุกสิ่งเกิดจากเหตุ ผู้ใดประกอบเหตุอย่างไร เพียงใด ก็ได้ผลอย่างนั้นเพียงนั้น…”

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

พระราชทานแก่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย

วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๓

 

 

 

 

“…พระพุทธศาสนานั้น หากหมายถึงคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแท้ๆ ย่อมมี ความแน่นอนมั่นคง เพราะคำสอนของพระบรมศาสดา เป็นธรรม คือ หลักความจริงที่คง ความจริงอยู่ตลอดกาลทุกเมื่อ ไม่มีแปรผัน…”

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส

พระราชทานแก่ผู้เข้าประชุมใหญ่ขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก

ณ ประเทศเนปาล

วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๙

 

 

 

“…พระพุทธศาสนา ถึงแม้ปัจจุบันนี้จะมีหลายนิกาย แต่ก็ยึดหลักธรรมอันเป็นแก่นแท้อย่างเดียวกัน คือ ถือว่าธรรมทั้งหลายทั้งสิ้นเกิดแต่เหตุ เมื่อมีเหตุ ก็ต้องมีผล ไม่มีสิ่งใดที่อยู่เหนือเหตุและผล นอกจากนั้นยังต่างถือว่าการแผ่เมตตาสงเคราะห์ เกื้อหนุนกัน เป็นกรณียกิจสำคัญในการจรรโลงความสงบสุขของชาวโลก…”

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส

พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในงานฉลอง ๒๕ ปี ขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก

วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙

 

 

 

 

“…พระพุทธศาสนา นั้น มีลักษณะพิเศษประเสริฐในการที่อาศัยเหตุผลอันเที่ยงแท้ตามเป็นจริง เป็นพื้นฐาน และหยิบยกขึ้นปฏิบัติเพื่อ ความสุขความเจริญ และความบริสุทธิ์ได้ตาม วิสัยของตนจึงเป็นศาสนาที่ เข้ากับหลักวิทยาศาสตร์…”

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส

พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในการเปิดประชุมใหญ่ของ สมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร

ณ พุทธสถาน จังหวัดเชียงใหม่

วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๑๕

 

 

 

 

“…ธรรมะในพระพุทธศาสนา มีความหมดจดบริสุทธิ์ และสมบูรณ์บริบูรณ์ด้วยเหตุผล ซึ่งบุคคลสามารถจะศึกษา และปฏิบัติด้วย ปัญญา ความเพ่งพินิจ ให้เกิดประโยชน์ คือความเจริญผาสุกแก่ตนได้ อย่างแท้จริง…”

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

พระราชทานในพิธีเปิดการประชุมใหญ่ของสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร

วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๒๔

 

 

 

 

“…ธรรมะในพระพุทธศาสนาเป็นคำสอนที่แสดงสัจธรรม ความแท้จริงของสภาวธรรมทุกสิ่ง ดังนั้น ถึง หากสังคมจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ก็ไม่เกินไปกว่า ที่ชาวพุทธจะพิจารณารู้เท่าทันได้ เมื่อได้ปฏิบัติ อยู่ในธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยถูกต้อง มั่นคงแล้ว ความเปลี่ยนแปลงใดๆ ในสังคมก็ไม่ใช่ เหตุที่ควรวิตกอีกต่อไป…”

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

พระราชทานในพิธีเปิดการประชุมใหญ่สมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร

วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๓๔

 

 

 

 

“…ทุกคนที่ถือตัวว่าเป็นชาวพุทธจะต้อง สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาตามภูมิปัญญา ความสามารถ และโอกาสของตนที่มีอยู่ เพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจที่กระจ่างถูกต้อง พระศาสนาก็จะมั่นคงขึ้นได้…”

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส

พระราชทานแก่ที่ประชุมใหญ่ขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก

ณ ประเทศเนปาล

วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๙

 

 

 

 

“…ผู้นับถือพระพุทธศาสนา ไม่ว่าเป็นชาติเชื้อใด และแม้อยู่ในนิกายใดล้วนถือทางปฏิบัติในกายวาจาใจเป็นอย่างเดียวกัน คือ ย่อม พยายามอยู่ทุกเมื่อที่จะรักษากายวาจาใจให้สะอาด ด้วยระเบียบปฏิบัติ อันดีงามและสุจริตที่จะควบคุมประคองใจ ให้สงบด้วยความมีสติรู้ตัวอยู่ ตลอดเวลา…”

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส

พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในการประชุมใหญ่องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก

ณ ตึกรัฐสภา

วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๓

 

 

 

 

“…ผู้นับถือพระพุทธศาสนา ไม่ว่าเป็นชาติเชื้อใด และแม้อยู่ใน นิกายใด ล้วนถือทางปฏิบัติในกายวาจาใจเป็นอย่างเดียวกันคือย่อมพยายามอยู่ทุกเมื่อ ที่จะรักษากายวาจาใจให้ สะอาดควบคุมประคองใจ ให้สงบด้วยความมีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ชาวพุทธที่แท้อยู่ ณ ที่ใดย่อม ทำให้ที่นั่นสงบร่มเย็น มีแต่ความปรองดอง และสร้างสรรค์…”

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส

พระราชทานในการประชุมใหญ่ องค์กรพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก

ณ อาคารรัฐสภา

วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๓

 

 

 

 

“…การธำรงความเจริญมั่นคงของพระศาสนาจึงน่าที่จะเน้นที่การแนะนำให้เห็นประโยชน์ของการศึกษาปฏิบัติธรรมเป็นสำคัญ เมื่อประโยชน์แห่งการปฏิบัติธรรมเกิดขึ้นแล้ว ก็จะพึงพอใจและจะขวนขวาย ศึกษาปฏิบัติให้สูงขึ้น และเมื่อชาวพุทธรู้ธรรมะปฏิบัติธรรมกันอย่างถูกต้อง ทั่วถึงมากขึ้นพระศาสนาก็จะเจริญ มั่นคง…”

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในการเปิดประชุมใหญ่ของสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร

วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๒๘

 

 

 

 

“…ความจริงใจต่อผู้อื่น เป็นคุณธรรมสำคัญมาก สำหรับผู้ที่ ต้องการความสำเร็จและความเจริญ เพราะช่วยให้ สามารถขจัดปัดเป่าปัญหาได้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาอันเกิดจากความกินแหนง แคลงใจและเอารัดเอาเปรียบกัน…”

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๓๔

 

 

 

 

“…การสั่งสอนธรรมะโดยบริสุทธิ์ และการปฏิบัติธรรม เป็นแบบอย่างโดยประจักษ์ผลนี้ จะเป็นเหตุชักนำ และช่วยให้คนทั่วไป สามารถศึกษาเข้าใจหลักธรรมได้กระจ่างชัด และเกิดศรัทธาความเชื่อใน พุทธศาสนาอย่างถูกต้อง…”

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส

พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในวันเปิดประชุมใหญ่ องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก

วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๗

 

 

 

 

“…เมื่อชาวพุทธรู้ธรรมะ ปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้องทั่วถึง พระศาสนาก็จะมั่นคงขึ้นได้ ทั้งนี้ เพราะเหตุที่บ่อนเบียนพระศาสนาให้เศร้าหมองนั้น มักจะมาจากการกระทำของชาวพุทธผู้ไม่รู้ ไม่เข้าใจ และไม่ปฏิบัติตามธรรมะนั่นเองเป็นสำคัญ…”

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส

ในการประชุมใหญ่ขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก

วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๙

 

 

 

 

“…ผู้ที่ยึดมั่นและปฏิบัติตามสิ่งที่ยึดมั่นนั้น คือ ความดี เป็นผู้ที่เจริญ เพราะว่าคนเราถ้าทำงานอะไร ไม่มีความคิดที่แจ่มใส ไม่มีความคิดที่บริสุทธิ์ ไม่สามารถที่จะปฏิบัติงานได้เป็นผลสำเร็จที่ดีงามและยั่งยืน…”

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส

พระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงานเมาลิดกลาง

ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๒๒

 

 

 

 

“…ในการดำเนินชีวิตของเราต้องข่มใจไม่กระทำสิ่งใดๆ ที่รู้สึกด้วยใจจริงว่าชั่ว ว่าเสื่อม ต้องฝืนต้องค้านความคิดและความประพฤติทุกอย่างที่รู้สึกว่าขัดกับธรรมะ เราต้องกล้า และบากบั่นที่จะกระทำสิ่งที่เราทราบว่าเป็นความดี เป็นความถูกต้อง และเป็นธรรม…”

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส

พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในพิธีเปิดการประชุมยุวพุทธิกสมาคมทั่วประเทศ

ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๓

 

 

 

 

“…การดำเนินชีวิตโดยใช้วิชาการอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ จะต้องอาศัยความรู้รอบตัวและหลักศีลธรรมประกอบด้วย ผู้ที่มีความรู้ดีแต่ ขาดความยั้งคิด นำความรู้ไปใช้ในทางมิชอบ ก็เท่ากับเป็นบุคคลที่เป็นภัยแก่สังคมของมนุษย์…”

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

ในพิธีพระราชทาน ปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๐๔

 

 

 

 

“…ความเจริญของคนทั้งหลาย ย่อมเกิดมาจากการประพฤติชอบ และการหาเลี้ยงชีพชอบเป็นหลักสำคัญ ผู้ที่จะสามารถประพฤติชอบและหาเลี้ยงชีพได้ด้วยนั้น ย่อมจะต้องมีทั้งวิชาความรู้และหลักธรรมทางศาสนาวิชาการ กับหลักธรรมนี้มีประกอบกันพร้อมในผู้ใด ผู้นั้นจะได้ประสบความสุข และความสำเร็จในชีวิตโดยสมบูรณ์…”

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส

พระราชทานแก่คณะครูโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม ๔ จังหวัดภาคใต้

ณ มัสยิดกลาง จังหวัดปัตตานี

วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๑๙

 

 

 

 

“…การทำนุบำรุงและส่งเสริมพระศาสนานั้น ไม่มีทางใดจะดี จะตรง จะสำคัญยิ่งไปกว่าการธำรงรักษาความบริสุทธิ์บริบูรณ์ของพระธรรมวินัยทั้งในด้านปริยัติและในด้านปฏิบัติ…”

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในการเปิดประชุมใหญ่ของ สมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร

วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๒๖

 

 

 

 

“…ชาวไทยซึ่งเป็นพุทธมามกชนมีจิตสำนึกมั่นคง อยู่ในกุศลสุจริต และในความเมตตาการุญ เห็นว่าศาสนาทั้งปวง ย่อมสั่งสอนความดีให้บุคคล ประพฤติปฏิบัติแต่ในทางที่ถูกที่ชอบ จึงมิได้ดูแคลนเบียดเบียนผู้ถือศาสนาอื่น ดังนี้คริสต์ศาสนาจึงเจริญงอกงาม ขึ้นได้ในประเทศไทย…”

 

 

 

ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส

ในโอกาสที่สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์นพอล ที่ ๒ เข้าเฝ้า

ณ พระที่นั่งจักรีมหาประสาท

วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๒๗

 

 

 

 

“…ศาสนาอิสลามนี้ มีความดีเป็นพื้นฐาน เพราะว่าศาสนาอิสลามสอนให้ทุกคนเป็นพลเมืองดี ทุกคนมี ความเข้มแข็ง มีวินัย และมีความปรารถนาดีต่อกันนี้ เป็นหลักที่สำคัญ ประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามจึงมีส่วนสำคัญในการสร้างบ้านเมืองให้เจริญและ มั่นคง…”

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code