พบเนื้อไก่-ตับไก่สด กว่า40% มียาปฏิชีวนะตกค้าง

ที่มา :  เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์


พบเนื้อไก่-ตับไก่สด กว่า40% มียาปฏิชีวนะตกค้าง thaihealth


แฟ้มภาพ


นิตยสารฉลาดซื้อเผยผลทดสอบ เนื้อไก่สดและตับไก่สดพบกว่า40% มีการตกค้างของยาปฏิชีวนะ นักวิชาการเตือนรับประทานบ่อยครั้งอาจทำให้เกิดการดื้อยาในคน


นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ร่วมมือกับเครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จัดงานแถลงข่าวผลทดสอบ "การตกค้างจากยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ในเนื้ออกไก่และตับไก่สด" โดยสุ่มเก็บตัวอย่างจากห้างสรรพสินค้า ตลาดสด และห้างออนไลน์ ระหว่างวันที่ 9 – 15 มิ.ย. 2561 จำนวนทั้งสิ้น 62 ตัวอย่าง แบ่งเป็นอกไก่สด จำนวน 32 ตัวอย่าง และตับไก่สด จำนวน 30 ตัวอย่าง เพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด จาก 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 กลุ่มฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolone Group) คือ เอนโรฟลอคซาซิน (Enrofloxacin) กลุ่มที่ 2 กลุ่มเตตราไซคลิน (Tetracycline Group) คือ ด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) กลุ่มที่ 3 กลุ่มเบต้า – แลคแทม (Beta – Lactam Groups) คือ อะม็อกซีซิลลิน(Amoxicillin)


ผลการตรวจวิเคราะห์การตกค้างของยาปฏิชีวนะทั้ง 3 ชนิด พบการตกค้างตกของยาปฏิชีวนะ 26 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 41.93 โดยพบ 5 ตัวอย่างตกมาตรฐานการใช้ยาปฏิชีวนะชนิดเอนโรฟลอคซาซิน เนื่องจากเป็นยาที่นอกเหนือบัญชีแนบท้ายประกาศ ซึ่งสามารถใช้ได้แต่ต้องไม่พบการตกค้างของยาดังกล่าว อีก 21 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนของยาด็อกซีไซคลิน แต่ไม่ตกมาตรฐาน และตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะชนิดอะม็อกซีซิลลิน ส่วนอีก 36 ตัวอย่างนั้น ตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะทั้ง 3 กลุ่ม


ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า ยาปฏิชีวนะที่ใช้ในสัตว์ มีอันตรายทั้งต่อมนุษย์และสัตว์ คือ การดื้อยา การแพ้ยา และอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ ส่วนอันตรายของยา Doxycyclin จะทำให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ เช่น อาจทำให้ฟันมีสีคล้ำ สามารถพบเห็นได้ในเด็กมากกว่าในผู้ใหญ่ มีอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร มีผื่นคันบริเวณผิวหนัง และอันตรายของยา Enrolfloxacin อาจทำให้เกิดอาการอาเจียนหรือท้องเสีย


ทั้งนี้ หากใช้ยาตัวนี้สูงกว่าขนาดที่แนะนำ 10 เท่า อาจทำให้กระดูกอ่อนตามข้อต่อต่างๆ เกิดความเสียหาย และอันตรายของยา Amoxycillin จะทำให้เกิดผื่นคัน ลมพิษ หรือมีอาการหอบหืด หากพบอาการหายใจมีเสียงหวีด (อาการของหอบหืด) หลังใช้ยา ควรต้องหยุดใช้ยาทันทีและรีบพบแพทย์หรือไปโรงพยาบาล


"ทุกวันนี้เรามีการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาโรค ทำให้เรามีโอกาสที่จะได้รับยาดังกล่าวอยู่แล้ว และหากเรารับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนบ่อยๆ ก็อาจทำเราได้รับยาปฏิชีวนะในปริมาณที่มากเกินไป ซึ่งการได้รับยาดังกล่าวงในปริมาณมากและบ่อยครั้งจะส่งผลให้เกิดอาการดื้อยา และจำเป็นต้องใช้เชื้อที่แรงขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายอาจไม่มีตัวยาใดมารักษาได้เลย"ผศ.ภญ.ดร.นิยดากล่าว


ทั้งนี้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง เพื่อใช้ควบคุมปริมาณการตกค้างของสารใดๆ ที่ถูกใช้กับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ ตามบัญชีแนบท้ายของประกาศฉบับนี้ ได้กำหนดให้พบปริมาณการตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit, MRL) ของยาในกลุ่ม Tetracycline (เตตราไซคลีน) ในสัตว์ปีก เช่น นก ไก่ ไก่งวง เป็ด ห่าน ไก่ต๊อก ในส่วนของกล้ามเนื้อ ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม และ ในส่วนของตับไม่เกิน 600 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม


ด้าน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหารนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากผลการตรวจวิเคราะห์พบยาเอนโรฟลอคซาซิน จำนวน 5 ตัวอย่าง ซึ่งไม่ได้เป็นรายการยาในบัญชีแนบท้ายประกาศ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้ใช้ยานี้ได้แต่ต้องไม่พบการตกค้างเลย โดยมีความผิดตามมาตรา 60 โทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ของ พรบ. อาหาร พ.ศ. 2522 ส่วนผลวิเคราะห์ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Tetracycline (เตตราไซคลีน) พบว่า ไม่มีตัวอย่างใดที่พบปริมาณเกินเกณฑ์มาตรฐานตามที่ อย. ประกาศกำหนด


          ทั้งนี้ นางสาวสารีมีข้อเสนอเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค 5 ข้อ ดังนี้


          1. ผู้บริโภคไม่ต้องการอาหารที่มีการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ เพราะการเกิดเชื้อดื้อยาเกิดได้ทั้งปริมาณการตกค้างทั้งน้อยและมาก


          2. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ต้องปรับปรุงมาตรฐานการตกค้างให้ยอมรับได้น้อยที่สุด


          3. กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องบังคับใช้แผนปฏิบัติการในการลดการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์ม


          4. สำนักงานงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมปศุสัตว์ จะต้องเข้มงวด และติดตามการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ให้ตกค้างเกินมาตรฐานที่กำหนด รวมถึงเปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบอย่างเป็นระบบ สม่ำเสมอ


          5. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการจัดการเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ และร้านค้าต่างๆ ควรตรวจสอบที่มาของอาหารก่อนนำเข้ามาจำหน่าย อีกทั้งในส่วนของร้านค้าในตลาด ทาง มพบ. จะทำหนังสือไปถึงสมาคมตลาดสดไทยเพื่อให้ตรวจสอบและเฝ้าระวังด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code