พม.เผยปี 61 เด็ก-เยาวชนประสบปัญหากว่า 7.5 หมื่นคน
ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
เด็กถูกทารุณกรรมทางเพศ ม.ค.-ส.ค.61 พุ่งกว่า 1 พันคน เร่งสร้างการรับรู้ครอบครัว ชุมชน สังคม เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
นายสุทธิ จันทรวงษ์ รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึง สติถิการดูแลเด็กและเยาวชนที่ประสบปัญหาในด้านต่างๆ ว่า เด็กและเยาวชนของประเทศไทยมีปัญหาในหลายด้าน เช่น พฤติกรรมไม่เหมาะสม การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมในครอบครัว หรือการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ที่พบว่ามีสถิติเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง ทั่งนี้สถิติการดูแลเล็กและเยาวชนประสบปัญหาต่างๆ และได้รับการดูแลจากหน่วยงานในสังกัดดย. พบว่าสถิติการให้บริการในสถานรองรับเด็ก 30 แห่ง และบ้านพักเด็กและครอบครัว 77 จังหวัด ในปี 2559 มีเด็กและเยาวชนที่ประสบปัญหา 29,095 คน ปี 2560 มีเด็กและเยาวชนที่ประสบปัญหา 49,140 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 คิดเป็นร้อยละ 40.79 และปี 2561 มีเด็กและเยาวชนที่ประสบปัญหา 75,350 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 คิดเป็นร้อยละ 34.78 โดยในปี 2561 แยกเป็นประเด็นปัญหาคือ 1.เด็กที่ผู้ปกครองไม่สามารถเลี้ยงดู การให้บริการบ้านพักเด็กและครอบครัว 77 แห่ง 10,806 คน สถานรองรับ 30 แห่ง 27 คน 2. เด็กกำพร้าเร่ร่อน ทอดทิ้ง การให้บริการบ้านพักเด็กฯ 4,307 คน สถานรองรับ 16 คน 3.ครอบครัวยากจน การให้บริการบ้านพักเด็กฯ 46,896 คน สถานรองรับ 27 คน 4. พฤติกรรมไม่เหมาะสมแก่วัย การให้บริการบ้านพักเด็กฯ 5,976 คน สถานรองรับ 19 คน และ 5. ถูกกระทำรุนแรง การให้บริการบ้านพักเด็กฯ 7,249 คน และสถานรองรับ 27 คน นอกจากนี้ยังพบว่า สถิติผู้รับบริการปัญหาทารุณกรรมเด็ก ของบ้านพักเด็กฯ ในปี 2559 ทางกาย 245 คน ทางเพศ 310 คน ปี 2560 ทางกาย 316 คน ทางเพศ 1,160 คน และจากเดือนม.ค.-เดือนส.ค. 2561 ทางกาย 520 คน และทางเพศ 1,087 คน
นายสุทธิ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาพฤติกรรมการใช้ออนไลน์ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนเป็นอย่างมาก โดยมีข้อมูลจากไทยฮอตไลน์ สายด่วน อินเทอร์เน็ตwww.thaihotline.orgเปิดเผยจำนวนรายการรับแจ้งสื่อลามกอนาจารเด็กเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี 2559 ได้รับแจ้งรวม 640 รายการ เพิ่มเป็น 1,400 รายการในปี 2560 พร้อมระบุได้รับแจ้งกรณีการติดต่อสื่อสารเรื่อง ทางเพศ (sexting) การถ่ายทอดสดออนไลน์การล่วงละเมิดทางเพศเด็กแบบเรียลไทม์ (live streaming) และการแบล็ก เมล์ทางเพศ (sextortion) เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จึงดำเนินการผลักดันให้มีกฎหมายปกป้องคุ้มครองเด็กออนไลน์ และจัดทาข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงานด้าน การคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์สำหรับผู้ปฏิบัติงาน
รองอธิบดีดย. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางและมาตรการแก้ปัญหา รวมถึงป้องกันนั้น รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว และในส่วนของกระทรวงพม. โดยดย. มี 2 ยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง คือการป้องกันและแก้ไขปัญหา การกระทำความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน และการป้องกันและการแก้ไขการปัญหาตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ซึ่งมีส่วนในการเกิดปัญหาการทอดทิ้งเด็ก ส่วนความรุนแรงจากสถิติที่เกิดขึ้นจะต้องเร่งแก้ไข ทั้งด้วยการรณรงค์สร้างการรับรู้ในคนในครอบครัว ชุมชน สังคมเข้าใจและเข้าใจถึงปัญหาเด็กและเยาวชนที่เกิดขึ้น อีกส่วนคือเด็กที่เขามีปัญหาแล้วจะมีการจัดระบบการดูแล สร้างการคุ้มครองสิทธิ ฟื้นฟูเยียวยา ให้เด็กกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ รวมถึงบูรณการเครือข่ายจากทั้งภาคประชาสังคม เอกชน ให้เข้ามามีส่วนป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้หากประชาชนพบ เห็นเด็ก และเยาวชน อยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศ สามารถโทรแจ้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง