พรบ.คุมน้ำเมา จะแท้งหรือพิการ??
เพื่อประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน ประชาชนต้องร่วมพิจารณาไปพร้อม ๆ กัน
แม้ พรบ.คุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะผ่านการพิจารณาวาระแรกของสนช.ไปแล้ว แต่ระยะทางยังอีกยาวไกลและไม่ได้โรยด้วยดอกกุหลาบแน่นอน มีข่าวปิดกันให้แซ่ดว่า ที่การเคลื่อนไหวจากฝ่ายที่ไม่ต้องการให้ พรบ.นี้ออกมาประกาศใช้(คงทายไม่ยากว่าฝ่ายไหน) อย่างคึกคัก จึงมีการส่งตัวแทนโดยตรง(ผู้บริหารธุรกิจน้ำเมา)และนอมินี่เข้าไปอยู่ในคณะกรรมาธิการเพื่อที่จะแก้ไข พรบ.นี้ ให้ลดประสิทธิภาพลงได้จำนวนมาก
ธุรกิจน้ำเมา และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง(กล่าวเฉพาะที่ออกมาโวยวายแล้ว และทายได้ว่าจะมีออกมาเป็นแถว ตามที่ธุรกิจลูกพี่สั่งการ) เช่น ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจภัตราคาร ธุรกิจโรงแรม เป็นต้น ไม่ควรเห็นแก่ผลประโยชน์ของตนเอง มากเกินกว่าผลประโยชน์ของสังคมไทย โดยเฉพาะลูกหลานไทยที่จะเป็นอนาคตของชาติต่อไป เพราะแม้มี พรบ.นี้บังคับใช้ ก็คงถึงขั้นทำให้ธุรกิจของท่านย่อยยับอับจนไปแต่อย่างใด ยกตัวอย่างบริษัทเดียว ที่ออกมาแถลงผลประกอบการแล้ว คือ บริษัทไทยเบรฟ(ผู้ผลิตเบียร์ช้าง และเกือบจะผูกขาดเหล้าขาว) รายเดียว ก็ทำยอดขายในปี 2549 ได้ถึง 97,798 ล้าน(ซึ่งเงินค่าน้ำเมาส่วนใหญ่มาจากผู้มีรายได้น้อย สำนวนไทยเรียกว่า “เอาเนื้อหนูไปแปะเนื้อช้าง” เข้ากับเรื่องนี้ได้ดีทีเดียว)
ปัญหาที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีมากมายหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ(รวยกระจุก จนกระจายเพราะน้ำเมา) สังคม(ครอบครัวแตกแยก ลูกมีปัญหา) การเมือง(เขาลือกันว่าเงินซื้อเสียงส่วนใหญ่มาจากธุรกิจน้ำเมาจริงไหมกรุณาตอบด้วย) ศาสนา(วัดกลายเป็นวงเหล้า งานบุญกลายเป็นงานบาปไปทั้งประเทศ) สุขภาพ(องค์การอนามัยโลกบอกว่าโรคภัยกว่า 60 โรคเกิดจากน้ำเมา) อุบัติเหตุ(คนไทยตายปีละเป็นหมื่นคน ก็มีน้ำเมาเป็นเหตุหลัก) ปัญหาเยาวชน(ท้อง แท้ง ติดเอดส์ ติดคุก ฯลฯ) แรงงานด้อยคุณภาพ(วัยทำงานส่วนใหญ่เป็นนักดื่ม) ฯลฯ ซึ่งมีการประเมินมูลค่าในเบื้องต้นประมาณปีละกว่า 5 แสนล้านบาท (น.พ.ยงยุทธ ขจรธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิชาการสาธารณสุข ประเมินไว้และใกล้เคียงกับประเทศอื่น ๆ ที่มีขนาดพอกับประเทศไทย แต่ดื่มน้ำเมาน้อยกวา) ในขณะที่(ก็คือ คนไทยทั้งหมด) ต้องรับผิดชอบแทนธุรกิจน้ำเมา ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของคนไม่กี่ตระกูลจนบางตระกูลรวยติดอันดับโลก เป็นธรรมกับทุกคนในสังคมแล้วหรือ
ขอกราบวิงวอนท่านสนช.ทุกท่าน ไม่ว่าท่านจะมาจากกลุ่มผลประโยชน์ใด แต่วันนี้ท่านคือ ผู้แทนของประชาชนทุกคน(ยิ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งยิ่งควรตระหนักให้มาก) ไม่ใช่ตัวแทนผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มอีกต่อไป (อย่าใส่หมวกผิดขณะประชุมสภาฯ) แม้ท่าจะเคยได้รับผลประโยชน์อย่างใดมาจากธุรกิจน้ำเมา ไม่ว่าจะรับมานานแล้ว หรือเมื่อไม่นานก็ตาม ก็ต้องตระหนักว่า ผลประโยชน์นั้นไม่มากไปกว่าคุณของแผ่นดินไทยที่ท่านเติบโตมา ถ้าจะตอบแทน ก็ย่อมต้องตอบแทนคุณแผ่นดินก่อน
อย่างไรก็ตามขอย้ำความเห็นที่เคยแสดงไปแล้วว่า ขอแสดงความเคารพความเห็นที่บริสุทธิ์ของ สนช.ทุกท่านได้รับผลประโยชน์จากธุรกิจน้ำเมาไม่ว่าทางตรง ทางอ้อม ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นย่อมเชื่อมั่นได้ว่า ท่านจะช่วยพิจารณาปรับปรุง พรบ.ฉบับนี้ให้ดีกว่าที่ รัฐบาล และสนช.กลุ่มหนึ่งเสนอไว้ โดยการขอแปรญัตติเพิ่มเติมสิ่งที่ควรมีแต่ยังไม่มี เช่น การจำหน่ายใกล้สถานศึกษา ศาสนสถาน และในเขตนิคมอุตสาหกรรม การมีผู้แทนจากภาคประชาชนในกรรมการระดับต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นข้อเสนอของภาคประชาชนที่เคยเสนอกไปแล้ว
ในขณะที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพรบ.นี้ ภาคประชาชนก็จะตั้งคณะกรรมาธิการภาคประชาชน ร่วมกับประชาชนที่สนใจ พิจารณา พรบ.นี้ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อทำข้อเสนอเข้าสู่กรรมาธิการวิสามัญฯ และ สนช.ต่อไป เพราะ พรบ.นี้ไม่ได้เป็น พรบ.ของรัฐบาล หรือ สนช. เท่านั้น แต่มีประชาชนกว่า 13 ล้านคนลงนามสนับสนุน และต้องการให้มีพรบ.คุมน้ำเมาที่มีประสิทธิภาพ พอที่จะลดปัญหาของสังคมไทยจากน้ำเมาได้อย่างยั่งยืน
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
Update:22-07-51